ASTVผู้จัดการออนไลน์ - บริษัทาเลส (Thales) ประกาศในวันพุธ 16 ก.ย.ว่า ได้เซ็นสัญญากับบริษัทดาตาเกต (DataGate) ในประเทศไทย เพื่อจำหน่ายระบบจรวดต่อสู้อากาศยาน “สตาร์สตรีค” (STARStreak) อันมีชื่อเสียงให้แก่ฝ่ายไทย ซึ่งเป็นการจัดหาต่อเนื่องของกองทัพไทย หลังจากซื้อล็อตแรกเมื่อปี 2555
ระบบป้องกันทางอากาศดังกล่าว ประกอบด้วย จรวดต่อสู้อากาศยานระยะใกล้มากที่เร็วที่สุดในโลก (Very Short Range Air Defence -- VSHORAD) กับระบบยิงน้ำหนักเบา หรือ Lightweight Multiple Launcher ที่ตั้งบนแท่นแบบสามขา สามารถยิงทำลาย หรือหยุดยั้งการโจมตีในระยะต่ำจากอากาศยาน รวมทั้งเฮลิคอปเตอร์ และยานไร้คนบังคับอย่างมีประสิทธิภาพ
ตามข้อมูลที่ทราบกันทั่วไปนั้น กองทัพบกไทยซื้อระบบสตาร์สตรีคล็อตแรก ประกอบด้วยแท่นยิง 8 แท่น แต่ยังไม่ทราบจำนวนจัดซื้อล็อตใหม่ และไม่มีการกล่าวถึงมูลค่า คำแถลงฉบับหนึ่งของทาเลส ที่ออกในงานนิทรรศการอุปกรณ์ก้านกลาโหมและความมั่นคงระหว่างประเทศ (Defence and Security Equipment International) ในกรุงลอนดอน ระบุแต่เพียงว่าเป็นข้อตกลง “หลายล้านปอนด์”
กลุ่มทาเลสออกแถลงเรื่องนี้เพียง 1 วัน หลังการเซ็นสัญญาซื้อขายระบบสตาร์สตรีค กับบริษัทโกลบอลโคมิเต็ด (Global Komited) ในมาเลเซีย ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มเวสตาร์ (Westar Group) ในงาน DSEI เช่นกัน และรัฐมนตรีกลาโหมอังกฤษ ฟิลิปส์ ดันน์ กับ รมว.กลาโหมมาเลเซีย ฮิชามมุดิน ฮุสเซน ร่วมกันลงนามเป็นสักขีพยาน
ทาเลสระบุในคำแถลงว่า สัญญาซื้อขายกับมาเลเซียมีมูลค่ากว่า 100 ล้านปอนด์ หรือ 154.3 ล้านดอลลาร์ รวมทั้งระบบจรวดสตาร์สตรีค ระบบเรดาร์ควบคุม ControlMaster 200 กับเครื่องยิง รวมทั้งอุปกรณ์ด้านโทรคมนาคม ซึ่งได้ทำให้มาเลเซียเป็นประเทศที่ 3 ในอาเซียนที่มีระบบนี้ใช้งาน ถัดจากอินโดนีเซีย และไทย
ทางการมาเลเซีย กล่าวถึงการซื้อระบบจรวดต่อสู้อากาศยานของอังกฤษ ตั้งแต่ปลายเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา เมื่อนายเดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ เดินทางเยือนมาเลเซียเป็นเวลา 12 ชั่วโมง ซึ่งมีการหารือกันเกี่ยวกับ “การเป็นหุ้นส่วนระยะยาว” ระหว่างสองฝ่าย
กองทัพบกอังกฤษนำเข้าประจำการระบบจรวดต่อสู้อากาศยานรุ่นนี้มาตั้งแต่ปี 2540 และในปี 2555 บริษัททาเลส ได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็นระบบ “ฟอร์ซชีลด์” (ForceShield) ที่ประกอบด้วย 3 ส่วนดังกล่าว
ในปี 2555 ระหว่างการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในกรุงลอนดอน กระทรวงกลาโหมได้นำระบบสตาร์สตรีคไปติดตั้งตามอาคารสูงในเมืองหลวง ป้องกันการโจมตีของกลุ่มก่อการร้ายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ และในปีถัดมา กระทรวงกลาโหมได้ซื้อจรวดสตาร์สตรีคเพิ่มอีกจำนวน 200 ลูก
ตามข้อมูลของบริษัทผู้ผลิต จรวดสตาร์สตรีคทำในกรุงเบลฟาสต์ ไอร์แลนด์เหนือ ส่วนระบบเรดาร์ควบคุมผลิตโดยทาเลสฝรั่งเศส และระบบแท่นยิงผลิตในอังกฤษ.