เอเอฟพี - บัน คี-มูน เลขาธิการสหประชาชาติ วิพากษ์วิจารณ์ถึง “องค์ประกอบรุนแรง” ในพม่าที่กำลังเผยแพร่ถ้อยคำสร้างความเกลียดชัง และความคลั่งศาสนาต่อต้านชนกลุ่มน้อยทางศาสนา ก่อนการลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งครั้งสำคัญของประเทศ
พม่ากำลังมุ่งไปสู่การเลือกตั้งในวันอาทิตย์ (8) ในสิ่งที่ผู้สังเกตการณ์ต่างหวังให้เป็นการเลือกตั้งที่เป็นธรรมที่สุดในรอบหลายทศวรรษของประเทศ หลังหลุดพ้นจากการปกครองของรัฐบาลเผด็จการทหารที่ยาวนานเกือบครึ่งศตวรรษ
แต่การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นมาพร้อมกับกระแสความรู้สึกต่อต้านชาวมุสลิมที่กำลังขยายตัวด้วยความเคลื่อนไหวของกลุ่มพระสงฆ์ชาตินิยมหัวรุนแรงเป็นหัวหอก
ในคำแถลงที่ออกโดยสำนักงานของบัน คี-มูน ระบุว่า เขามีความรู้สึกวิตกกังวลเป็นอย่างมากต่อการใช้ถ้อยคำสร้างความเกลียดชังที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยั่วยุให้เกิดความเกลียดชังระหว่างชุมชน และละเมิดสิทธิทางศาสนาเพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมืองในหมู่ชุมชนคนส่วนใหญ่ในพม่าโดยองค์ประกอบรุนแรง
บัน ยังเรียกร้องให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งปฏิเสธนักการเมืองที่ดำเนินนโยบายเลือกปฏิบัติเมื่อพวกเขาเข้าคูหาเลือกตั้ง
“เขาเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในพม่าละเว้นจากการกดดัน ข่มขู่ การแพร่กระจายความเกลียดชัง หรือความรุนแรงในทุกรูปแบบต่อบุคคล หรือองค์กรต่างๆ บนพื้นฐานของชาติพันธุ์ เพศสภาพ ศาสนา หรือความคิดเห็นทางการเมือง” คำแถลงระบุ โดยเลขาธิการสหประชาชาติไม่ได้ระบุถึงชื่อบุคคล หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งในความคิดเห็นนี้
แต่อย่างไรก็ตาม บัน คี-มูน ยังได้วิพากษ์วิจารณ์ถึง “คำพูดหยาบคาย” ต่อยางฮี ลี ผู้แทนพิเศษสหประชาชาติด้านสิทธิมนุษยชนในพม่า
ในระหว่างการเยือนพม่าเมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ยางฮี ลี ถูกพระวิระธูกล่าวโจมตีว่าเป็นโสเภณี เนื่องจากลีได้กล่าววิจารณ์ถึงการกดขี่ข่มเหง และการสร้างความรู้สึกเกลียดชังระหว่างศาสนาต่อชนกลุ่มน้อยของพม่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อชาวมุสลิม แต่ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าคำแถลงของบัน คี-มูน อ้างถึงเหตุการณ์ใดเป็นการเฉพาะหรือไม่
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ความเคลื่อนไหวชาตินิยมชาวพุทธได้ขยายตัวขึ้น และเทน้ำหนักการสนับสนุนเบื้องหลังไปยังพรรค USDP ของรัฐบาล
กลุ่มมะบะธา และพระวิระธู เป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดีในหมู่คนกลุ่มนี้ ที่ให้การสนับสนุนความรู้สึกต่อต้านชาวมุสลิม
แนวคิดหลักของกลุ่มคือ ความเชื่อที่ว่าชาวพุทธของพม่ากำลังถูกโจมตีจากชาวมุสลิม และชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์อื่นๆ แม้ประเทศจะเป็นที่อยู่อาศัยของชนกลุ่มน้อย และชาวมุสลิมมาหลายชั่วอายุคนแล้วก็ตาม
ผู้คนจำนวนมากที่ส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมเสียชีวิตจากเหตุความรุนแรงทางศาสนาในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
พรรค USDP วางตัวอยู่ในแนวเดียวกับความคิดอนุรักษนิยมดังกล่าว และเห็นชอบผ่านชุดกฎหมายเกี่ยวกับเชื้อชาติและศาสนาเมื่อต้นปี เป็นผลให้ผู้ที่มีแนวคิดชาตินิยมชาวพุทธมีจุดยืนชัดเจนว่า รัฐบาลในปัจจุบันเป็นตัวเลือกที่พวกเขาชื่นชอบ.