ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ทางการพม่าได้ประกาศเดินเครื่องพัฒนาเขตเศรษฐกิจทวายในเฟสที่ 1 เดือน พ.ย.-ธ.ค.นี้ ประเดิมด้วยการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อนจากแก๊สธรรมชาติขนาด 15 เมกะวัตต์ เป็นแห่งแรก เพื่อสนองความจำเป็นที่จะต้องใช้ในระยะเริ่มแรก อีกแห่งหนึ่งซึ่งจะมีกำลังปั่นไฟถึง 450 เมกะวัตต์ จะติดตามกันออกมา และกำลังจะมีการก่อสร้างถนนที่ยังคั่งค้างอยู่ต่อไป เพื่อเชื่อมกับชายแดนไทยให้แล้วเสร็จ สื่อของทางการรายงาน
นายเอมี้น (Aye Myint) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน การจ้างงานและความมั่นคงทางสังคม ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการดำเนินการเขตเศรษฐกิจทวาย เป็นผู้เปิดเผยเรื่องนี้ในวันพุธ 22 ต.ค. โดยระบุด้วยว่า โรงไฟฟ้าทั้ง 2 แห่งจะใช้แก๊สธรรมชาติควบแน่น (CNG) ที่ “ซื้อจากต่างประเทศช” หนังสือพิมพ์โกบอลนิวไล้ท์ออฟเมียนมาร์ รายงานเรื่องนี้ในฉบับพฤหัสบดี โดยไม่ได้กล่าวถึงรายละเอียดว่าจะนำเข้าจากแหล่งใด และด้วยเหตุใด ในขณะที่พม่าเป็นผู้ผลิตและส่งออกแก๊สธรรมชาติรายใหญ่ในย่านนี้
สื่อของทางการไม่ได้ให้รายละเอียดอื่นใดอีกเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าพลังความร้อนจาก CNG แห่งที่ 2 ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าถึง 30 เท่าตัว
เมื่อปีที่แล้ว ประธานาธิบดีเต็งเส่ง ได้สั่งล้มเลิกโครงการโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่อีกแห่งหนึ่งในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งจะใช้พลังงานความร้อนจากถ่านหิน โดยบริษัทผู้ลงทุนจากไทย หลังจากโครงการดังกล่าวถูกคัดค้านอย่างหนัก ทั้งจากราษฎรในพื้นที่ และจากนักอนุรักษ์สภาพแวดล้อม
เขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ โซนเริ่มแรกสำหรับอุตสาหกรรมขนาดย่อม และแบ่งเป็น 3 เฟส โดยเริ่มจากพื้นที่เพียง 1,500 เอเคอร์ (3,750 ไร่) ก่อน ส่วนโซนที่ 2 จึงจะเป็นเขตสำหรับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่
“การดำเนินการส่วนเริ่มแรกจะเริ่มขึ้นในเดิอนพฤศจิกายน หรือธันวาคมศกนี้ บนเนื้อที่ 6,000 เอเคอร์ (15,000 ไร่) รวมทั้งการพัฒนายกระดับถนนที่เชื่อมเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย สร้างท่าเรือขนาดเล็ก ก่อนที่จะมีการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกทวายติดตามมา ดำเนินการจัดหาน้ำ และพลังงานสนับสนุนโครงการพัฒนาต่างๆ” หนังสือพิมพ์ฉบับเดียวกันอ้าง นายเอมี้น
อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีผู้รับผิดชอบทางฝ่ายพม่าไม่ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับจำนวนเงิน ตลอดจนแหล่งที่มาของเงินทุนที่จะใช้ดำเนินการ แต่การประกาศเรื่องนี้มีขึ้นไม่นานหลังจากทางการญี่ปุ่นจะขอศึกษาทั้งโครงการอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งสื่อในพม่ารายงานเมื่อเร็วๆ นี้ว่า ญี่ปุ่นจะใช้เวลาจนถึงเดือน มี.ค.ปีหน้า ด้วยงบประมาณ 700,000 ดอลลาร์ เพื่อดูว่าจะฟื้นฟูอะไรได้บ้าง และอะไรที่อาจจะไม่น่าสนใจ
หลายฝ่ายมองว่า ฝ่ายญี่ปุ่นได้ตอกย้ำให้เห็นความไม่แน่ใจในความเป็นไปได้ของโครงการเขตเศรษฐกิจตพิเศษทวาย และซื้อเวลาโดยการเตะถ่วงโครงการออกไป
การดำเนินการโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายโดยเอกชนจากไทยได้หยุดชะงักมานานข้ามปี ทำให้การก่อสร้างต่างๆ หยุดชะงักลงเกือบจะสิ้นเชิงตั้งแต่ปีที่แล้ว ทั้งนี้ เนื่องจากผู้ลงทุนจากไทย ไม่สามารถระดมทุน หรือหาหุ้นส่วนจากต่างประเทศได้ตามที่คาดหวัง ซึ่งการก่อสร้างเต็มโครงการจะต้องใช้เงินลงทุนหลายหมื่นล้านดอลลาร์
รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ตัดสินใจเข้าอุ้มโครงการนี้ โดยร่วมกับทางการพม่า ซึ่งทำให้เขตเศรษฐกิจพิเศษทวายกลายเป็นโครงการร่วมมือระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาล โดยจะต้องชดใช้เงินกว่าหนึ่งพันล้านดอลลาร์ให้แก่บริษัทไทยที่อ้างว่าได้ลงทุนไปก่อนหน้านี้ และได้ร่วมกับฝ่ายพม่าชักชวน ผลักดันให้รัฐาลญี่ปุ่นเข้าเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ด้วย
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลญี่ปุ่นไม่ได้แสดงท่าทีให้ความสนใจมาตั้งแต่เริ่มต้น ในขณะที่ให้การสนับสนุนอย่างเต็มกำลังต่อโครงการลงทุนของเอกชนญี่ปุ่นในการก่อสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษติลาวาที่บริเวณท่าเรือย่างกุ้ง ในกรุงเก่าของพม่า ซึ่งญี่ปุ่นถือเป็น “โครงการเรือธง“” เพื่อแสดงให้เห็นระดับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ และการเมืองกับรัฐบาลกึ่งพลเรือนของประเทศนี้
โครงการทวาย ไม่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนจีนแม้แต่น้อย เนื่องจากจีนเองกำลังเร่งพัฒนาก่อสร้าง “ระเบียงขนส่งตะวันออก-ตะวันตก” ขึ้นทางตอนเหนือของพม่า คู่ขนานกับระบบท่อส่งน้ำมันดิบ และแก๊สพม่า-จีน ที่เปิดดำเนินการ 2 ปีที่แล้ว ถนนกับทางรถไฟสายใหมที่อยู่ในขั้นตอนศึกษาและออกแบบ จะเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าออกสู่มหาสมุทรอินเดียสั้่นที่สุดสำหรับจีน โดยเริ่มจากมณฑลหยุนหนัน.
.
2
3