xs
xsm
sm
md
lg

พม่าขยายกฎอัยการศึกในเขตโกกังอีก 90 วัน อ้างเพื่อความมั่นคงสงบสุข

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033>ทหารพม่าเดินลาดตระเวนในเมืองลอกกาย เมืองเอกในเขตโกกัง ทางเหนือของรัฐชาน เมื่อวันที่ 16 ก.พ.--Agence France-Presse/Stringer.</font></b>

เอเอฟพี - พม่าขยายเวลาสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่ทางภาคเหนือที่ตกอยู่ในความขัดแย้งใกล้พรมแดนจีนในวันนี้ (15) หลังรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ให้เหตุผลว่า การควบคุมทางทหารจำเป็นต้องดำเนินต่อไปในพื้นที่ เพื่อรับประกันความสัมพันธ์ที่สงบสุขข้ามพรมแดน

การต่อสู้ระหว่างกองกำลังทหารของรัฐบาล และกลุ่มกบฏเชื้อสายจีนที่ลุกลามขึ้นในเขตโกกังของรัฐชาน นับตั้งแต่ต้นเดือน ก.พ. เป็นต้นมา ได้สร้างความวิตกต่อกระบวนการสร้างสันติภาพของประเทศ และทำให้ประชาชนหลายหมื่นคนต้องหลบหนีความรุนแรง ซึ่งส่วนใหญ่ข้ามไปยังฝั่งจีน

การโจมตีทางอากาศของพม่ายังได้ล้ำเข้าไปยังดินแดนของจีน จนทำให้มีพลเรือนเสียชีวิตจำนวนหนึ่ง และสร้างความไม่พอใจให้แก่กรุงปักกิ่ง

การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทำให้กองทัพเข้าควบคุมพื้นที่ในเขตโกกังนับตั้งแต่เดือน ก.พ. และรัฐสภาพม่าได้อนุมัติขยายเวลาหลังรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมยื่นเรื่อง โดย พล.ท.วาย ละวิน ได้กล่าวต่อสมาชิกสภานิติบัญญัติว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวนั้นมีความจำเป็นเพื่อรับประกันความมั่นคงในพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประเทศกำลังเตรียมพร้อมสำหรับการเลือกตั้งครั้งสำคัญที่จะมีขึ้นในช่วงปลายปีนี้

“นั่นเป็นเหตุผลที่ผมร้องขอเวลาเพิ่มอีก 90 วัน สำหรับการปกครองโดยกองทัพ มันมีความจำเป็นเพื่อให้งานดำเนินต่อไปในการสร้างความมั่นคงชายแดน และความสัมพันธ์ที่สงบสุขกับประเทศเพื่อนบ้านของเรา” พล.ท.วาย ละวิน กล่าว

พล.ท.วาย ละวิน ระบุว่า มีประชาชนเกือบ 90,000 คน หลบหนีออกนอกพื้นที่ แต่เดินทางกลับเข้ามาเพียง 11,000 คนเท่านั้น

ความขัดแย้งในเขตภูเขาห่างไกลแห่งนี้ได้บดบังความพยายามที่จะลงนามข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศของรัฐบาล กับกลุ่มกบฏกลุ่มอื่นๆ พม่านั้นตกอยู่ในความขัดแย้งมานานหลายทศวรรษตามเขตพื้นที่พรมแดนชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ ด้วยผู้ก่อความไม่สงบเคลื่อนไหวเรียกร้องที่ต้องการจะปกครองตนเอง รวมทั้งต่อสู้แย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติ

ในเดือน มี.ค. สหประชาชาติได้กล่าวยกย่องร่างข้อตกลงหยุดยิงว่า เป็นก้าวสำคัญทางประวัติศาสตร์ แต่ความพยายามที่จะจดปากกาลงในข้อตกลงฉบับสมบูรณ์ยังไม่สำเร็จ และยังถูกบ่อนทำลายด้วยเหตุความขัดแย้งในรัฐชาน และรัฐกะฉิ่น

แม้ว่ากบฏโกกัง ที่เคยถูกกองทัพพม่าขับไล่ออกจากประเทศในปี 2552 และหวนกลับมาในเดือนก.พ. ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงต่อการหารือสันติภาพของประเทศ แต่การสู้รบที่ยังคงดำเนินอยู่ได้นำมาซึ่งเสียงประณามจากกลุ่มติดอาวุธกลุ่มต่างๆ ที่นั่งโต๊ะเจรจาหารือกัน.
กำลังโหลดความคิดเห็น