ดีแทค พร้อมปรับแผนบุกตลาดใหม่ด้วยกลยุทธ์มินิซีอีโอ 5 คน ดูแล 5 ภาค ชี้จะช่วยให้ดีแทคเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น และสามารถตอบสนองความต้องการได้ดีกว่าสั่งจากส่วนกลาง เผยได้เพิ่มเงินลงทุนเป็น 20,000 ล้านบาท เพื่อขยายโครงข่ายทั้ง 3G และ 4G ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ตั้งเป้าลูกค้าที่เข้ามาใช้งาน 4G ปีนี้ 2.5 ล้านราย ย้ำรัฐควรนำคลื่นความถี่ที่ยังไม่ได้ใช้มาจัดสรรใหม่เพื่อให้ได้การใช้งานที่มีประสิทธิภาพดีขึ้น และจะช่วยให้การใช้งานอินเทอร์เน็ตมีความหลากหลาย และต่อยอดพัฒนาเศรษฐกิจในด้านอื่นๆ ไปได้อีกมาก
นายลาร์ส โอเคะ นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า ดีแทคยังเชื่อว่าโมบายอินเทอร์เน็ตจะเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นการเติบโตของการใช้งานอินเทอร์เน็ตให้สูงขึ้น โดยในปัจจุบันประเทศไทยถือว่ามีการใช้งานอินเทอร์เน็ตเฉลี่ยต่อหัววันละ 3 ชั่วโมง ซึ่งถือว่ามีการใช้งานที่มากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ประกอบกับการนำเสนอเทคโลยีใหม่อย่าง 4G ยิ่งจะช่วยให้การใช้งานอินเทอร์เน็ตมีความหลากหลายมากขึ้น
จากสถิติ Thailand Social media Landscape, Marketing Oop พบว่า กลุ่มคนอายุ 18-34 ปี เป็นกลุ่มที่มีการใช้งานอินเทอร์เน็ตสูงที่สุด การใช้โซเชียลมีเดียถือเป็นกิจกรรมที่คนไทยชื่นชอบที่สุด โดยมีการอัปโหลดรูปซึ่งมีปริมาณมากที่สุดในโลกถึง 495.5 ล้านรูปในปีที่ผ่านมา และ 85% ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต หรือจำนวน 35 ล้านราย มีการดูวิดีโอผ่านยูทิวบ์ และรับชมวิดีโอสตรีมมิง ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นพฤติกรรมที่มาพร้อมกับการเข้ามาของ 4G
ดีแทค มีฐานลูกค้าไตรมาสแรกทั้งสิ้น 28.4 ล้านเลขหมาย แบ่งเป็นลูกค้าใหม่ จำนวน 419,000 เลขหมาย โดยดีแทคพร้อมที่จะก้าวสู่การเป็นผู้นำการใช้งานอินเทอร์เน็ตด้วยกลยุทธ์ใหม่ 4 ด้านประกอบด้วย 1.เน็ตเวิร์ก ด้วยการเพิ่มการลงทุนเป็น 20,000 ล้านบาท โดยในปลายปีนี้ตั้งเป้าว่าจะขยายเครือข่าย 3G ให้ครอบคลุม 95% ของจำนวนประชากร นอกจากนี้ ยังจะทำการขยายโครงข่าย 4G ให้มีความเร็วเพิ่มขึ้น และจะสร้างความแตกต่างด้วยการปรับการใช้งานเพื่อให้เน็ตเวิร์กอยู่ในความพร้อมใช้งานตลอดเวลา
2.การปรับยุทธศาสตร์การดำเนินงานใหม่ที่เน้นสร้างกลไกการขาย การตลาด และการจัดจำหน่ายให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยการปรับโครงสร้างการทำงานในรูปแบบของมินิซีอีโอ ซึ่งจะเป็นผู้ดูแลภูมิภาคใน 5 พื้นที่ Regional Business Head (RBH) ซึ่งจะมีหัวหน้าดูแลในแต่ละภูมิภาครวม 5 คน และภายใต้ภูมิภาคเหล่านั้นยังจะแบ่งการทำงานเป็นเป็นคลัสเตอร์ที่จะมีอยู่ประมาณ 100 คลัสเตอร์ย่อย
โดยในส่วนของคลัสเตอร์นั้นจะประกอบไปด้วย หัวหน้า มีเป้าหมาย มีการติดตามผลการทำงานของแต่ละคลัสเตอร์เป็นรายวันทุกวันเพื่อรายงานต่อมินิซีอีโอ ก่อนที่จะสรุปสู่ CEO ของดีแทคต่อไป 3.การออกแพกเกจต่างๆ ที่เหมาะสมแต่ละพื้นที่ และพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีความแตกต่างกัน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้งานดาต้าให้เพิ่มขึ้น และ 4.การดูแลลูกค้า ดีแทคจะเน้นการสร้างประสบการณ์ที่ดีในทุกช่องทางการติดต่อกับลูกค้า ซึ่งด้วยโมเดลธุรกิจใหม่นี้จะช่วยให้ดีแทคสามารถใกล้ชิดกับคู่ค้า ร้านค้า และผู้บริโภคได้มากขึ้น
ด้านนายประภาพรต ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการอาวุโสธุรกิจภูมิภาค-กรุงเทพฯ และปริมณฑล ดีแทค กล่าวว่า การแบ่งรูปแบบใหม่เป็นแบบมินิซีอีโอที่ดูแลเฉพาะภูมิภาคนั้น ทำให้ดีแทคพบว่า ลูกค้ามีความซับซ้อนหลายกลุ่ม ทั้งคนในเมือง และคนนอกเมือง รวมทั้งคนรอบๆ อย่างปริมณฑลที่ยังจะมีกลุ่มแรงงานต่างด้าวอีกด้วย ทำให้ต้องมีการเก็บข้อมูลมากขึ้นเพื่อให้สามารถเข้าถึงลูกค้าในกลุ่มต่างๆ ได้ดีขึ้น
นายปกรณ์ มโนรมย์ภัทรสาร ผู้อำนวยการอาวุโสธุรกิจภูมิภาค-ภาคเหนือ ดีแทค กล่าวว่า การทำตลาดในภาคเหนือนั้นนอกจากจะมีความหลากหลายทั้งลักษณะของประชากรแล้ว ยังจะมีความหลากหลายของพื้นที่ทั้งที่ราบลุ่ม และหุบเขา ซึ่งส่งผลต่อพฤติกรรมการใช้งานของลูกค้า ซึ่งมองเห็นว่า ดีแทคสามารถทำอะไรได้อีกมากจากการลงสำรวจในทุกพื้นที่ โดยการทำงานในภูมิภาคนั้นจะมีการรายงานต่อ CEO อยู่ตลอดเวลา เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าได้ทันที และด้วยกลยุทธ์ใหม่นี้ ดีแทคพบว่าสามารถสร้างความพึงพอใจให้แก่ลูกค้าได้สูงขึ้น 20%
นายวรวัฒน์ วงศ์สง่า ผู้อำนวยการอาวุโสธุรกิจภูมิภาค-ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดีแทค กล่าวว่า การลงพื้นที่เองทำให้มองเห็นโอกาส เพราะภาคอีสานเป็นภาคที่มีเนื้อที่ใหญ่ที่สุดในไทย 20 จังหวัด และดีแทคสามารถเติบโตเพิ่มขึ้นได้อีกมาก โดยเฉพาะการนำเสนอ 4G ที่ทำให้ดีแทคจะขยายตัวไปได้ เพราะคนอีสานตื่นตัวทางด้านการใช้งานมือถือ ทำให้มียอดการใช้งานดาต้าสูง ดังนั้น ถ้าเน็ตเวิร์กเข้าไปได้ถูกจุดดีแทคก็จะสามารถตอบสนองพวกเขาได้ เพราะที่ผ่านมา หลังจากมีการนำเสนอ 4G เข้าไปทำให้การใช้งานดาต้าเพิ่มขึ้น 10% ทุกเดือน
นายปัญญา เวชบรรยงค์รัตน์ ผู้อำนวยการอาวุโสธุรกิจภูมิภาค-ภาคใต้และภาคตะวันตก ดีแทค กล่าวว่า ในส่วนของภาคนี้จะมีทั้งโรงงานที่มีแรงงานต่างด้าวเยอะ ซึ่งที่ผ่านมาพบว่า พฤติกรรมของกลุ่มแรงงานต่างด้าวมีการใช้งานอินเทอร์เน็ตสูงมาก เรียกได้ว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยของคนไทยด้วยซ้ำ ส่วนถ้าลงใต้ไปก็จะมีพฤติกรรมที่มีความแตกต่างกันไป ดังนั้น จึงต้องลงไปใช้เวลาเรียนรู้กับลูกค้าให้มากขึ้น ประกอบกับทางด้านโครงข่ายนั้นยังต้องรับมือต่อภัยธรรมชาติที่จะเกิดขึ้น และส่งผลกระทบต่อคุณภาพการให้บริการอีกด้วย
นายอำนาจ โกศลรอด ผู้อำนวยการอาวุโสธุรกิจภูมิภาค-ภาคกลางและภาคตะวันออก ดีแทค กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ที่ผ่านมาพบว่า ภาคกลางเป็นชาวเกษตรกรรมจะมีโรงงาน นิคมอุตสาหกรรมมาก และจะมีพฤติกรรมที่แตกต่างกัน เช่น ห้ามใช้มือถือระหว่างทำงาน ส่วนภาคตะวันออก จะมีนักท่องเที่ยวและฤดูกาลท่องเที่ยวที่มีรายละเอียดชัดเจน นอกจากนี้ ยังมีพม่าและเขมรซึ่งเป็นแรงงานต่างชาติ ทำให้มีความหลากหลาย การใช้งานดาต้าที่แตกต่างกัน ดังนั้น สิ่งต่างๆ ที่ดีแทคได้ลงไปเก็บข้อมูลนี้จะช่วยให้ดีแทคสามารถตอบสนองการใช้งานที่ตรงใจในแต่ละกลุ่มได้มากที่สุด
สำหรับเรื่องการประมูล 4G ที่จะเกิดขึ้นในปลายปีนี้นั้น นายลาร์ส กล่าวว่า สำหรับการประมูลใบอนุญาต 4G ในปลายปีนี้นั้นถือเป็นเรื่องที่ดี ที่จะช่วยปลดล็อกศักยภาพของ 4G ให้สามารถขยายตัวต่อไปได้ แต่ทั้งนี้อยากให้ภาครัฐมองถึงเรื่องการนำคลื่นความถี่ที่เหลืออยู่มาใช้ไม่ว่าจะเป็น 700MHz 850 MHz 1800 MHz และ 2600 MHz นำมาใช้เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์อย่างเหมาะสม และสามารถเพิ่มศักยภาพของเทคโนโลยี 4G ได้ดียิ่งขึ้น และจะทำให้ภายในเวลาไม่กี่ปีไทยจะมีการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่เติบโตตามกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียที่ก้าวหน้าไปแล้วได้ทัน โดยดีแทคได้ตั้งเป้าหมายลูกค้าที่จะใช้งาน 4G ในปีนี้ไว้ที่ 2.5 ล้านราย
ทั้งนี้ จากรายงานของ GSMA เรื่อง Building Thailand’s Digital Economy and Society 2015 ระบุว่า จะมีจำนวนผู้ใช้งาน 4G สูงถึง 13.8 ล้านคน ในปี 2562 และอัตราการเข้าถึง mobile broadband จะพุ่งสูงจาก 55% เมื่อปี 2556 ไปเป็น 133% ในปี 2563 จะช่วยเพิ่ม GDP ของประเทศมากขึ้นอีก 7.3 แสนล้านบาท และจากการคาดการณ์ของดีแทคต่ออัตราการเจริญเติบโตของธุรกิจ M2M (Machine to Machine) ในประเทศไทยว่า จะมีจำนวนซิมที่ connected device มากถึง 400 ล้านเครื่องเป็นอย่างน้อยในระบบเศรษฐกิจ
การเชื่อมต่อดังกล่าวจะส่งผลที่ดี และสำคัญต่อเศรษฐกิจดิจิตอล และ Internet of Things เพราะจะสามารถนำไปต่อยอดไปใช้งานอื่นๆ ในอุตสาหกรรมใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเป็นระบบบริหารและติดตามพิกัดตำแหน่งยานพาหนะ ระบบการจัดการการส่งสินค้า หรือข้อมูล (fleet management, logistics) หรือแม้แต่กระทั่งการนำมาใช้งานอย่างแพร่หลายในระดับผู้บริโภคทั่วไปในวงกว้าง ได้แก่ การติดตามเด็ก และผู้สูงอายุ (child tracking, senior tracking) และเพื่อสุขภาพไม่ใช่เป็นเพียงแค่การใช้งานอินเทอร์เน็ตเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป
*** ยุทธศาสตร์ 5 มินิซีอีโอ
ภาคกลางและตะวันออก
1.ความท้าทายอยู่ที่ตลาดนักท่องเที่ยว แรงงาน ต่างด้าวที่ยากจะคาดเดา
2.ติดตั้งโครงข่าย 4G ในจังหวัดใหญ่ที่มีผู้ใช้งานมากขึ้น และขยายคุณภาพสัญญาณ 3G ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่
3.มีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับชุมชนผสมผสาน
ภาคใต้-ตะวันตก
1.แตกต่าง หลากหลายในพื้นที่ และกลุ่มตลาดลูกค้า
2.พูดจริง ทำจริง ลุยจริง ปรับกลยุทธ์ให้เข้าถึงความพึงพอใจของลูกค้า
3.แก้ปัญหาได้รวดเร็ว ตรงจุด ยกระดับความสัมพันธ์กับคู่ค้า ทำงานใกล้ชิด ร้านค้า และลูกค้าพอใจในบริการ กิจกรรมให้เข้ากับวิถีชีวิต และไลฟ์สไตล์
ภาคอีสาน
1.พื้นที่เยอะสุด ประชากรมากสุด กำลังซื้อต่ำสุด การแข่งขันรุนแรงสุดๆ
2.ถึงลูก ถึงคน บุกทะลุทะลวงทุกตรอกซอกซอยใช้ความเป็นผู้นำที่ถึงไหนถึงกัน เป็นแบบอย่างให้ทีม
3.ได้ใจชาวบ้าน ได้ยอดขายลูกค้าเพิ่มขึ้น
ภาคเหนือ
1.พื้นที่เขาสูง ห่างไกล หลากหลายกลุ่มลูกค้าเน้น ทำงานด้วยเท้า เพื่อเข้าถึงลูกค้า และคู่ค้าให้มากที่สุด
2.ใช้กลยุทธ์สานสัมพันธ์กับคนในชุมชน และหน่วยงานท้องถิ่น ทำให้คุ้นเคย และรักดีแทคมากขึ้น
3.ปรับแผนกลยุทธ์ วางโครงข่าย 3G/4G ให้ทันสถานการณ์ เหมาะสมต่อการใช้งานแต่ละพื้นที่
กรุงเทพฯ และปริมณฑล
1.เมืองที่ไม่เคยหลับใหล ใช้งานดาต้าสูงที่สุด ใช้งานหนาแน่นสุดๆ นักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นรวดเร็ว
2.โครงข่าย 3G จัดหนักเต็มพื้นที่ 4G ครอบคลุมทุกการใช้งานในเมืองใหญ่
3.เพิ่มช่องทางการให้บริการให้ลูกค้าสะดวกทุกที่ และติวเข้มพนักงานให้รอบรู้ 4G
Company Related Link :
ดีแทค