ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ถึงแม้ว่าเวียดนามจะให้การคุ้มครองปลาบึกในแม่น้ำโขง แต่ก็ยังมีการลักลอบนำปลาน้ำจืดตัวใหญ่ที่สุดของโลกสายพันธุ์นี้จากกัมพูชา เข้าไปจำหน่ายเพื่อเป็นอาหารในภัตตาคารหรูในเมืองใหญ่ สื่อในเวียดนามได้เปิดเผยเรื่องราวของปลาอีกตัวหนึ่ง ที่หนักเกิอบ 230 กิโลกรัม ซึ่งภัตตาคารใหญ่แห่งหนึ่งในนครโฮจิมินห์ ซื้อไปจากประเทศเพื่อนบ้าน และนำข้ามแดนไปชำแหละขึ้นโต๊ะ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า เป็นปลาบึกตัวใหญ่ที่สุดเท่าที่มีการบันทึกไว้ในประเทศ
เหตุเกิดในวันจันทร์ 3 พ.ย. ในเขตอำเภอที่ 7 ผู้จัดการภัตตาคารดังกล่าวเปิดเผยว่า ชาวประมงในกัมพูชาคนหนึ่งจับได้ในแม่น้ำโตนเลสาบโดยใช้อวน ปลามีน้ำหนักกว่า 226 กิโลกรัม ยาวกว่า 2 เมตร โดยซื้อจากพ่อค้าชาวเขมรคนหนึ่ง ใช้รถบรรทุกที่มีตู้แช่เย็นนำเข้าไปยังเวียดนาม และ จัดการชำแหละโดยทันที นับเป็นเป็นปลาบึกตัวใหญ่ที่สุดเท่าที่ภัตตาคารแห่งนี้เคยซื้อไปประกอบอาหารบริการลูกค้า
ผู้จัดการภัตตาคารไม่ยอมเปิดเผยเกี่ยวกับราคาซื้อขาย แต่หนังสือพิมพ์เตื่อยแจ๋ รายงานว่า ปลาบึกตัวโตขายกันในตลาดกิโลกรัมละไม่ต่ำกว่า 1.5 ล้านด่ง เพราะฉะนั้นปลาตัวนี้อาจจะมีราคาถึง 350 ล้านด่ง หรือประมาณ 16,600 ดอลลาร์ (กว่า 530,000 บาท)
ก่อนหน้านี้ไม่นาน ภัตตาคารอีกแห่งหนึ่งในเขตอำเภอที่้ 9 ได้ซื้อปลาบึกตัวหนึ่ง น้ำหนักราว 130 กก. จากชาวประมงใน จ.อานซยาง (An Giang) ทางภาคตะวันตกของเวียดนาม ที่จับขึ้นมาจากแม่น้ำโขง เมื่อข่าวแพร่สะพัดออกไป เหล่านักเปิบพิสดารก็แห่ไปที่ร้านอาหารแห่งนั้น เนื้อปลาบึกตัวใหญ่ก็หมดไปในชั่วพริบตา เตื่อยแจ๋กล่าว
ในเดือน ธ.ค.2556 ร้านอาหารแห่งหนึ่งในจังหวัดอานซยาง ซื้อปลาบึกขนาดใหญ่ตัวหนึ่ง จากชาวประมงในกัมพูชา ยาวประมาณ 3 เมตร น้ำหนักเกือบ 250 กิโลกรัม จับได้ในโตนเลสาบเช่นกัน ปลาตัวใหญ่ถูกนำขึ้นรถบรรทุกจากหมู่บ้านชาวประมงริมทะเลสาบใหญ่ ข้ามพรมแดนไปถึงร้านใน อ.ลอง ซเวียน (Long Xuyên) ในวันเดียวกัน แต่ผู้เกี่ยวข้องไม่ยอมเปิดเผยราคาซื้อขาย
ทางการเวียดนามได้ออกกฎหมายคุ้มครองปลา กับสัตว์น้ำหายากหลายชนิด ในเขตที่ทราบปากแม่น้ำโขง ซึ่งรวมทั้งปลาบึกเป็นกรณีพิเศษอีกด้วย เนื่องจากเมื่อก่อนปลายักษ์ชนิดนี้พบไม่บ่อยน้ำในเขตที่ราบปากแม่น้ำ แต่หลังจากปี 2554 ที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ในไทย ลาว และกัมพูชา มีผู้พบปลาบึกในแม่น้ำโขงกับในลำน้ำสาขามากขึ้น โดยเชื่อกันว่าจะเป็นปลาที่ถูกกระแสน้ำซัดลงไป จากดินแดนกัมพูชา และลาวในช่วงปลายปี 2554
ยังไม่มีผู้ใดทราบข้อมูลว่า เจ้าหน้าที่กัมพูชาอนุญาตให้จับ หรือซื้อขายปลาบึกได้อย่างไร เนื่องจากเป็นปลาที่ทางการให้การคุ้มครองและอนุรักษ์ โดยได้รับการสนับสนุนด้านวิชาการและการเงินจากองค์การอนุรักษ์ธรรมชาติและสภาพแวดล้อมหลายแห่ง เพื่อช่วยให้ปลาที่มีเฉพาะในแม่น้ำโขงชนิดนี้สามารถเจริญพันธุ์ในธรรมชาติได้ต่อไป
ในโตนเลสาบ ไม่เคยมีปลาบึกขนาดใหญ่ติดอวน หรือถูกจับได้มาหลายปีแล้ว เช่นเดียวกับใน จ.กระแจ๊ะ และ จ.สตึงแตร็ง ที่อยู่เหนือขึ้นไป ทำให้องค์การอนุรักษ์ธรรมชาติและสภาพแวดล้อมหลายแห่งแสดงความห่วงใยว่า ปลาน้ำจืดใหญ่ที่สุดในโลกชนิดนี้จะสูญพันธุ์จากธรรมชาติ.
.
เปิบข้ามพรมแดน Tuoi Tre Online
2
3
4
5
6