รอยเตอร์ - รัฐบาล และกองทัพทหารพม่า ได้รับเสียงชื่นชมจากการรับมือต่อเหตุอุทกภัยรุนแรงในประเทศ ที่ช่วยลบคำวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับภัยพิบัติครั้งก่อน และอาจช่วยเสริมเสียงสนับสนุนก่อนการเลือกตั้งครั้งสำคัญในเดือน พ.ย.
น้ำท่วม และผลกระทบจากอิทธิพลจากไซโคลนโกเมน ทำให้ประชาชนเสียชีวิตไปแล้วอย่างน้อย 99 คน และอีกหลายพันคนต้องไร้บ้าน พื้นที่การเกษตรจมอยู่ใต้น้ำ ขณะเดียวกัน ปฏิบัติการเพื่อช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ก็กำลังเร่งระดมกำลังพร้อมกับความช่วยเหลือจากต่างประเทศ
อุทกภัยครั้งนี้นับเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ไซโคลนนาร์กิส คร่าผู้คนในประเทศไปเกือบ 140,000 คน เมื่อเดือน พ.ค.2551 รัฐบาลเผด็จการทหารในเวลานั้นสร้างความไม่พอใจให้แก่ประชาคมโลกด้วยการปฏิเสธความช่วยเหลือจากต่างชาติ และล่าช้าในความพยายามที่จะบรรเทาทุกข์
รัฐบาลนักปฏิรูปที่เข้ามาแทนที่รัฐบาลทหารในปี 2554 ได้ทำในสิ่งที่แตกต่างออกไป โดยทางการพม่าได้ร้องขอความช่วยเหลือจากต่างชาติอย่างรวดเร็ว ตั้งศูนย์พักพิงสำหรับเหยื่อน้ำท่วม และร่วมมือกับหน่วยงานให้ความช่วยเหลือระหว่างประเทศ
“มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อยู่เหมือนกันว่า รัฐบาลตอบสนองต่อเหตุภัยพิบัติช้าเกินไป แต่เมื่อเทียบกับเหตุการณ์นาร์กิส ก็ถือว่าปรับปรุงขึ้นมาก” กอ ลิน อู นักวิเคราะห์การเมือง กล่าว
นอกจากนั้น ยังมีการเปรียบเทียบภัยพิบัติ 2 เหตุการณ์ คือ ตัวประธานาธิบดีเต็งเส่ง อดีตนายพลและนายกรัฐมนตรีสมัยรัฐบาลทหารในปี 2551 ที่เป็นผู้นำในความพยายามบรรเทาทุกข์เหยื่อนาร์กิส ซึ่งในครั้งนี้ ประธานาธิบดีเต็งเส่ง ลงพื้นที่ประสบภัยอย่างรวดเร็ว และในการเยือนศูนย์พักพิงชั่วคราวเมื่อวันอาทิตย์ (9) เต็งเส่ง ได้ดื่มน้ำจากเครื่องกรองน้ำ ด้วยจุดประสงค์ที่จะสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนว่าน้ำปลอดภัยสามารถดื่มได้
“ทางการพม่าร้องขอความช่วยเหลือสนับสนุนจากต่างประเทศอย่างรวดเร็วมาก และยังเสนอการเดินทางในหลายช่องทาง ทั้งเครื่องบิน เฮลิคอปเตอร์ เรือของกองทัพเรือ เพื่อให้เจ้าหน้าที่และอุปกรณ์ช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเข้าถึงพื้นที่ที่ไม่สามารถเข้าถึงได้โดยง่าย” ปิแอร์ เปรอง โฆษกสหประชาชาติ กล่าว
นอกจากเต็งเส่ง แล้ว ยังมีบรรดาบุคคลที่มีอำนาจทางการเมืองเข้ามามีส่วนร่วมต่อการช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ ในช่วง 3 เดือนก่อนที่ประเทศจะจัดการเลือกตั้งเสรี และยุติธรรมครั้งแรกในรอบ 25 ปี
ฉ่วย มาน ประธานสภาผู้แทนราษฎร เดินทางลงพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม และร้องขอความช่วยเหลือจากต่างชาติ เช่นเดียวกับ นางอองซานซูจี หัวหน้าฝ่ายค้าน ที่โพสต์วิดีโอลงบนเฟซบุ๊ก และแสดงความวิตกกังวลว่าน้ำท่วมจะกระทบต่อการเลือกตั้ง เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในการประชามติรัฐธรรมนูญที่จัดขึ้นหลังประเทศประสบภัยจากนาร์กิส
แม้ทางการพยายามที่จะเข้าถึงพื้นที่ห่างไกลของประเทศ แต่ภายในประเทศก็ยังคงเต็มไปด้วยเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ที่แม้แต่สื่อของทางการอย่างหนังสือพิมพ์โกลบอลนิวไลท์ออฟเมียนมาร์ ยังระบุว่า ความทรงจำสมัยนาร์กิสก่อให้เกิดความสงสัยถึงความน่าเชื่อถือของรัฐบาลประชาธิปไตยชุดนี้ ขณะที่ฮิวแมนไรท์วอช ได้กล่าวหาว่า กองทัพทหารไม่สนใจเหยื่อนาร์กิส
ในตอนนี้กองทัพทหารทำหน้าที่เป็นเครื่องมือที่ช่วยส่งความช่วยเหลือไปยังพื้นที่ที่ถูกตัดขาดจากน้ำท่วม และดินถล่ม และยังแสดงให้เห็นถึงความอ่อนไหวต่อเสียงวิจารณ์ในความพยายามช่วยเหลือ โดยเมื่อวันที่ 4 ส.ค. กองทัพได้ออกคำขอโทษที่หายากหลังภาพถ่ายที่เผยแพร่บนเฟซบุ๊กเผยให้เห็นข้าวสารสกปรกที่ทิ้งลงมาจากเฮลิคอปเตอร์ทหารในรัฐยะไข่
“เราเสียใจอย่างมากที่ได้ทราบว่า อาหารปันส่วนส่วนหนึ่งตกลงในโคลน และสิ่งของบรรเทาทุกข์ที่เปราะบางได้รับความเสียหาย เราพยายามที่จะไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นซ้ำอีก” คำแถลงส่วนหนึ่งบนหน้าเพจเฟซบุ๊กของ พล.อ.อาวุโส มิน ออง หล่าย ระบุ
ความพยายามที่จะหาทางรอดชีวิตของผู้คนในรัฐยะไข่หมายความว่า ประชาชนจำนวนมากกำลังสูญเสียความสนใจในการเลือกตั้ง ที่คาดว่าผลน่าจะออกมาต่ำ ออ หล่า ซอ หัวหน้าพรรคแห่งชาติอาระกัน กล่าว.
.