xs
xsm
sm
md
lg

เวียดนามเร่งทำนาปีละ 3 ครั้ง ผู้เชี่ยวชาญหวั่นสิ่งแวดล้อมวินาศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033>เกษตรกรชาวจ.เกิ่นเธอ ทำนาอยู่ในทุ่งนา จากเดิมที่เคยทำนาเพียงปีละครั้ง ปัจจุบันต้องทำนาถึงปีละ 3 ครั้ง รองรับความต้องการการบริโภคภายในประเทศและการส่งออก แต่การทำนาปีละ 3 ครั้งเช่นนี้ก็ส่งผลให้เกษตรกรต้องใช้สารเคมี ปุ๋ย ยาฆ่าแมลงในปริมาณที่มากขึ้นไปด้วย.--Agence France-Presse/Hoang Dinh Nam.</font></b>

เอเอฟพี - ผู้เชี่ยวชาญชาวเวียดนามกล่าวว่าความต้องการที่จะกลายเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกข้าวชั้นนำของโลกของเวียดนามนั้นกำลังผลักดันให้บรรดาเกษตรกรในเขตที่ราบปากแม่น้ำที่อุดมสมบูรณ์ต้องตกอยู่ในความเสี่ยง รวมทั้งความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม

นายเหวียน เฮียน เทียน ชาวนาในเขตที่ราบปากแม่น้ำโขงทางภาคใต้ของประเทศกำลังวุ่นอยู่กับการปลูกข้าว จนทำให้ไม่มีโอกาสได้ไปเที่ยวนครเกิ่นเธอ ที่อยู่ห่างจากนาของเขาไปเพียงไม่กี่กิโลเมตรเท่านั้น

นายเทียนกล่าวว่าเมื่อครั้งยังเด็ก เขาปลูกข้าวเพียงครั้งเดียวในแต่ละปี แต่เวลานี้ต้องปลูกถึง 3 ครั้งต่อปี ซึ่งเป็นงานที่หนักมาก

เวียดนามในเวลานี้ครองตำแหน่งผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อันดับสองของโลก แต่การปลูกข้าวอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนไปสู่การปลูกข้าวถึง 3 ครั้งต่อปี กำลังทำร้ายบรรดาชาวนาและระบบนิเวศ

"นักการเมืองต้องการที่จะเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งหรืออันดับสองของโลก แต่ในฐานะนักวิทยาศาสตร์ ผมต้องการที่จะเห็นการดำเนินการในการปกป้องคุ้มครองเกษตรกรและสิ่งแวดล้อมมากกว่านี้" นายหวอ ตง ซวน ผู้เชี่ยวชาญด้านข้าวเวียดนาม กล่าว

ความอดอยากครั้งใหญ่ในปี 2488 และการขาดแคลนอาหารในช่วงหลังสงครามทำให้รัฐบาลหันมาใช้นโยบาย "ข้าวมาก่อน" และในเวลานี้เวียดนามสามารถผลิตข้าวได้เกินความจำเป็นในการเลี้ยงปากท้องประชากรราว 90 ล้านคนของประเทศ และรองรับอุตสาหกรรมการส่งออก

ผลผลิตข้าวที่เพิ่มมากขึ้นเกือบ 4 เท่า นับตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1970 ตามรายงานของทางการ เป็นผลจากสายพันธุ์ข้าวที่ให้ผลตอบแทนสูงและการสร้างเครือข่ายเขื่อนกั้นน้ำ ที่ทำให้ในวันนี้ชาวนาสามารถปลูกข้าวได้ถึง 3 ครั้งต่อปี

พื้นที่สำหรับปลูกข้าวในเขตที่ราบปากแม่น้ำโขงได้ขยายกว้างออกไป และโควตารักษาพื้นที่เพาะปลูกข้าว ยังป้องกันเกษตรกรไม่ให้เปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่น ทำให้ผู้เชี่ยวชาญตั้งคำถามว่าใครคือผู้ที่ได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง

ตามการระบุของหวอ ตง ซวน เกษตรกรไม่ได้ผลตอบแทนจากระบบการปลูกข้าว 3 ครั้ง ข้าวมีคุณภาพต่ำและบรรดาเกษตรกรต้องใช้จ่ายเงินจำนวนมากไปกับยาฆ่าแมลงและปุ๋ยที่ประสิทธิภาพลดลงทุกปี

ซวน กล่าวว่าเขตที่ราบปากแม่น้ำจะดีกว่านี้ หากเกษตรกรหันมาปลูกพืชหลากหลายชนิดขึ้น ไม่ว่าจะมะพร้าวหรือนากุ้ง ซึ่งเหมาะสมกับที่ดินที่เคยใช้ปลูกข้าว รัฐบาลเวียดนามควรพิจารณายกเลิกการปลูกข้าวรอบที่ 3 และมุ่งเน้นไปที่การปรับปรุงคุณภาพและตราสินค้าเพื่อที่จะขายข้าวได้ในราคาที่สูงขึ้น
<br><FONT color=#000033>คนงานเร่งขนข้าวสารลงเรือเพื่อส่งให้ลูกค้า.--Agence France-Presse/Hoang Dinh Nam.</font></b>
ปัจจุบันข้าวเวียดนามจำนวนมากส่งออกในราคาถูกด้วยรูปแบบสัญญารัฐต่อรัฐ ผ่านรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ เช่น บริษัท Southern Food Corporation หรือ Vinafood 2

"ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ข้าวมีแนวโน้มที่จะคุณภาพต่ำลงเรื่อยๆ" เล ฮิว จาง รองผู้จัดการ บริษัท Vinafood 2 กล่าวยอมรับ

แม้จะมีภาวะการแพร่กระจายของน้ำเค็มเข้าไปในแหล่งน้ำจืด ภัยแล้งและน้ำท่วมที่เพิ่มมากขึ้นในเขตที่ราบปากแม่น้ำ โดยยังไม่ได้พูดถึงมลพิษสารเคมีทางการเกษตร ก็เป็นเรื่องยากที่จะโน้มน้าวเกษตรกรให้เปลี่ยนแปลง

"ความเชื่อของชาวนาคือปลูกข้าว 3 ครั้ง ซึ่งเราต้องอธิบายว่าการปลูกเพียง 2 ครั้งนั้นดีกว่า" นายเหวียน ต๋วน เหียบ จากบริษัท Co Do Agriculture กล่าว

ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา บริษัท Co Do ที่ดำเนินการโดยรัฐ แต่เป็นเรือธงต้นแบบของการพัฒนาอุตสหากรรม ได้กำหนดพื้นที่ปลูกข้าวที่ดีที่สุดในเขตที่ราบปากแม่น้ำและช่วยเหลือเกษตรกรขยายพื้นที่ทำการเกษตรของตัวเอง บริษัททำงานร่วมกับเกษตรกร 2,500 ครอบครัว บนที่ดินเกือบ 37,000 ไร่ ซึ่งเพียงพอสำหรับแต่ละครอบครัวที่จะดำเนินชีวิต โดยบริษัทลงทุนเมล็ดพันธุ์คุณภาพสูงและปรับปรุงระบบชลประทาน พร้อมทั้งให้คำแนะนำเกษตรกรเกี่ยวกับสารเคมีที่ดีที่สุด

"การปลูกข้าวสองครั้งนั้นยั่งยืนมากกว่าในระยะยาว ดินไม่เสื่อมสภาพ สิ่งแวดล้อมไม่เสียหาย และมูลค่าข้าวก็เพิ่มสูงขึ้น"เหวียน ต่วน เหียบ กล่าว

การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่คุกคามเขตที่ราบปากแม่น้ำ ตามการระบุของราเชล ไคท์ ผู้แทนพิเศษด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและรองประธานกลุ่มธนาคารโลก

ไคท์กล่าวว่า เวียดนามต้องคิดหนักว่าจะช่วยผู้คนเปลี่ยนจากเศรษฐกิจที่มีข้าวเป็นฐานไปเป็นการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ หรือพืชชนิดอื่นๆ ในขณะที่ความเสียหายของสิ่งแวดล้อมในการรักษาระดับการผลิตข้าวของประเทศก็เพิ่มสูง

เจิ่น หง็อค ถัค รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยข้าวเวียดนาม กล่าวว่า ระบบเขื่อนกั้นน้ำที่ป้องกันน้ำท่วมกำลังขัดขวางสารอาหารในดินจากการไหลได้อย่างอิสระ และเมื่อเวลาผ่านไป ความอุดมสมบูรณ์ในดินจะจางหายไป ด้านนักวิทยาศาสตร์ก็วุ่นอยู่กับความพยายามที่จะสร้างข้าวสายพันธุ์ใหม่ที่ใช้ปุ๋ยน้อยลงและอยู่รอดได้ในสภาพอากาศรุนแรง

"หากเกษตรกรไม่เปลี่ยนแปลง หากเราไม่สามารถค้นพบสายพันธุ์ข้าวใหม่ที่เหมาะสม มลพิษจะเพิ่มขึ้นและรายได้จะลดลง" เจิ่น หง็อค ถัค กล่าว และว่ามาตรการต่างๆ เหล่านี้มีความจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อรักษาพื้นที่ราบปากแม่น้ำของประเทศ.
กำลังโหลดความคิดเห็น