xs
xsm
sm
md
lg

พม่าชี้วิกฤตผู้อพยพไม่ใช่ปัญหาของประเทศ อาจไม่ร่วมประชุมไทยปลายเดือนนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033>ผู้อพยพชาวบังกลาเทศและโรฮิงญาจากพม่าโดยสารรถบรรทุกหลังเดินทางถึงฐานทัพเรือในลังกาวี เมื่อวันที่ 14 พ.ค. เพื่อเดินทางต่อไปยังศูนย์ตรวจคนเข้าเมืองบนแผ่นดินใหญ่ ปัญหาผู้อพยพจากอ่าวเบงกอลขึ้นฝั่งไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เพิ่มสูงขึ้นในช่วงนี้ ทำให้ไทยเสนอประชุมภูมิภาคเพื่อหาทางคลายวิกฤตผู้อพยพ แต่พม่าระบุว่าอาจไม่เข้าร่วมการประชุมดังกล่าวด้วยมองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากการค้ามนุษย์.--Agence France-Presse/Manan Vatsyayana.</font></b>

เอเอฟพี - พม่าอาจปฏิเสธการประชุมภูมิภาคที่ไทยเป็นเจ้าภาพในปลายเดือนนี้ ที่มุ่งเป้าจะคลายวิกฤตผู้อพยพในอ่าวเบงกอล สำนักงานประธานาธิบดีพม่าเผยวันนี้ (15)

มนุษย์เรือหลายร้อยคนเดินทางมาถึงแผ่นดินไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย นับตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. เมื่อการค้นพบหลุมศพหมู่ในภาคใต้ของไทยซึ่งเชื่อว่าเป็นของชาวบังกลาเทศ และผู้อพยพจากพม่า ทำให้ทางการไทยเข้าปราบปรามการลักลอบค้ามนุษย์ และทำให้ขบวนการค้ามนุษย์ทิ้งผู้อพยพเหล่านี้

ทางการไทยที่ถูกกล่าวหาว่าปิดหูปิดตา และสมรู้ร่วมคิดในการค้ามนุษย์ได้เรียกประชุมระดับภูมิภาคในวันที่ 29 พ.ค. ที่กรุงเทพฯ เพื่อจัดการกับต้นตอของการอพยพย้ายถิ่นเป็นจำนวนมากนี้ ซึ่งผู้อพยพหลายคนที่พบบนเรือเป็นชาวมุสลิมโรฮิงญา จากภาคตะวันตกของพม่า

ฝ่ายพม่ากล่าวหาในวันนี้ (15) ว่า ไทยใช้การประชุมภูมิภาคเบี่ยงเบนความสนใจจากปัญหาของตัวเองเกี่ยวกับการลักลอบค้ามนุษย์

“เราอาจจะไม่เข้าร่วม...เราไม่ยอมรับหากไทยเชิญเราเพียงเพื่อคลายความกดดันที่พวกเขากำลังเผชิญอยู่” ซอ เต ผู้อำนวยการสำนักงานประธานาธิบดีพม่า กล่าว

“ต้นเหตุรากเหง้าของวิกฤตคือ การค้ามนุษย์ที่เพิ่มขึ้น ปัญหาหลุมศพหมู่ผู้อพยพไม่ใช่ปัญหาของพม่า เป็นเพราะความอ่อนแอในการป้องกันการค้ามนุษย์ และหลักนิติธรรมของไทย” ซอ เต กล่าว

การประชุมหนึ่งวันในกรุงเทพฯ จะประกอบด้วยเจ้าหน้าที่จาก 15 ประเทศทั้งอินโดนีเซีย บังกลาเทศ พม่า รวมทั้งออสเตรเลีย และสหประชาชาติ

สหประชาชาติระบุว่า มีผู้อพยพมากกว่า 25,000 คน ที่ประกอบด้วยชาวโรฮิงญา และผู้อพยพทางเศรษฐกิจ หรือแรงงานต่างด้าวจากบังกลาเทศ ได้เดินทางมุ่งลงใต้จากอ่าวเบงกอลในช่วงระหว่างเดือน ม.ค. ถึง มี.ค. ในปีนี้

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ความรุนแรงทางศาสนา และกฎหมายเลือกปฏิบัติต่อชาวโรฮิงญาในพม่าได้ก่อให้เกิดการอพยพครั้งใหญ่ที่สุดของบรรดามนุษย์เรือนับตั้งแต่สงครามเวียดนาม ในพม่ามีชาวโรฮิงญามากกว่า 1.3 ล้านคน อาศัยอยู่ในรัฐยะไข่ ทางภาคตะวันตกของประเทศ แต่พม่าปฏิเสธการให้สิทธิพลเมืองแก่คนกลุ่มนี้ และปฏิเสธที่จะระบุว่า ชาวโรฮิงญาเป็นกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มหนึ่งของประเทศ แต่ระบุให้คนกลุ่มนี้คือ เบงกาลี

ซอ เต กล่าวเมื่อต้นสัปดาห์ว่า หัวใจของวิกฤตผู้อพยพอยู่ในบังกลาเทศ

ความรุนแรงระหว่างชุมชนชาวพุทธท้องถิ่น และชาวมุสลิมโรฮิงญาในรัฐยะไข่ ในปี 2555 ทำให้มีผู้เสียชีวิตราว 200 คน และอีกหลายหมื่นคนที่ส่วนใหญ่เป็นชาวโรฮิงญาต้องติดอยู่ในค่ายผู้ไร้ที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นปัจจัยที่เร่งให้เกิดการอพยพใหญ่ทางทะเล.
กำลังโหลดความคิดเห็น