ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ปลาหมูที่ดูไม่ค่อยจะมีราคาค่างวดอะไรซึ่งพบเห็นกันทั่วไปในตลาดสดต่างจังหวัด กลายเป็นปลาเงินปลาทองในเวียดนาม เมื่อเกษตรกรหัวใสใน จ.อานซยาง (An Giang) เขตที่ราบปากแม่น้ำโขง จับพ่อพันธุ์แม่พันธุ์จากธรรมชาติไปเพาะเลี้ยงจนกลายเป็นฟาร์มใหญ่ ทำรายได้ให้แก่ครอบครัวของเกษตรกรผู้เลี้ยงปีละกว่า 1,000 ล้านด่ง หรือกว่า 1,500,000 บาท
ตามรายงานของเกียนถึก (ความรู้) ออนไลน์ เริ่มต้นโดยครอบครัวของ นายบุ่ยจี่ลีง (Bui Chi Linh) เมื่อปี 2553 บัดนี้ในเขต อ.โด่งฝู (Dong Phu) จ.อานซยาง ที่มีชายแดนติดกับประเทศกัมพูชา เกษตรกรกำลังขยายการเพาะเลี้ยงออกไปอย่างกว้างขวาง รวมแล้วประมาณ 50 ครอบครัว ส่วนใหญ่เลือกปลาหมูหางส้ม หรือปลาหมูหางเหลือง รวมทั้งปลาหมูหางแดงด้วย
ปลาหมูหางเหลือง หรือ “หมูส้ม” พบทั่วไปในเขตลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา กับแม่น้ำโขง ในเวียดนามมีชุกชุมในลำน้ำเหิ่ว (Hau) กับลำน้ำเตี่ยน (Tien) ซึ่งเป็นสาขาของแม่น้ำโขงในเขตที่ราบปากแม่น้ำ ซึ่งเมื่อก่อนนี้ไม่ได้มีผู้ใดสนใจมากนัก ชาวนาจับขึ้นมาเป็นอาหารตามธรรมชาติ
อย่างไรก็ตาม ปลาหมูเป็นปลาน้ำจืดประเภทปลาหนังที่เนื้อมีกลิ่นหอม นุ่มอร่อย และมัน ตัวโตขนาดเท่าๆ ฝ่ามือเป็นที่ต้องการมาก และขายได้ราคาสูงมาก ภัตตาคารใหญ่ในนครโฮจินห์ และในจังหวัดต่างๆ นำไปทำเป็นเมนูต้มยำ แกง หรือเพียงแต่ย่างเกลือกระเทียม ซึ่งให้รสชาติเอร็ดอร่อยอย่างยิ่ง
ตามรายงานของเกียนถึกออนไลน์ ปลาหมูเลี้ยงง่าย ทำกระชังขนาด 2.6x3.6 เมตร ลึกราว 2 เมตร มีตาข่ายลวด 2 ชั้น โดยชั้นในใช้ลวดตาถี่กว่าชั้นนอกป้องกันการเล็ดลอดออก และป้องกันการรังควานจากนักล่าที่เป็นศัตรูตามธรรมชาติ และจะต้องเลี้ยงในน้ำสะอาดปราศจากมลพิษ มีน้ำไหลอื่อยๆ ระบายเทำความสะอาด อาหารหลักที่ใช้เลี้ยงคือ ปลาสับ โดยใช้เศษปลาทะเล หรือปลาน้ำจืดก็ได้ ผสมรำข้าว 30/70 เปอร์เซ็นต์ ให้วันละ 2 ครั้ง ตอนเช้า และค่ำหลังตะวันตกดิน ไม่กี่เดือนจะได้ปลาตัวขนาดเท่า 3 นิ้วมือ น้ำหนัก 100-150 กรัม ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาด
อย่างไรก็ตาม เกษตรกรหลายครอบครัวขยายกระชังให้มีขนาดใหญ่ขึ้นเป็น 3x4 เมตร เพื่อเลี้ยงจนครบ 10 เดือน ซึ่งจะได้ปลาตัวขนาดโตเต็มที่รวมน้ำหนักกระชังละ 600 กิโลกรัมเลยทีเดียว ถ้าหากเลี้ยงในกระชังขนาดเล็กที่คับแคบ ปลาอยู่กันอย่างแออัด ก็จะทำให้การเติบโตช้าลง และไม่ได้น้ำหนักที่ต้องการ
ในช่วงเดือน ก.ค.-ต.ค.นี้ เป็นฤดูที่พวกปลาหมูแพร่พันธุ์มากที่สุดในแถบที่ราบปากแม่น้ำโขง เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกำลังออกแสวงหาแม่ปลาพ่อปลารุ่นใหม่ในลำน้ำเตี่ยน กับลำน้ำเหิ่ว เพื่อนำไปขยายพันธุ์โดยวิธีผสมเทียม แม่ปลาที่สมบูรณ์แต่ละตัวจะให้ลูก 150-180 ตัว เกียนถึกกล่าว
นายบุ่ยจี่ลีง ให้สัมภาษณ์เมื่อเร็วๆ นี้ว่า เมื่อปี 2553 ซึ่งเป็นปีแรกที่เลี้ยง “หมูส้ม” ครอบครัวของเขาทำกำไรได้กว่า 700 ล้านด่ง (1 ล้าน 6 หมื่นบาทเศษ) เมื่อปีที่แล้วกำไรเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 1,000 ล้าน (กว่า 1 ล้าน 5 แสนบาท) จากการเลี้ยงจำนวน 10 กระชัง ครอบครัวอื่นๆ ก็เช่นเดียวกันซึ่งทำให้ทุกคนทิ้งปลาช่อน-ปลาไหลที่เคยเลี้ยงหันมาหาปลาหมู
.
เลี้ยงแล้วรวยเลย เกียนถึกออนไลน์
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
ราษฎรชาวไร่ชาวนาในเขตที่ราบปากแม่น้ำโขง จับปลาหมูที่เติบโตในธรรมชาติตามลำน้ำคลองได้มากในช่วงปลายปีคือ ระหว่างเดือน ต.ค.-พ.ย. ปัจจุบันมีผู้เพาะเลี้ยงหลายรายออกกว้านซื้อและนำกลับลงกระชังเพื่อ “ขุน” ต่อไปให้ได้ขนาดที่ตลาดต้องการ ช่วยประหยัดทั้งเวลาและต้นทุน
นางเหวียนถิหง็อกจีง (Nguyen Thi Ngoc Trinh) ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยการประมง จ.อานซยาง บอกแก่เกียนถึกว่า การเลี้ยงปลาหมูให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจสูงกว่าการเลี้ยงปลาช่อนถึง 10 เท่า ปัจจุบันในแถบภาคตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ ซื้อขายกันในราคาเฉลี่ย กก.ละ 300,000 ด่ง และสูงถึง 320,000 ด่ง ในฤดูแล้ง พ่อค้าคนกลางจะนำส่งภัตตาคารในราคาตั้งแต่ 400,000 ด่ง/กก.ขึ้นไป (อัตราแลกเปลี่ยน 21,000 ด่ง/ดอลลาร์)
ไม่เพียงแต่นิยมบริโภคกันในโฮจิมินห์เท่านั้่น ปัจจุบันปลาหมูส้มยังเป็นที่ต้องการของภัตตาคารใหญ่ๆ ในย่านเพาะเลี้ยง รวมทั้งในกัมพูชาด้วย ซึ่งทำให้ราคาปลาสูงขึ้นไปอีก ทั้งนี้ เนื่องจากในกัมพูชาเองเกิดอุทกภัยใหญ่มาทุกปีทำให้ปลาชนิดนี้หายากขึ้น
นอกจากปลาหมูหางเหลือง/หางแดง จะมีเนื้ออร่อยแล้ว ยังมีลำตัวสีฟ้าสวยงามเป็นมันวาวที่ นักเลี้ยงปลาตู้นิยม กันอีกด้วย ตัวโตๆ ขนาดวางเต็มฝ่ามือมีประกาศขายผ่านเว็บไซต์หลายแห่งในราคาตัวละ 250-300 บาท.