xs
xsm
sm
md
lg

พม่าไม่อนุญาตผู้สอบสวนสิทธิมนุษยชนยูเอ็นเดินทางเข้ารัฐยะไข่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033>ยาง ฮี ลี ผู้แทนพิเศษสหประชาชาติด้านสิทธิมนุษยชนในพม่า เผยว่าทางการพม่าปฏิเสธที่จะให้เธอเดินทางเยือนรัฐยะไข่ และว่าผู้คนที่เธอพบหารือในการเยือนครั้งก่อนถูกเจ้าหน้าที่ตรวจสอบและถ่ายภาพ.--Associated Press/Khin Maung Win.</font></b>

รอยเตอร์ - ผู้สืบสวนสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติ เผยวานนี้ (7) ว่า รัฐบาลพม่าได้ปฏิเสธการเข้าถึงรัฐที่เป็นที่พักอาศัยของชาวมุสลิมโรฮิงญา และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของทางการพม่าได้เก็บภาพผู้คนที่เธอพบในการเยือนครั้งก่อนหน้า

ยาง ฮี ลี ผู้แทนพิเศษสหประชาชาติด้านสิทธิมนุษยชนในพม่า ได้สร้างความไม่พอใจให้แก่ทางการพม่าด้วยการวิพากษ์วิจารณ์การจำกัดเสรีภาพทางการเมือง และเรียกร้องสิทธิความเป็นพลเมืองให้แก่ชาวมุสลิมโรฮิงญา 1.1 ล้านคน ที่ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในรัฐยะไข่

ยาง ฮี ลี กลายเป็นบุคคลที่ถูกเกลียดชังจากกลุ่มพระสงฆ์ที่นำโดยพระวิระธู ซึ่งกล่าวประณามลีว่า เป็นหญิงโสเภณีในที่ชุมนุมเมื่อเดือน ม.ค.

ลี ระบุเมื่อวันศุกร์ (7) ว่า ข้อเรียกร้องของเธอที่จะเดินทางไปเยือนรัฐยะไข่ถูกปฏิเสธก่อนเธอจะเริ่มต้นการเยือนพม่าเป็นเวลา 5 วัน และว่า รัฐบาลพม่ายังปฏิเสธใบอนุญาตพำนักในพม่าเวลา 10 วันของเธอ นอกจากนั้น เจ้าหน้ารักษาความปลอดภัยยังได้เฝ้าจับตาประชาชนบางคนที่เธอพบในการเยือนพม่าครั้งก่อน

“ฉันได้รับข้อมูลว่า คู่สนทนาของฉันบางคนถูกเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยถ่ายภาพ และฉันยังได้ทราบว่า บางคนที่ฉันพบหารือด้วยในการเยือนครั้งก่อนถูกตรวจสอบ ถ่ายภาพ และถูกสอบถามในเวลาต่อมา” ลี กล่าว

ลี ระบุว่าเธอเข้าใจว่าทางการพม่ากำลังรับมือต่อภัยธรรมชาติ แต่ก็ไม่คาดคิดว่าจะได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นมิตรเช่นนี้

ลี กล่าวว่า การขาดเอกสารแสดงตัวตน และสิทธิการออกเสียงสำหรับชาวมุสลิมโรฮิงญาเป็นประเด็นที่น่าวิตกกังวลอย่างยิ่ง

“บางคนได้แจ้งต่อฉันว่า ปัญหาอ่อนไหวเหล่านี้ที่ไม่ควรถูกยกเป็นประเด็นเพราะยิ่งเพิ่มความตึงเครียดระหว่างชุมชน และก่อให้เกิดความขัดแย้ง และคำแถลงครั้งก่อนของฉันเกี่ยวกับปัญหานี้เป็นต้นเหตุของความบาดหมาง” ลี กล่าว

ในรายงานเมื่อเดือน มี.ค. ลี เตือนว่า พม่ากำลังก้าวไปสู่ความขัดแย้งเนื่องจากรัฐบาลไม่ดำเนินตามคำมั่นที่จะปกป้องสิทธิมนุษยชน

ลี ได้กล่าวก่อนหน้านี้ว่า ชาวมุสลิมในพม่าเผชิญต่อการเลือกปฏิบัติอย่างเป็นระบบ รวมถึงการจำกัดการเคลื่อนไหวอย่างเสรี การจำกัดการเข้าถึงที่ดิน อาหาร น้ำ การศึกษา และการแพทย์ และการจำกัดการแต่งงาน และการลงทะเบียนเกิด

รัฐบาลพม่าปฏิเสธความเป็นพลเมืองของชาวโรฮิงญา และอ้างว่าคนเหล่านั้นเป็นชาวเบงกาลีที่อพยพมาจากบังกลาเทศ

ชาวโรฮิงญาหลายหมื่นคนต้องหลบหนีออกจากรัฐยะไข่ทางเรือนับตั้งแต่ปี 2555 หลังเกิดการปะทะรุนแรงกับชาวพุทธยะไข่ ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคน และมีผู้ไร้ที่อยู่ 140,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวโรฮิงญา หลายคนที่หลบหนีตกเป็นเหยื่อของแก๊งค้ามนุษย์ และหลายพันคนถูกแก๊งค้ามนุษย์ทิ้งให้ลอยอยู่กลางทะเลในน่านน้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อทางการไทยดำเนินการปราบปราม.
กำลังโหลดความคิดเห็น