xs
xsm
sm
md
lg

รบ.มาเลเซียรีบแจงหลัง ‘อัลญะซีเราะห์’ขุดคุ้ยกรณีฆ่าโหดหญิงมองโกเลียที่มีสัมพันธ์ชิดเชื้อชนชั้นนำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Malaysia responds to probe into death of woman with elite ties
11/09/2015

รายการ “101 อีสต์” ของ อัล ญะซีเราะห์ เครือข่ายทีวีชื่อดังของกาตาร์ จัดทำรายงานข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนคดีสังหารโหด อัลตันตุยา ชารีบู สาวชาวมองโกเลียที่มีความสัมพันธ์สนิทชิดเชื้อกับ อับดุล ราซัค บากินดา ผู้ช่วยคนสนิทของ นาจิบ ราซิค เมื่อปี 2006 โดยในเวลานั้น นาจิบดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกลาโหม และ บากินดา ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่เจรจาเพื่อซื้อเรือดำน้ำจากฝรั่งเศส

สำนักงานของนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย นาจิบ ราซัค ออกคำชี้แจงอย่างเป็นทางการ ต่อรายงานข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนของ “อัล ญะซีเราะห์” (Al Jazeera) ซึ่งมุ่งเจาะลึกคดีการสังหารโหด อัลตันตุยา ซารีบู (Altantuya Shaariibuu) สาวชาวมองโกเลียผู้ผันตัวเองมาเป็นนักแปล โดยที่มีการกล่าวหากันว่าเธอมีสายสัมพันธ์สนิทใกล้ชิดกับชนชั้นนำของมาเลเซีย [1]

“101 อีสต์” (101 East) รายการเกี่ยวกับเหตุการณ์ปัจจุบันในเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งมีชื่อเสียงได้รับรางวัลเป็นประกันมาแล้วของเครือข่ายอัล ญะซีเราะห์ เมื่อเร็วๆ นี้ ได้จัดทำรายงานเจาะลึกละเอียดกรณีการฆาตกรรมอัลตันตุยา ซึ่งถูกคนร้ายจับตัวไปยิงสังหารตั้งแต่เดือนตุลาคม 2006 แล้วศพของเธอยังถูกทำลายด้วยวัตถุระเบิดความแรงสูงระดับที่ใช้ในกิจการทางทหาร

คดีอาชญากรรมสะเทือนขวัญคดีนี้เป็นที่สนอกสนใจมาอย่างยาวนานของสื่อมวลชนทั้งในระดับท้องถิ่นและในระดับระหว่างประเทศ เรื่องราวเบื้องลึกของกรณีการฆาตกรรม อัลตันตุยา ยังคงถูกซ่อนเร้นเป็นปริศนาลี้ลับทั้งๆ ที่กาลเวลาผันผ่านไปเกือบๆ 9 ปี จึงยิ่งกลายเป็นเชื้อเพลิงทำให้เกิดความสงสัยข้องใจกันว่า น่าจะมีความพยายามที่จะอำพรางปกปิดข้อเท็จจริงสำคัญๆ ของคดีนี้

ทั้งนี้มีเสียงพูดกันว่า ใครบางคนซึ่งทรงความสำคัญมาก เชื่อว่าเธอเกิดไปทราบเรื่องราวการแอบจ่ายเงินทุจริตคอร์รัปชั่นให้แก่พวกเจ้าหน้าที่รัฐบาลมาเลเซีย ซึ่งเกี่ยวข้องกับการทำข้อตกลงซื้อขายเรือดำน้ำระหว่างแดนเสือเหลืองกับต่างประเทศ

มีการกล่าวหากันว่า อัลตันตุยา ได้รับการแนะนำจาก นาจิบ นาซัค ซึ่งในเวลานั้นเป็นรองนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ให้รู้จักกับ อับดุล ราซัค บากินดา (Abdul Razak Baginda) [2] นักวิเคราะห์ด้านกลาโหมจาก หน่วยงานคลังสมองนาม “ศูนย์วิจัยทางยุทธศาสตร์แห่งมาเลเซีย” (Malaysian Strategic Research Centre) ณ การประชุมระหว่างประเทศว่าด้วยเพชรงานหนึ่งในฮ่องกง เธอถูกระบุว่ามีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับ อับดุล ราซัค บากินดา ขณะร่วมเดินทางกับเขาไปยังกรุงปารีส โดยทำหน้าที่เป็นนักแปลผู้หนึ่งในทีมงานของเขา ระหว่างที่เขาดำเนินการติดต่อเจรจาเพื่อซื้อเรือดำน้ำ “สกอร์ปีน” (Scorpène) จากฝรั่งเศสให้แก่รัฐบาลมาเลเซีย

คดีนี้ยังคงเป็นเรื่องอ่อนไหวมากแม้กระทั่งในทุกวันนี้ ดังเห็นได้จากการที่ แมรี แอนน์ โจลลีย์ (Mary Ann Jolley) ผู้สื่อข่าวซึ่งทำรายงานชิ้นนี้ให้แก่รายการ “101 อีสต์” ได้ถูกสั่งเนรเทศออกไปจากมาเลเซีย ระหว่างที่เธอพยายามทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนเกี่ยวกับเรื่องนี้

มีเจ้าหน้าที่ 2 คนจากหน่วยงานอารักขาผู้นำของรัฐบาลมาเลเซีย ถูกศาลสูงของแดนเสือเหลืองตัดสินว่ามีความผิดฐานฆาตกรรม อัลตันตุยา และให้ถูกลงโทษประหารชีวิต โดยที่ 1 ใน 2 คนนี้ออกมายืนยันว่าเขาตกเป็นแพะรับบาปและสิ่งที่เขากระทำไปนั้นก็เนื่องจากได้รับคำสั่งจากผู้อื่น

ในรายงานเจาะลึกของ “101 อีสต์” ได้ขุดคุ้ยว่า จำเลยที่เป็นอดีตเจ้าหน้าที่หน่วยอารักขาผู้นำผู้นี้ซึ่งชื่อ ซิรุล อัซฮาร์ อุมาร์ (Sirul Azhar Umar) ได้หลบหนีออกจากมาเลเซียก่อนที่ศาลสูงจะอ่านคำพิพากษาตัดสิน และเวลานี้กำลังถูกควบคุมตัวอยู่ในออสเตรเลีย ทั้งนี้เขากำลังพยายามที่จะเจรจาต่อรองกับบุคคลลึกลับปริศนาบางคนในมาเลเซีย ด้วยความหวังว่าจะสามารถนำเอาความลับที่เขาทราบมาต่อรองเพื่อให้เขาได้ใช้ชีวิตใหม่อยู่ในออสเตรเลีย

ในคำชี้แจงที่ส่งไปถึง อัล ญะซีเราะห์ โดยระบุว่าเป็นการแถลงชี้แจงของโฆษกรัฐบาลมาเลเซียผู้หนึ่ง โฆษกผู้นี้ระบุยืนยันว่า นาจิบ ราซัค ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีของแดนเสือเหลืองนั้น ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับสาวมองโกเลียผู้เสียชีวิตไปแล้วผู้นี้

ขณะที่จำเลย 2 คนซึ่งถูกศาลสูงตัดสินว่ากระทำความผิดฐานฆาตกรรม ก็ไม่ได้เป็นองครักษ์ประจำตัวของนาจิบ คำแถลงชี้แจงบอก พร้อมกับกล่าวด้วยว่า ข้อกล่าวหาที่พาดพิงถึงนายกรัฐมนตรีผู้นี้ เป็นการมุ่งชักนำให้เกิดความเข้าใจผิดโดยเจตนา และถูกใช้เพื่อเติมสีสันเพิ่มน้ำหนักให้แก่ทฤษฎีสมคบคิดที่ไม่มีมูล

“พวกเขา (จำเลย 2 คนที่ถูกศาลสูงตัดสินว่ากระทำฆาตกรรม) เป็นสมาชิกของหน่วยงานซึ่งสังกัดสำนักงานตำรวจมาเลเซีย (Royal Malaysian Police) ที่ทำหน้าที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนรักษาความปลอดภัยให้แก่เหล่าเจ้าหน้าที่รัฐบาลและผู้มีเกียรติซึ่งเดินทางมาเยือน ท่านนายกรัฐมนตรีไม่ได้รับรู้การกระทำต่างๆ ของบุคคลเหล่านี้แต่ละคน จวบจนกระทั่งพวกเขาถูกจับกุม” คำแถลงชี้แจงบอก

“ได้มีการดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมายอย่างครอบคลุม ... ผู้ที่กระทำความผิดได้ถูกตัดสินและถูกลงโทษแล้ว ไม่มีจุดใดเลยในระหว่างขั้นตอนทางกฎหมายเหล่านี้ ไม่ว่าขั้นตอนใดก็ตามที ซึ่งพัวพันเกี่ยวข้องถึงท่านนายกรัฐมนตรี แม้กระทั่งการพัวพันเกี่ยวข้องอย่างอ้อมๆ ด้วยเหตุนี้ ข้อกล่าวหาที่มุ่งประสงค์ร้ายเหล่านี้จึงยังเป็นการสบประมาทฝ่ายตุลาการของมาเลเซียอีกด้วย” คำชี้แจงระบุ

พวกปรปักษ์ทางการเมืองและพันธมิตรสื่อมวลชนของพวกเขาต่างพยายามอย่างไม่ลดละมาเป็นแรมปีแล้ว ที่จะนำเอาประเด็นเรื่องนี้มาใช้โจมตีเล่นงานนายกรัฐมนตรีราซัค ทว่าก็ไม่สามารถหาหลักฐานเกี่ยวกับการกระทำผิดใดๆ ได้เลย ข้อกล่าวหาเช่นนี้จึงเป็นเพียงการกุเรื่องขึ้นมาเพื่อใส่ร้ายป้ายสีกันทั้งสิ้น โดยมีแรงจูงใจเพื่อหวังฉกฉวยผลประโยชน์ทางการเมืองเท่านั้นเอง คำแถลงชี้แจงระบุ

หญิงที่เสียชีวิตไม่ได้เคยมีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับการจัดซื้อเรือดำน้ำให้แก่ราชนาวีมาเลเซียตามที่ถูกกล่าวหากัน การจัดซื้อดังกล่าวบังเกิดขึ้นโดยเป็นการเจรจากันโดยตรงระหว่างรัฐบาลมาเลเซียกับรัฐบาลฝรั่งเศส คำแถลงแจกแจง

สำหรับกรณีการสังหารโหดอัลตันตุยา เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2006 โดยในคืนนั้น หลังจาก “ได้รับคำสั่ง” ซีรุล และตำรวจคู่หูของเขาที่ชื่อ อาซีเลาะห์ ฮาดรี (Azilah Hadri) ได้บังคับให้ อัลตันตุยา เข้าไปนั่งในรถยนต์ จากนั้นก็ขับพาเธอไปยังป่าแห่งหนึ่งซึ่งอยู่ใกล้ๆ กรุงกัวลาลัมเปอร์ พวกเขายิงสตรีผู้นี้อย่างเหี้ยมเกรียมไร้ความปรานี ถึงแม้เธอคุกเข่าวิงวอนขอให้เห็นแก่ชีวิตของลูกที่ยังอยู่ในท้องของเธอ จากนั้นจึงจัดการระเบิดร่างของเธอโดยใช้วัตถุระเบิดแบบ ซี4 รวม 2 ชุด

(จาก อัลญะซีเราะห์)

หมายเหตุผู้แปล
[1] อัลตันตุยา ซารีบู เกิดเมื่อปี 1978 เธอกับน้องสาวของเธอได้รับการเลี้ยงดูในรัสเซีย ตั้งแต่ตอนที่เธอเริ่มเรียนหนังสือชั้นประถมศึกษา มีรายงานว่าเธอมีความชำนาญในการใช้ภาษามองโกเลีย, รัสเซีย, จีน, และอังกฤษ และรู้ภาษาฝรั่งเศสอยู่บ้าง

อัลตันตุยาย้ายกลับไปพำนักที่มองโกเลียในปี 1990 และอีกไม่กี่ปีต่อมาก็แต่งงานกับนักร้องสไตล์เทคโนชาวมองโกเลียชื่อ มาได ทั้งคู่มีลูกด้วยกันคนหนึ่งในปี 1996 แล้วก็หย่าร้างกันและเด็กคนนั้นถูกส่งไปอยู่กับพ่อแม่ของอัลตันตุยา ถึงแม้ได้รับการศึกษาอบรมมาเพื่อเป็นครู แต่อัลตันตุลาได้ไปอยู่ฝรั่งเศสช่วงสั้นๆ ซึ่งเธอได้เข้าโรงเรียนนางแบบก่อนเดินทางกลับมองโกเลีย

อัลตันตุยาแต่งงานอีกหนและมีลูกอีกคนหนึ่งในปี 2003 แต่การสมรสครั้งที่สองยังคงจบลงด้วยความล้มเหลว และเด็กคนที่สองนี้ก็ถูกส่งไปอยู่กับพ่อแม่ของเธอเช่นกัน ทางด้านมารดาของอัลตันตุยาบอกว่า เธอไม่เคยเป็นนางแบบ ขณะที่ เซเตฟ บิดาของเธอกล่าวว่า อัลตันตุยาไม่เคยแต่งงาน แต่อยู่ในมองโกเลียกับลูก 2 คนของเธอ เธอทำงานเป็นนักแปลและเดินทางบ่อยครั้งจากมองโกเลียไปยังประเทศอย่างเช่น จีน, สิงคโปร์, และมาเลเซีย เธอเดินทางไปมาเลเซียครั้งแรกในปี 1995 และครั้งที่สองตอนต้นปี 2006
(ข้อมูลจาก Wikipedia)

[2] อับดุล ราซัค บากินดา (เกิดปี 1960) เป็นอดีตนักวิเคราะห์ทางการเมืองจากมาเลเซีย และเป็นผู้ช่วยใกล้ชิดของ นาจิบ ราซัค เขากลายเป็นคนดังขึ้นมาในปี 2006 เมื่อเขาถูกกล่าวหาว่าสมรู้ร่วมคิดในการฆ่า อัลตันตุยา ซารีบู หญิงชาวมองโกเลีย

บากินดา สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีในด้านวิชาการเมืองและรัฐบาล จาก สถาบันซิตี้โปลีเทคนิค, ลอนดอน ในปี 1982 เขาศึกษาต่อจนได้รับปริญญาโทด้านการสงครามศึกษา จากคิงส์คอลเลจ มหาวิทยาลัยลอนดอนในปี 1984 ต่อจากนั้นเขายังศึกษาในระดับปริญญาเอกด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ ตรินิตี้ คอลเลจ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ซึ่งในที่สุดก็สำเร็จการศึกษา และเดินทางไปรับปริญญาภายหลังได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระ

เมื่อปี 1988 บากินดา เข้ารับราชการเป็นอาจารย์ในสถาบันป้องกันประเทศของกองทัพมาเลเซีย (Malaysian Armed Forces Defense College) และในที่สุดได้เป็นหัวหน้าภาควิชายุทธศาสตร์ศึกษา ในปี 1993 เขาจัดตั้งหน่วยงานคลังสมองที่มีชื่อว่า “ศูนย์วิจัยทางยุทธศาสตร์แห่งมาเลเซีย” (Malaysian Strategic Research Centre) ขึ้นที่กัวลาลัมเปอร์ ศูนย์แห่งนี้รับผิดชอบจัดพิมพ์หนังสือจำนวนมากในหัวข้อเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รวมทั้งจัดการประชุมสัมมนาอย่างสม่ำเสมอในประเด็นทั้งระดับท้องถิ่นและระดับระหว่างประเทศ ขณะเดียวกันก็เป็นที่ทราบกันว่าเขาเป็นที่ปรึกษาของ นาจิบ ราซัค

ศาลฝรั่งเศสกำลังไต่สวนพิจารณาข้อกล่าวหาเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่นในกรณีการซื้อเรือดำน้ำชั้น “สกอร์ปีน” จำนวน 2 ลำของกระทรวงกลาโหมมาเลเซียในปี 2002 ซึ่งเป็นข้อตกลงที่มีมูลค่า 2,000 ล้านดอลลาร์ และมีบากินดา เป็นนายหน้า การสอบสวนมุ่งไปที่ประเด็นสินบนมูลค่า 200 ล้านดอลลาร์ซึ่งเกี่ยวข้องพัวพันกับบริษัทหลายแห่งที่เป็นของ บากินดา และสมาชิกในครอบครัวของเขา อันได้แก่บริษัท เปริเมการ์, บริษัท เคเอส ออมบัค เลาต์, และบริษัท เทราซาซี (ฮ่องกง)

อัลตันตุยา ซารีบู สตรีชาวมองโกเลียที่ได้รับการว่าจ้างให้เป็นนักแปลภาษาฝรั่งเศสเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่การติดต่อเจรจาซื้อเรือดำน้ำ รวมทั้งเป็นภรรยาลับของ บากินดาด้วย กลายเป็นศพถูกสังหารโหดภายหลังที่เธอข่มขู่เรียกร้องค่าคอมมิชชั่น 500,000 ดอลลาร์จากดีลนี้ และบากินดาก็ถูกฟ้องร้องต่อศาลมาเลเซีย ในข้อหาสมรู้ร่วมคิดการฆาตกรรมเธอ อย่างไรก็ตาม บากินดาหลุดพ้นผิดเป็นอิสระในวันที่ 31 ตุลาคม 2008 เมื่อศาลสูงของมาเลเซียตัดสินว่าคดีฟ้องร้องเขานั้นไม่มีมูล
(ข้อมูลจาก Wikipedia)
กำลังโหลดความคิดเห็น