xs
xsm
sm
md
lg

รัฐมนตรีลาวยันรถไฟจีน-เวียงจันทน์เข้าไทยไม่มีมวยล้ม เชื่อมั่นลงหมุดได้ปลายปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<FONT color=#000033>นายหลิวจื้อจุ้น รัฐมนตรีกระทรวงรถไฟจากกรุงปักกิ่ง กับนายสมมาด พนเสนา รมว.กระทรวงโยธาธิการและขนส่ง พบเจรจากันในเดือน ธ.ค.2553. เจรจาเสร็จปุ๊บประกาศการก่อสร้างปั๊บ แต่แล้วปัญหาอุปสรรคต่างก็ประดังประเดเข้ามา โครงการหยุดชะงักไปครั้งแล้วครั้งเล่า แทบจะเลิกล้มไป แต่ในที่สุดก็ฟื้นได้สำเร็จ รัฐมนตรีคนปัจจุบันของลาวเชื่อว่า จะลงมือสร้างได้ภายในสิ้นปีนี้. -- ภาพแฟ้มสำนักข่าวสารปะเทดลาว. </b>

ASTVผู้จัดการออนไลน์ - การก่อสร้างทางรถไฟ 417 กิโลเมตร จากด่านบ่อแตน แขวงหลวงน้ำทา ติดชายแดนจีน ไปยังนครเวียงจันทน์ คาดว่าจะเริ่มได้ภายในสิ้นปีนี้ หลังจากรัฐบาลลาวได้อนุมัติโครงการทั้งหมดระหว่างการประชุมแบบเปิดกว้างสัปดาห์ที่ผ่านมา รวมทั้งเงินงบประมาณ 840 ล้านดอลลาร์ ที่ฝ่ายลาวจะต้องจ่ายสมทบในการร่วมทุน สำนักข่าวของทางการลาวรายงานสัปดาห์นี้

นายบุญจัน สินทะวง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง เปิดเผยเมื่อวันที่ 25 ก.ย.ว่า การประชุมเปิดกว้างประจำปี 2557-2558 ได้อนุมัติทั้งรูปแบบ โครงสร้างการลงทุน รวมทั้งนโยบายสนับสนุนโครงการ ตลอดจนผลการสำรวจเส้นทาง และขอบเขตของสถานีแห่งต่างๆ ของโครงการ ที่ประมาณการล่าสุดมีมูลค่าราว 6,800 ล้านดอลลาร์ สำนักข่าวสารปะเทดลาวรายงาน

ความเคลื่อนไหวนี้นับเป็นความคืบหน้าสูงสุด ตั้งแต่ นายหลิวจื้อจุ้น (Liu Zhijun) รัฐมนตรีกระทรวงรถไฟจีน นำคณะจากกรุงปักกิ่ง ไปเยือนลาวในดือน ต.ค.2553 และหารือกับ นายสมมาด พนเสนา รัฐมนตรีกระทรวงการโยธาและขนส่งของลาว ครั้งนั้นสองฝ่ายคาดว่า จะใช้เวลาดำเนินการใน 4 ปี และเปิดใช้บริการได้ในปลายปี 2557 คือ ปลายปีที่แล้ว

แต่แล้วโครงการสะดุดหยุดกึกลง เมื่อต่อมาไม่นานจีนคอมมิวนิสต์ได้จับกุม นายหลิว ฐานคอร์รัปชันในโครงการก่อสร้าวเส้นทางรถไฟในประเทศ และถึงแม้ว่าลาว และจีนจะมีความพยายามเดินหน้าโครงการมาเป็นระยะๆ ก็ประสบปัญหามาเป็นระยะเช่นกัน รวมทั้งประเด็นที่ฝ่ายจีนยื่นเงื่อนไขขอกรรมสิทธิ์เหนือที่ดินตลอดสองข้างทางรถไฟสายนี้ ไปใช้ทำประโยชน์เป็นเวลาถึง 90 ปี ซึ่งลาวไม่มีกฎหมายรองรับ

โครงการเกือบจะเดินหน้าต่อไปไม่ได้ เมื่อรัฐบาลไทยที่ผ่านมาได้ล้มเลิกแผนการสร้างทางรถไฟความเร็วสูงไปเชื่อมกับฝ่ายลาวที่ชายแดน จ.หนองคาย ซึ่งทำให้ความสนใจของจีนลดลงไปมาก เนื่องจากจีนมีความประสงค์จะใช้ททางรถไฟสายนี้ขนส่งสินค้าออกสู่ทะเลอ่าวไทยที่ท่าเรือแหลมฉบัง

ดร.บุนจัน กล่าวว่า ทางรถไฟที่เริ่มจากมณฆลหยุนหนันของจี จะทะลุเข้าลาว ไทย ไปจนถึงมาเลเซีย กับสิงคโปร์ ทำให้ลาวมีทางออกทะเลเพิ่มขึ้น และเป็นไปตามนโยบายทำให้ลาวเป็นดินแดนเชื่อมต่อการคมนาคมขนส่งในอนุภูมิภาค เป็นโครงการลงทุนที่มีประสิทธิผลสูงทางด้านเศรษฐกิจ-สังคม รัฐบาลทั้งสองประเทศเห็นพ้องกันใช้รูปแบบการร่วมลงทุนก่อสร้าง โดยจัดตั้งบริษัทร่วมทุนลาว-จีน เป็นผู้ก่อสร้างและบริหาร

ทั้งสองฝ่ายจะร่วมประกอบการลงทุนรวม 40% ของมูลค่าโครงการ ส่วนที่เหลืออีก 60% บริษัทร่วมทุนจะกู้ยืมจากสถาบันการเงินต่างๆ ทั้งนี้ยังไม่ทราบในรายละเอียดว่า ฝ่ายลาวจะใช้การประเมินค่าทรัพย์สินส่วนใด หรือรูปแบบใดเข้าในการลงทุนส่วน 40% ในส่วนของตนที่เหลือจาก 840 ล้านดอลลาร์

ตามตัวเลขในโครงการที่ได้รับอนุมัติเป็นความตกลงล่าสุด ระหว่างลาวกับจีน รถไฟสายนี้จะใช้รางกว้าง 1.435 เมตร เป็นทางรถเส้นทาง (ราง) เดี่ยว ใช้ควบคู่กันระหว่างขบวนรถโดยสารที่แล่นด้วยความเร็ว 160 กม./ชม กับขบวนขนส่งสินค้าความเร็ว 120 กม./ชม. มีสถานีแห่งต่างๆ รวม 31 สถานี ประกอบด้วย สถานีใหญ่ 5 แห่ง คือ บ้านนาเตยต้นทาง เมือง (อำเภอ) ไซ แขวงหลวงน้ำทา หลวงพระบาง วังเวียง และนครเวียงจันทน์

ตลอดเส้นทางกำลังจะมีการก่อสร้างอุโมงค์รวม 76 แห่ง สะพานรถไฟ 154 แห่ง ขปล.กล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น