สื่อจีนเผยเมื่อเมื่อเดือนที่แล้ว โครงการเส้นทางรถไฟจากเมืองท่าจอก์พยูในพม่าไปยังคุนหมิง เมืองเอกของมณฑลอวิ๋นหนัน หรือยูนนานของจีน มีอันล้มเลิกไปแล้ว ด้วยสาเหตุหลายประการ จากรายงานข่าวสื่อภายในประเทศระบุตามสัญญาเดิมโครงการเส้นทางรถไฟสายสายยุทธศาสตร์จีน-พม่านี้ จะเริ่มการก่อสร้างภายในเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา
ด้านสื่อท้องถิ่น อีเลเว่นเมียนม่าร์ (elevenmyanmar) อ้างคำกล่าว มิ้น วาย ( Myint Wai) ผู้อำนวยการกระทรวงรถไฟ เผยเมื่อวันศุกร์(18 ก.ค.) ว่า โครงการเส้นทางรถไฟจอก์พยู-คุนหมิง ถูกยกเลิกไป เนื่องจากฝ่ายจีนไม่เริ่มการก่อสร้างตามที่ระบุไว้ในข้อตกลงบันทึกช่วยจำ หรือ เอ็มโอยู (MOU) ที่ลงนามเมื่อเดือนเม.ย.2554 นอกจากนี้ยังเผชิญอุปสรรคจากแรงต่อต้านภายในท้องถิ่นและองค์กรรณรงค์พลเรือน
สำหรับ “เส้นทางรถไฟจอก์พยู-คุนหมิง จัดเป็นเส้นทางรถไฟยุทธศาสตร์ ที่จะเป็นผลประโยชน์แก่จีน โดยจอก์พยูจะเป็นประตูสู่อาเซียน อีกทั้งเป็นทางออกสู่มหาสมุทร เป็นเส้นทางการค้าที่มีระยะทางสั้นที่สุดระหว่างอินเดียและจีน” Kyaw Oo ผู้ช่วยหัวหน้าทีมวิศวกรการท่าเรือพม่า กล่าว
จอก์พยู เป็นเมืองท่าในรัฐยะไข่บนชายฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของพม่า การเดินเรือขนส่งสินค้ามายังท่าเรือจอก์พยู จะช่วยย่นระยะทางการเดินเรือถึง 5,000 กิโลเมตร เมื่อเทียบกับการเดินทางสินค้าผ่านทางช่องแคบมะละกา นอกจากนี้ จอก์พยูยังอยู่ใกล้กับบ่อก๊าซฉ่วยนอกชายฝั่งในอ่าวเบงกอล ซึ่งเป็นโครงการก๊าซที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก๊าซจากบ่อฉ่วยนี้ สามารถขนส่งผ่านท่อขนส่งก๊าซ ตัดผ่านเมืองมัณฑะเลย์ ลาเฉียว และมูเสะ ก่อนเข้าจีนที่ด่านชายแดนเมืองรุ่ยลี่ในมณฑลอวิ๋นหนัน
นอกจากนี้ เมื่อโครงการแล้วเสร็จ มัณฑะเลย์และจอก์พยูก็จะสร้างโกดังสินค้าและตลาดมากมาย นอกจากนี้จีนยังมีแผนลงทุนเปิดเขตพัฒนาในจอก์พยูในอนาคต
ด้วยผลประโยชน์ใหญ่ที่เห็นๆนี้ ในปี 2554 ไชน่า เรลเวย์ เอนจิเนียริ่ง บริษัทก่อสร้างเส้นทางรถไฟรายใหญ่ของรัฐบาลจีน และกระทรวงรถไฟแห่งเมียนมาร์ ได้ลงนามร่วมในบันทึกช่วยจำ (MOU) ก่อสร้างทางรถไฟขนส่งผู้โดยสารและสินค้า ความยาว 868 กิโลเมตร เชื่อมระหว่างเมืองจอก์พยูและเมืองคุนหมิง กำหนดแล้วเสร็จในปี 2558 โดยจีนเป็นผู้ออกทุนทั้งหมด 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ พร้อมได้สิทธิสัมปทานดำเนินการและจัดการเส้นทาง 50 ปี หลังจากนั้นจึงจะโอนคืนให้แก่รัฐบาลพม่า
โครงการเส้นทางรถไฟจอก์พยู-คุนหมิงนี้ ถูกกำหนดขึ้นอย่างสอดคล้องกับยุทธศาสตร์จีน ทางรถไฟจะผ่านรัฐยะไข่ เขตมาเกว (Magway) เขตมัณฑะเลย์ และรัฐฉาน
ในขณะนั้น จีนและพม่ายังได้เจรจาการก่อสร้างทางหลวงจากเมืองชายแดนรุ่ยลี่ในจีน เข้าสู่เมืองมัณฑะเลย์ ไปยังจอก์พยู ความยาวถนนอยู่ที่ระหว่าง 794 และ 900 กิโลเมตร ทั้งนี้จากการเปิดเผยของ ฮัน โซ (Han Soe) รองผู้จัดการทั่วไปของแผนกงานสาธารณูปโภค กระทรวงการก่อสร้างพม่า
ญี่ปุ่นดอดขัดขา
ในปลายเดือนมี.ค.ปีนี้ ญี่ปุ่นประกาศให้เงินช่วยเหลือแบบให้เปล่าแก่พม่า 472 ล้านหยวน สำหรับช่วยเหลือการซ่อมแซมรถไฟและสาธารณูปโภคอื่นๆ ขณะนั้นรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศญี่ปุ่น ฟูมิโอะ คิชิดะ กำลังเยือนพม่า และได้กล่าวว่า “พม่าเป็นเส้นทางเชื่อมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ จึงเป็นประเทศยุทธศาสตร์สำคัญ และในประวัติศาสตร์พม่าก็มีความใกล้ชิดกับญี่ปุ่น ดังนั้น การกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสองชาติจึงมีความหมายมาก”
สื่อจีนระบุคำพูดของรัฐมนตรีญี่ปุ่นเป็นการคานอำนาจกับจีน และอาจมองเป็นทางเลือกในการเปลี่ยนแปลงเส้นทางในทะเลตะวันออกและทะเลจีนใต้ ญี่ปุ่นและกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังจับมือกันสร้างหลักประกันเส้นทางเดินเรือและเส้นทางอากาศ สื่อแดนปลาดิบยังชี้ว่าผู้นำญี่ปุ่นคาดหวังเดินเกมนี้ในช่วงที่พม่าเป็นประธานกลุ่มอาเซียนในปีนี้(2557) นอกจากนี้กลุ่มวิเคราะห์บางกลุ่มชี้ว่า เบื้องหลังการยกเลิกโครงการเส้นทางรถไฟในพม่าของจีน มีสาเหตุส่วนหนึ่งอาจมาจากเกมดุลอำนาจของผู้นำญี่ปุ่น
ชาติแรกที่รองนายกรัฐมนตรีแห่งญี่ปุ่น นาย ทาโร อาโซะ เดินทางเยือนเป็นรายแรกหลังเพิ่งเข้ารับตำแหน่งมานานในต้นปี 2556 คือ พม่า ขณะเยือนพม่า อาโซะก็ได้กล่าวย้ำรัฐบาลยุ่นสนับสนุนเต็มที่ในการปฏิรูปเศรษฐกิจและประชาธิปไตยพม่า พร้อมกับได้มอบจดหมายที่เขียนด้วยลายมือเขียนของนายกรัฐมนตรีชินโซ อะเบะ นอกจากนี้อาโซะยังโปรยยาหอมโดยกล่าวว่าญี่ปุ่นจะยกหนี้สิน ราว 300,000 ล้านเยน ในบัญชีหนี้สิน 500,000 ล้านเยน ที่พม่าค้างชำระแก่จีน
ต่อมาในวันที่ 24 พ.ค.ที่ผ่านมา รัฐมนตรีกระทรวงขนส่งทางรถไฟพม่า นาย อู ตัน เถ่ (U Than Htay) กล่าวกับสื่อว่า โครงการก่อสร้างทางรถไฟจอก์พยู-คุนหมิง จะไม่เกิดขึ้นหากไม่ได้รับการเห็นชอบจากประชาชน
เครือข่ายทางรถไฟทรานส์เอเชียจะพลอยติดหล่ม
ในปี 2538 นายกรัฐมนตรีมหาเธร์เสนอความคิดการสร้างเส้นทางรถไฟทรานส์เอเชียเช่นเดียวกับเส้นทางรถไฟยุโรป เพื่อที่จะเชื่อมโยงประเทศเอเชีย ได้แก่ จีน พม่า เวียดนาม ลาว ไทย กัมพูชา มาเลเซีย และสิงคโปร์ จากนั้นมาก็มีการถกเถียงถึงแผนการก่อสร้างเส้นทางรถไฟทั้งในมาเลเซีย เวียดนาม ไทย ลาว เป็นต้น
กระทั่งในวันที่ 7 พ.ค.ปีนี้ นาย หวัง เมิ่งนู่ แห่งสำนักงานวิศวกรรมจีน กล่าวถึงการเริ่มงานก่อสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงสายเอเชียในเดือนมิ.ย.(2557)นี้ จากเขตเทือกเขาด้านตะวันตกในมณฑลอวิ๋นหนันไปยังพม่า ความยาว ประมาณ 30 กิโลเมตร และจากพม่าไปทางตะวันออกบุกเบิกเส้นทางที่จะเข้าสู่ไทย นอกจากนี้การก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูงอีกเส้นหนึ่งจากประเทศลาว เวียดนาม ลงไปยังมาเลเซียทะลุถึงสิงคโปร์ และหากเส้นทางรถไฟความเร็วสูง “กรุงเทพฯ-ด่านเจดีย์สามองค์-ย่างกุ้ง-ลาเฉียว-ลุ่ยลี่-คุนหมิง” แล้วเสร็จ ก็จะกลายเป็นเส้นทางระหว่างประเทศเชื่อมจีนเข้ากับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ด้วย
ในปี 2553 ก็มีการเปิดตัวโครงการเส้นทางรถไฟจอก์พยู-คุนหมิง โดยทางรถไฟจะเริ่มจากท่าเรือน้ำลึกในจอก์พยูตรงข้ามมหาสมุทรอินเดีย ไปยังตอนกลางของภาคเหนือพม่า ไปถึงเมืองชายแดนรุ่ยลี่ในอวิ๋นหนัน แม้จะเป็นโครงการเล็ก แต่ก็สร้างผลประโยชน์มากกมายแก่จีน จนกระทั่งมีการเซ็นเอ็มโอยูในเดือนเม.ย. 2554 ในสัญญาระบุงานก่อสร้างจะต้องเริ่มเดินหน้าภายในสามปีหลังวันเซ็นสัญญาฯนี้ โดยโครงการจะแล้วเสร็จในปี 2558
พม่าเมินจีน
ในเดือนก.ย. 2554 รัฐบาลพม่า สร้างความประหลาดใจแก่ประชาคมโลก โดยประกาศล้มอภิมหาโครงการเขื่อนมี๊ตโสน (Myitsone) มูลค่า 3,600 ล้านดอลลาร์ โดยบริษัท China Power Investment Corporation ได้เริ่มก่อสร้างในปี 2553 และมีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2560 โครงการนี้ถูกต่อต้านอย่างหนัก และทำให้เกิดความไม่ลงรอยในรัฐบาลเองด้วย นอกจากนี้ โครงการเขื่อนมี๊ตโสน ยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งนี้ โครงการเขื่อนมี๊ตโสน กั้นลำน้ำสาขาต้นแม่น้ำอิรวดีในรัฐกะฉิ่น หากแล้วเสร็จก็จะเป็นเขื่อนใหญ่ที่สุดของประเทศพม่า มีอ่างเก็บคลุมพื้นที่ราว 677 ตร.กม. หรือ ขนาดเท่าๆ เกาะแมนฮัตตัน รัฐนิวยอร์ก
นอกจากนี้ โครงการร่วมทุนระหว่างบริษัทจีน-พม่า ได้แก่เหมืองทองแดง Latpadantaung ณ เมืองโมนีวา (Monywa) แห่งภาคสะกาย (Sagaing) ในพม่า การร่วมทุนขุดเหมืองทองแดงแห่งนี้ จัดเป็นอภิมหาโครงการร่วมทุนระหว่างบริษัทวั่นเป่าของจีน กับบริษัทเมียนมาร์ อีโคโนมิค โฮลดิ้ง (Myanmar Economics Holding) ที่มีกองทัพพม่าเป็นเจ้าของ มีการลงเม็ดเงินไปกว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในต้นปี 2556 ก็ต้องสะดุดตอ เนื่องจากกระแสต่อต้านอย่างหนักในท้องถิ่น ประชาชนออกมาประท้วงเกี่ยวกับประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนและปัญหาสิ่งแวดล้อมร่วมปีนับจากกลางปี 2555