xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่มกบฏชาติพันธุ์ในพม่ารวมตัวหารือข้อตกลงหยุดยิงในเขตว้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033>โฆษกกองกำลังกองทัพสหพันธรัฐว้า (UWSA) กล่าวเปิดการประชุมกลุ่มชาติพันธุ์ในเมืองปางซาง เขตพิเศษว้า วันที่ 1 พ.ค.-- Photo/JPaing/Irrawaddy.</font></b>

เอเอฟพี - กลุ่มกบฏชาติพันธุ์ของพม่าเริ่มต้นหารือกันที่เขตปกครองพิเศษว้า บริเวณชายแดนจีน ในวันนี้ (1) เพื่อคิดพิจารณาเกี่ยวกับการตกลงหยุดยิงอย่างเต็มรูปแบบต่อรัฐบาล ตามการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่ของกลุ่มติดอาวุธ

กองกำลังกองทัพสหพันธรัฐว้า (UWSA) เรียกประชุมกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ประมาณ 12 กลุ่ม ในเดือน เม.ย. แม้ว่ากลุ่มของตัวเองจะไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการเจรจาสันติภาพของประเทศก็ตาม

“เราหวังให้การประชุมหารือครั้งนี้เป็นแรงสนับสนุนสันติภาพในพื้นที่ และการหยุดยิงทั่วประเทศ” โฆษกกองกำลังปลดปล่อยแห่งชาติตาอาง (TNLA) กล่าว พร้อมเสริมว่า การหารือเริ่มขึ้นตั้งแต่วันศุกร์ (1) และคาดว่าจะสิ้นสุดในวันที่ 6 พ.ค.

ประธานาธิบดีเต็งเส่ง ได้รับร่างข้อตกลงกับกลุ่มกบฏ 16 กลุ่ม เพื่อยุติการต่อสู้ยาวนานหลายทศวรรษ ที่สหประชาชาติระบุว่า เป็นความสำเร็จที่มีความสำคัญ และถือเป็นประวัติศาสตร์

รัฐบาลต้องการหยุดยิงทั่วประเทศอย่างสมบูรณ์ก่อนการเลือกตั้งในเดือน พ.ย. ที่ถูกมองว่าเป็นบททดสอบการปฏิรูปหลังอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหารมาหลายทศวรรษ แต่การต่อสู้ยังคงเกิดขึ้นในรัฐกะฉิ่น ที่ข้อตกลงหยุดยิงสิ้นสุดลงในปี 2554 ไม่นานหลังสิ้นสุดการปกครองของรัฐบาลเผด็จการทหาร

การต่อสู้รุนแรงยังปะทุขึ้นในเขตโกกัง ของรัฐชาน ส่งผลให้ประชาชนหลายหมื่นคนต้องหลบหนีความรุนแรงไปยังฝั่งจีน ที่รัฐบาลจีนแสดงความวิตกต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

นักรบโกกัง ที่กลับเข้ามาในพม่าเมื่อเดือน ก.พ. หลังถูกขับไล่โดยกองทัพในปี 2552 ได้ต่อสู้โดยได้รับความช่วยเหลือจาก TNLA ไม่ได้มีส่วนร่วมในการหารือหยุดยิงของพม่า แม้จะได้รับเชิญเข้าร่วมการหารือที่ว้าก็ตาม

เบอร์ทิล ลินท์เนอร์ ผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับพม่า และเขตชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ของพม่ามาแล้วหลายเล่มกล่าวว่า การหารือที่ว้าเป็นวิธีการของปักกิ่งในการกดดันรัฐบาลพม่า

“พวกเขาไม่ต้องการที่จะสูญเสียอิทธิพลในพม่า” ลินท์เนอร์ กล่าวและว่า อิทธิพลของจีนลดลงภายใต้การปกครองของรัฐบาลชุดใหม่ที่พยายามจะเปิดประเทศสู่โลกภายนอกหลังโดดเดี่ยวมานานหลายทศวรรษ

ลินท์เนอร์ ยังกล่าวเพิ่มว่า ว้าได้รับอาวุธมาจากจีน และคิดที่จะแบ่งปันสิ่งเหล่านั้นกับนักสู้ในโกกัง กลุ่มชาติพันธุ์ทั้งสองกลุ่มก่อนหน้านี้เคยต่อสู้กับรัฐบาลอันเป็นส่วนหนึ่งของพรรคคอมมิวนิสต์พม่า

กองกำลังรัฐบาลพม่า ต้องติดพันอยู่ในความขัดแย้งยืดเยื้อกับกบฏโกกังเชื้อสายจีน แม้จะมีการใช้การโจมตีทางอากาศ และอาวุธหนักก็ตาม.
กำลังโหลดความคิดเห็น