เอเอฟพี - ทางการพม่ารับจะสืบสวนการเสียชีวิตของ 2 ครูสาว ที่นักเคลื่อนไหวอ้างว่าถูกทหารของกองทัพพม่าฆ่าข่มขืน ขณะที่ผู้คนจำนวนมากรวมตัวกันท่ามกลางความโกรธแค้นต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้
ร่างของ 2 หญิงสาว อายุ 20 ปี และ 21 ปี ที่ถูกทารุณอย่างโหดร้าย ถูกพบเมื่อวันจันทร์ (19) ในหมู่บ้านห่างไกลในรัฐชาน ทางภาคเหนือของประเทศ ที่ทั้ง 2 เข้าไปสอนหนังสือเด็กในนามคณะคริสตจักรกะฉิ่นแบ๊บติสท์ (KBC) ตามการระบุของโฆษกกลุ่ม KBC
ภาพศพของ 2 หญิงสาว ถูกเผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์อย่างกว้างขวาง สร้างความโกรธแค้นให้แก่ผู้คนในรัฐชาน และรัฐกะฉิ่นที่ตกอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างกองทัพทหารพม่า และกลุ่มกบฏชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
“เจ้าหน้าที่ตำรวจ และรัฐบาลท้องถิ่นกำลังสืบสวนเหตุที่เกิดขึ้น ผู้คนต่างกล่าวกันว่า เป็นการกระทำของกองทัพ แต่เราจำเป็นต้องหาหลักฐาน พวกเขาไม่สามารถกล่าวโทษได้” โฆษกสำนักงานประธานาธิบดีกล่าว และว่าหากทหารกระทำความผิดดังกล่าวจริง รัฐบาลจะดำเนินมาตรการอย่างเข้มงวด
ขณะเดียวกัน รัฐบาลระบุว่าไม่พอใจต่อคำแถลงของสหรัฐฯ ที่เรียกร้องให้สืบสวนเหตุที่เกิดขึ้น โดยระบุว่า วอชิงตันควรเคารพสิทธิอธิปไตยของประเทศพม่า
สงครามกลางเมืองซึ่งเกิดขึ้นตามพื้นที่ชนกลุ่มน้อยในทั่วประเทศมานานกว่าครึ่งศตวรรษ ได้ทิ้งปมความไม่ไว้วางใจต่อกองทัพที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำการล่วงละเมิดอย่างร้ายแรงโดยไม่ต้องรับโทษ
“เหยื่อเสียชีวิตไปแล้ว และไม่สามารถชี้ได้ว่าใครเป็นผู้กระทำ แต่ทุกคนในพม่า ไม่เพียงแค่คนกะฉิ่น รู้ข้อเท็จจริง” ลามา ยอ โฆษก KBC อ้างว่าทหารเป็นผู้รับผิดชอบต่อเหตุการณ์นี้
รัฐบาลกำหนดให้การทำข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศเป็นประเด็นหลักของการดำเนินการปฏิรูป แต่การต่อสู้รุนแรงในรัฐกะฉิ่น ได้บดบังความพยายามที่จะเจรจาสันติภาพ ขณะเดียวกัน ประชาคมโลกต่างวิตกว่า พม่ากำลังก้าวถอยในกระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตย
“เราเรียกร้องให้ทางการเข้าสืบสวนคดีอาญานี้ และนำผู้กระทำผิดมาลงโทษด้วยวิธีที่น่าเชื่อถือและโปร่งใส” เจน ซากี โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวเมื่อวันพุธ (21)
ลามา ยอ กล่าวว่า เขาเดินทางมาพร้อมกับขบวนแห่ศพของ 2 ครูสาวไปยังเมืองมิตจีนา เมืองเอกของรัฐกะฉิ่น ที่ครอบครัวทั้งคู่รอจัดงานศพ ตลอดการเดินทาง 2 วัน ผู้คนจำนวนมากต่างรอต้อนรับ
“แม้อากาศจะเย็นเฉียบ แต่ผู้คนก็เฝ้ารอพวกเรา” ลามา ยอ กล่าว
การต่อสู้ระหว่างกองทัพทหารพม่า และกองทัพกะฉิ่นอิสระ (KIA) ปะทุขึ้นในปี 2554 หลังข้อตกลงหยุดยิง 17 ปี สิ้นสุดลง ทำให้มีผู้พลัดถิ่นจากความรุนแรงมากถึง 100,000 คน
และในปีที่ผ่านมา กองทัพยอมรับว่า กองกำลังทหารของตนยิงนักข่าวอิสระที่ควบคุมตัวไว้ โดยอ้างว่า ผู้เสียชีวิตทำงานให้แก่กลุ่มติดอาวุธในรัฐมอญ แต่ครอบครัวของผู้ตายปฏิเสธคำกล่าวอ้างดังกล่าว.