เอเอฟพี - ผู้ผลิตอุปกรณ์เพื่อความบันเทิงบนเครื่องบินต่างตบเท้านำเทคโนโลยีรุ่นใหม่ไปเปิดตัวในงาน “ปารีส แอร์โชว์ 2015” ที่สนามบิน เลอ บูเกต์ ของฝรั่งเศสในสัปดาห์นี้ ไม่ว่าจะเป็นหน้าจอสัมผัสที่เข้าโหมด “พัก” อัตโนมัติเมื่อผู้โดยสารงีบหลับ หรือแอปพลิเคชันใหม่ๆ ที่ช่วยให้ผู้โดยสารสามารถนำอุปกรณ์พกพามาใช้ร่วมกับอุปกรณ์เสริมความบันเทิงบนเครื่องบินได้
บริษัท ทาเลส (Thales) ของฝรั่งเศสได้เปิดตัวต้นแบบที่นั่งโดยสารชั้นธุรกิจซึ่งติดตั้งอุปกรณ์ตรวจจับม่านตา (iris-tracking) ซึ่งจะปรับจอเข้าสู่โหมดพัก หรือ Standby อัตโนมัติหากผู้โดยสารงีบหลับ และ re-start ภาพยนตร์หรือสื่อบันเทิงทันทีที่ผู้โดยสารลืมตาตื่น
“เทคโนโลยีตรวจจับม่านตาได้แรงบันดาลใจมาจากอุปกรณ์ช่วยเหลือผู้พิการ ซึ่งเรานำมาปรับใช้กับระบบความบันเทิงบนเครื่องบินโดยสาร” เบร็ตต์ บลีเชอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรมของทาเลสให้สัมภาษณ์
บริษัทยังต้องใช้เวลาพัฒนาปรับปรุงอีก 5-10 ปี กว่าเทคโนโลยีตัวนี้จะนำไปใช้บนห้องโดยสารชั้นธุรกิจได้จริง
“เราได้เริ่มนำเสนอเทคโนโลยีนี้ต่อสายการบินต่างๆ เพื่อนำไปสู่การผลิตแล้ว”
ด้าน พานาโซนิค ผู้นำในตลาดความบันเทิงบนเครื่องบินก็ได้นำเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดมาเปิดตัวในงานแสดงการบินครั้งนี้ด้วย รวมถึงซอฟต์แวร์ที่อำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสารสามารถไล่ดูรายชื่อภาพยนตร์ที่มีให้บริการบนเครื่องก่อนออกเดินทาง และนำอุปกรณ์ส่วนตัวไปซิงก์บนเครื่องบิน ซึ่งจะช่วยให้ไอแพดหรือแท็บเล็ตกลายเป็นเสมือน “หน้าจอที่ 2” ที่ผู้โดยสารจะใช้ท่องอินเทอร์เน็ตหรือชอปปิ้งสินค้าออนไลน์ โดยไม่กระทบกับการดูภาพยนตร์
มาริโอ กรีมา ผู้จัดการฝ่ายการตลาดในยุโรปของพานาโซนิคระบุว่า บริษัทจะนำเสนอซอฟต์แวร์ตัวนี้แก่สายการบินทั่วโลก “ในอีกไม่ช้า”
บริษัทผู้พัฒนาระบบความบันเทิงบนเครื่องบินจะต้องใช้เวลานานพอสมควร กว่าจะผลิตหน้าจอที่มีทั้งคุณภาพและฟังก์ชันต่างๆ เทียบเคียงได้กับสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต
“หน้าจอที่นำไปติดตั้งบนเครื่องบินโดยสารต้องผ่านการตรวจสอบและรับรองหลายขั้นตอน เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่มีอะไรผิดพลาดเกิดขึ้น” กรีมากล่าว
“หากไอแพดของคุณเกิดระเบิดขึ้นมาตอนอยู่บนพื้นดิน มันก็ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายอะไร แต่ถ้าไปเกิดขึ้นบนท้องฟ้าละก็... เป็นปัญหาใหญ่แน่”
ผู้ผลิตอุปกรณ์เสริมความบันเทิงบนเครื่องบิน เช่น พานาโซนิค และทาเลส ยังจำเป็นต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า อุปกรณ์ที่พวกเขาผลิตจะสามารถรองรับการปรับปรุงเทคโนโลยี หรือซอฟต์แวร์ใหม่ๆ ที่จะออกสู่ท้องตลาดในอนาคต
“แน่นอนว่า สายการบินคงไม่ต้องการโละอุปกรณ์ความบันเทิงบนเครื่องทิ้งทุกครั้งที่มีซอฟต์แวร์ตัวใหม่ออกมา ดังนั้น เราจึงต้องผลิตหน้าจอที่มีศักยภาพในการรองรับซอฟต์แวร์ใหม่ๆ ยิ่งกว่าไอแพด” กรีมากล่าว