รอยเตอร์ - เหตุอุทกภัยในพม่าอันเนื่องจากฝนฤดูมรสุม และไซโคลนได้สร้างความเสียหายต่อพืชผลทางการเกษตร และปศุสัตว์ไปเป็นจำนวนมาก และมีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดการขาดแคลนอาหารหากความช่วยเหลือไม่ถูกจัดสรร และเงินทุนยังไม่เพียงพอ องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสประชาชาติ (FAO) ระบุ
สำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ ระบุว่า ประชาชนราว 1.6 ล้านคนได้รับผลกระทบ และมากกว่า 100 คน เสียชีวิตจากภัยพิบัติที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่เดือน มิ.ย.
ไซโคลนโกเมน ที่ถล่มพม่าในช่วงปลายเดือน ก.ค. ยิ่งทำให้ความเสียหายจากฝนมรสุมที่ตกลงอย่างหนักเลวร้ายยิ่งขึ้น น้ำไหลบ่าท่วมพื้นที่เกษตรรวม 3.5 ล้านไร่ นอกจากนั้น รายงานยังระบุว่า น้ำท่วม และดินถล่มทั่วประเทศได้ทำลายพื้นที่เพาะปลูกกว่า 2.4 ล้านไร่ บ่อเลี้ยงปลา และกุ้งอีก 90,000 ไร่ และวัวควายจมน้ำตาย 20,000 ตัว
“ในตอนนี้ระดับน้ำกำลังลดลงเรื่อยๆ เราจำเป็นที่จะต้องดำเนินการอย่างรวดเร็วในการช่วยเหลือชุมชนในชนบทให้กลับมายืนด้วยตัวเองได้ จัดหาเมล็ดพันธุ์ อุปกรณ์ และการสนับสนุนต่างๆ ที่จำเป็นให้แก่ผู้คนเหล่านี้” บุ่ย ถิ ลาน ผู้แทน FAO ในพม่า กล่าวในคำแถลงฉบับหนึ่ง
12 จังหวัดจากทั้งหมด 14 จังหวัดในพม่าได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม และประชาชนราว 385,000 ครัวเรือน กลายเป็นผู้ไร้ที่อยู่อาศัย
ความพยายามช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ถูกขัดขวางจากความเสียหายของโครงสร้างพื้นฐานสำคัญเช่น สะพาน ถนน และรางรถไฟ
รัฐบาลนักปฏิรูปชุดนี้ตอบโต้วิกฤตที่เกิดขึ้นรวดเร็วกว่าสมัยรัฐบาลทหาร ที่ความพยายามช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ของต่างชาติถูกทำให้ล่าช้าหลังพม่าประสบภัยพิบัติจากอิทธิพลของไซโคลนนาร์กิส ในปี 2551
FAO ระบุว่า หน่วยงานมีเป้าหมายที่จะจัดมอบข้าว และพืชต่างๆ สำหรับเพาะปลูกในเดือน ต.ค. และวางแผนที่จะช่วยเหลือเกษตรกรรักษาวัวควายที่ยังมีชีวิตอยู่ และฟื้นฟูสร้างโครงสร้างพื้นฐาน
แต่หน่วยงานของสหประชาชาติ รายงานว่า ทุนสำหรับช่วยเหลือบรรเทาทุกข์วิกฤตนี้ยังไม่เพียงพอ ส่งผลให้การทำงานเป็นไปด้วยความยากลำบาก
“เป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจว่าเหตุฉุกเฉินนี้ถูกประเมินต่ำเกินไปจากสื่อทั่วโลก และประเทศผู้บริจาค” บุ่ย ถิ ลาน กล่าว
จนถึงตอนนี้ทุนช่วยเหลือสำหรับรับมือเหตุน้ำท่วมอยู่ที่ 24 ล้านดอลลาร์ ตามการระบุของ Financial Tracking Service ที่ประเมินว่า ในการช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ประชาชนกว่า 580,000 คน ในช่วง 5 เดือนข้างหน้านั้นจำเป็นต้องมีทุนราว 75.5 ล้านดอลลาร์
4 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดยังประสบต่อความตึงเครียดทางชาติพันธุ์นับตั้งแต่ปี 2555 เป็นผลให้ประชาชน 660,000 คน ต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ และยังเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศ.