ASTVผู้จัดการออนไลน์ - หลายปีมานี้ชาวไทยนับหมื่นๆ ที่เคยเดินทางไปยังเมืองหลวงพระบาง ได้มีโอกาสเข้านมัสการพระคู่บ้านคู่เมืองของชาวกรุงเก่าอาณาจักรล้านช้าง แต่จะมีสักกี่คนเคยเฉลียวใจบ้างว่า พระบางที่กราบไหว้มาตลอดนั้นเป็นองค์ปลอม เพราะฉะนั้นองค์ที่อัญเชิญออกจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้สรงน้ำในเทศกาลสงกรานต์ทุกปีที่ผ่านมา ก็จึงเป็นพระบางปลอม ส่วนองค์จริงไม่ได้ประดิษฐานอยู่ในหลวงพระบางมานานหลายสิบปีจนกระทั่งเมื่อปลายปีที่แล้ว แต่เพิ่งจะมีการเปิดเผยเรื่องนี้ในรายละเอียด
ในกลางเดือน ธ.ค.2556 รัฐบาลลาวได้อัญเชิญพระบาง จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติซึ่งก็คือพระราชวังเก่า เพื่อเข้า ประดิษฐานภายในหอเก็บแห่งใหม่ เป็นการถาวร “หอพระบาง” ดังกล่าวใช้เวลาก่อสร้างมานานมาเป็นเวลาหลายปี มีความงดงาม วิจิตร และดูอลังการยิ่ง ครั้งนั้น พล.ท.จูมมะลี ไซยะสอน ผู้นำสูงสุด ได้เดินทางไปเป็นประธานพิธีอัญเชิญด้วยตัวเอง มีผู้นำระดับสูงอีกหลายไปร่วมด้วย
เวลาผ่านไปเกือบปี จนบัดนี้ก็มีไม่กี่คนที่ทราบความจริงว่า พระบางองค์ที่อัญเชิญไปประดิษฐานในหอดังกล่าวเป็นองค์จริงที่ถูกนำไปประดิษฐานไว้ที่อื่นและอัญเชิญกลับไป หรือเป็นองค์เก่าที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์หลวงพระบางมานานแล้ว ถึงแม้ว่าสื่อของทางการจะเผยแพร่ภาพ และข่าวเกี่ยวกับงานพิธีครั้งนั้นอย่างครึกโครมก็ตาม แต่ก็ไม่มีสำนักใดให้รายละเอียดทั้งหมด ท่ามกลางความสงสัยของสาธารณชน
ไม่เฉพาะแต่พุทธศาสนิกชนชาวไทยเท่านั้นที่ไม่เคยทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้ ชาวลาวแท้ๆ จำนวนไม่น้อย ต่างก็แสดงความงุนงง เมื่อมีการนำเอาภาพเหตุการณ์มาเผยแพร่อีกครั้งหนึ่ง ในเว็บบล็อกของ “ผู้รู้” คนหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นภาพถ่ายอีกภาพนึ่งในพิธีเมื่อเดือน ธ.ค.2556 ซึ่่งในครั้งนั้นไม่มีคำอธิบายใดๆ และไม่มีผู้ใดทราบว่าเป็นอะไรเป็นอะไร หรือ องค์ไหนเป็นองค์ไหน แต่ครั้งนี้ “ผู้รู้” ได้เขียนให้ความรู้ว่า นี่คือ พระบาง พระองค์จริงที่อัญเชิญไปจากนครเวียงจันทน์ และนำเข้าประดิษฐานอย่างถาวรภายในหอพระบางแห่งใหม่ ที่มีระบบรักษาความปลอดภัยแน่นหนา
พระบาง นับเป็นปูชนียวัตถุล้ำค่าคู่กาลเวลา มีตำนานบอกเล่าความเป็นมาย้อนหลังไปนานนับพันปี เคยประดิษฐานในหลายแห่ง รวมทั้งเคยอัญเชิญมาประดิษฐานในกรุงเทพฯ ถึงสองครั้งสองครา ก่อนจะอัญเชิญกลับไปยังราชอาณาจักรลาวล้านช้าง-เวียงจันทน์ แม้กระทั่งในดินแดนลาวเองในช่วงหลายร้อยปีมานี้ก็เคยประดิษฐานในหลายที่ รวมทั้งที่เมืองเวียงคำ แขวงเวียงจันทน์ในปัจจุบัน และที่วัดนะโนลม วัดวิซุนนะลาด (วัดพระธาตุหมากโม) และวัดใหญ่ แห่งเมืองหลวงพระบางด้วย องค์พระเป็นสำริดที่ประกอบด้วยเนื้อทองคำแท้ 90% รวมน้ำหนักกว่า 50 กิโลกรัม สเปกทุกอย่างของพระบางองค์จำลองกับองค์จริง ทำขึ้นมาเหมือนกันทุกกระเบียด นับเป็นกลยุทธ์ลับลวงพรางอันเยี่ยมยอดของรัฐบาลคอมมิวนิสต์ลาว ในการตบตาพวกหัวขโมยของเก่าทั้งหลาย
.
2
3
อย่างไรก็ตาม ข่าวเล่าลือเกี่ยว “ของปลอม” ในหลวงพระบางนั้นมีมานานแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ กระแสที่ว่า นายไกสอน พมวิหาน อดีตผู้นำสูงสุดได้นำพระบางองค์จริงไปประดิษฐานไว้ในพิพิธภัณฑ์กรุงมอสโก สหภาพโซเวียต มาตั้งแต่หลังการปลดปล่อย ทั้งนี้ เพื่อให้โบราณวัตถุล้ำค่าของชนชาติลาวมีความปลอดภัย นั่นคือ หลังจากทางการคอมมิวนิสต์ได้เข้าควบคุมกษัตริย์พระองค์สุดท้ายของราชอาณาจักร กับบรรดาเชื้อพระวงศ์ และอัญเชิญพระองค์ออกจากพระราชวังหลวง
ข่าวเล่าลือที่ไม่เป็นมงคลยังลือต่อไปว่า เวลาต่อมา รัสเซียในยุคใหม่ปฏิเสธที่จะคืนพระบางให้แก่ สปป.ลาว เนื่องจากติดค้างทั้งเงินกู้ และเงินค่าอาวุธยุทธปัจจัยต่างๆ มาตั้งแต่ยุคสหภาพโซเวียต ซึ่งเป็นเงินหลายพันล้านดอลลาร์ ลาวจะต้องใช้หนี้ให้ครบทั้งหมดก่อน รัสเซียจึงจะส่งพระบางคืน .. เพราะฉะนั้น องค์ที่ประดิษฐานอยู่ในหลวงพระบาง ก็จึงเป็นพระบางองค์จำลองมาตลอด ซึ่งทางการคอมมิวนิสต์ก็ไม่เคยหวั่นไหวต่อข่าวเล่าลือที่ว่านี้ และดูเป็นเรื่องดีเสียอีก
“ผู้รู้” เขียนลงในเว็บบล็อกเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า แท้จริงแล้วพระบางองค์แท้ ถูกอัญเชิญจากหลวงพระบาง ไปประดิษฐานไว้ที่ธนาคารแห่งปะเทดลาว หรือธนาคารแห่งรัฐลาวเมื่อก่อน มาตั้งแต่เกือบ 40 ปีก่อนโน้้น และเพิ่งจะได้กลับไปยังหลวงพระบาง “เมื่อเร็วๆ นี้”
แน่นอน.. ย่อมจะไม่มีการยืนยันเรื่องนี้อย่างเป็นทางการอีกเช่นเคย.