เอเอฟพี - สหรัฐฯ และยุโรป เล่นงานภาคพลังงาน กลาโหมและสถาบันการเงินหลักของรัสเซีย ด้วยมาตรการคว่ำบาตรรอบใหม่ในวันอังคาร (29 ก.ค.) ตอบโต้กรณีมอสโกแทรกแซงวิกฤตเคียฟ หลังหมดความอดทนจากโศกนาฏกรรมเที่ยวบิน MH17 ถูกยิงตกทางภาคตะวันออกของยูเครน ซึ่งอเมริกาและพันธมิตรฟากฝั่งแอตแลนติกกล่าวหาว่าเป็นฝีมือของฝ่ายกบฏนิยมเครมลิน
ประธานาธิบดีบารัค โอบามาแห่งสหรัฐฯ แถลงในวันอังคาร (29) ว่ามาตรการทางเศรษฐกิจที่กว้างขวางขึ้นนี้จะกัดเซาะความสามารถของธนาคารต่างๆ ของมอสโกในการเข้าถึงดอลลาร์ ในการโจมครั้งหนักหน่วงที่สุดต่อเศรษฐกิจรัสเซีย นับตั้งแต่พญาหมีขาวเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับความขัดแย้งในยูเครน
“มาตรการคว่ำบาตรครั้งสำคัญที่เรากำลังแถลงในวันนี้ จะก่อแรงกดดันอย่างไม่ลดละต่อรัสเซีย ในนั้นรวมถึงพวกพ้องและบริษัทต่างๆ ที่สนับสนุนกิจกรรมผิดกฎหมายของรัสเซียในยูเครน” ประธานาธิบดีสหรัฐฯ บอก
อย่างไรก็ตาม โอบามาปฏิเสธว่าตะวันตกไม่ได้ประสงค์ดึงคู่อริอดีตสหภาพโซเวียตเข้าสู่สงครามเย็นรอบใหม่ แต่ก็เตือนว่าสหรัฐฯและยุโรป กำลังหมดความอดทนกับรัฐบาลของนายวลาดิมีร์ ปูติน “วันนี้คือการเพิ่มเติมมาตรการจากที่เราแถลงเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน สหรัฐฯ กำลังกำหนดมาตรการคว่ำบาตรในภาคสำคัญๆ ของรัสเซีย ไม่ว่าจะเป็นพลังงาน อาวุธยุทโธปกรณ์และสถาบันการเงิน”
“เรากำลังปิดกั้นการส่งออกสินค้าและเทคโนโลยีอย่างเฉพาะเจาะจงต่อภาคพลังงานรัสเซีย เรากำลังขยายมาตรการคว่ำบาตรต่อธนาคารต่างๆ ของรัสเซียและบริษัทด้านกลาโหมเพิ่มเติม เรากำลังระงับอย่างเป็นทางการต่อเครดิตและแหล่งทุนสำหรับโครงการพัฒนาทางเศรษฐกิจต่างๆ ในรัสเซีย”
ก่อนหน้านี้ในวันเดียวกัน ทางกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ได้ใส่ชื่อ 3 สถาบันทางการเงิน ได้แก่ ธนาคารวีทีบี และแบงก์ ออฟ มอสโก ซึ่งเป็นธนาคารในเครือ รวมถึงธนาคารเพื่อการเกษตรของรัสเซีย เพิ่มเติมเข้าไปในบัญชีคว่ำบาตรเรียบร้อยแล้ว
ในส่วนของอียู หลังมีท่าทีลังเลใจมานานหลายเดือน ในที่สุดเมื่อวันอังคาร (29) ก็เห็นพ้องกำหนดมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจตอรัสเซีย ด้วยหวังว่ามันจะเป็นสัญญาณเตือนอย่างแข็งกร้าว ให้มอสโกเปลี่ยนวิถีทางในยูเครน ท่ามกลางการสู้รบอันหนักหน่วงรอบเมืองต่างๆที่ยึดครองโดยฝ่ายกบฏฝักใฝ่เครมลิน
แต่ในเวลาเดียวกัน ทางสหภาพยุโรปก็บอกกับมอสโกว่าหากยอมทบทวนนโยบายต่อยูเครน ทางกลุ่ม 28 ชาติสมาชิกก็อาจเปลี่ยนวิถีทางของการคว่ำบาตรเช่นกัน แม้ว่ามันอาจสร้างความเสียหายไปแล้วก็ตาม
มาตรการใหม่นี้ได้กำหนดข้อจำกัดต่างๆทางภาคการเงิน กลาโหมและพลังงาน เพื่อให้รัสเซียต้องชดใช้เจ็บปวดยิ่งขึ้นต่อกรณีที่ยังแทรกแซงในยูเครน โดยเน้นว่าธนาคารแห่งรัฐของมอสโกจะเข้าถึงตลาดการเงินสหภาพยุโรปอย่างจำกัด นั่นหมายความว่าคงต้องมีต้นทุนเพิ่มเติม ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่กำลังกระเสือกกระสนของรัสเซีย
หลายเดือนนับตั้งแต่วิกฤตปะทุขึ้นในเดือนพฤศจิกายน อียูจำกัดตนเองอยู่แค่มาตรการที่เรียกว่า “ขั้น 2” นั่นคืออายัดทรัพย์สินและสั่งแบนวีซากับเหล่าผู้ที่เกี่ยวข้องหรือแสวงหาผลประโยชน์จากวิกฤตยูเครน บ่งชี้ว่าความเคลื่อนไหวของยุโรปถูกสกัดกลั้นจากความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจอันกว้างขวางกับรัสเซีย ชาติผู้ป้อนแก๊สถึง 1 ใน 3 ที่ใช้ในอียู รวมทั้งยังเป็นพันธมิตรทางการค้าที่สำคัญด้วย
ท่าทีดังกล่าวก่อเสียงคร่ำครวญจากสหรัฐฯ ว่ายังไม่เพียงพอ อย่างไรก็ตาม หลังโศกนาฏกรรมเครื่องบินของสายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์ส เที่ยวบิน MH17 ถูกยิงตก ทางยุโรปก็มีการเปลี่ยนความคิดอย่างกะทันหัน ไม่เว้นแม้กระทั่งชาติที่สงวนท่าทีมาโดยตลอดอย่างเยอรมนีและอิตาลี ซึ่งท้ายที่สุดระหว่างการประชุมในบรัสเซลส์ ก็มีมติออกมาตการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจที่เรียกว่า “ขั้น 3” ขยายบทลงโทษที่มีต่อรัสเซีย