xs
xsm
sm
md
lg

RATCHหวั่นโรงไฟฟ้าเชียงตุงปิ๋วจ่อทบทวนขายให้เมียนมาร์เพิ่ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ผลิตไฟฟ้าราชบุรีฯเตรียมทบทวนเงื่อนไขการขายไฟในโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่เชียงตุง ประเทศเมียนมาร์ โดยจะเพิ่มสัดส่วนขายไฟป้อนเมียนมาร์มากขึ้นจากเดิม 10% หลังมีสิทธิ์ปิ๋วไม่ได้อนุมัติ เหตุเมียนมาร์ต้องการให้โรงไฟฟ้าขายไฟในประเทศมากกว่าส่งขายเพื่อนบ้าน

นายพงษ์ดิษฐ พจนา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน)(RATCH) เปิดเผยความคืบหน้าการลงทุนโรงไฟฟ้าในต่างประเทศว่า บริษัทเตรียมทบทวนเงื่อนไขการขายไฟฟ้าในโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่เชียงตุง ประเทศเมียนมาร์ ขนาดกำลังผลิต 600 เมกะวัตต์ จากเดิมที่ขายในเมียนมาร์ 10% ที่เหลือส่งขายเข้าประเทศไทย
เนื่องจากรัฐบาลเมียนมาร์อยากให้มีการจ่ายไฟฟ้าในประเทศมากกว่าการส่งขายไปต่างประเทศ

ที่ผ่านมา บริษัทฯได้ส่งผลศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินปากเหมืองที่เชียงตุงตั้งแต่เดือนเมษายน หลังจากได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงเบื้องต้น(เอ็มโอยู)ไปแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการอนุมัติผลการศึกษาดังกล่าวจากภาครัฐ จึงยังไม่ได้ทำผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ)ได้

“ โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเชียงตุงมีแผนจะขายไฟฟ้าป้อนในพื้นที่ดังกล่าวเพียง 10 %ของกำลังผลิต เนื่องจากความต้องการใช้ไฟในพื้นที่บริเวณนั้นไม่มาก แต่เมียนมาร์อยากให้สร้างโรงไฟฟ้าเพื่อประโยชน์ในการใช้ภายในประเทศมากกว่าส่งขายไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนหน้านี้ตนได้เดินทางไปเมียนมาร์ทางเจ้าหน้าที่รัฐอยากให้บริษัทฯทบทวนการจ่ายไฟฟ้าในประเทศเมียนมาร์จากเดิม 10%ให้เพิ่มมากกว่านี้ มิฉะนั้นโครงการดังกล่าวอาจไม่ผ่านการอนุมัติได้ ซึ่งเรื่องนี้บริษัทคงต้องมีการทบทวนและหารือกับรัฐบาลเมียนมาร์ใหม่ภายใต้เงื่อนไขว่าโครงการนี้ต้องมีผลตอบแทนการลงทุนที่คุ้มค่าเชิงพาณิชย์ด้วย เพราะหากต้องลดขนาดโครงการลงอาจทำให้ต้นทุนค่าไฟสูงเกินไป ก็จะเป็นอุปสรรคในการขายไฟฟ้ากลับไทยได้ ”

นายพงษ์ดิษฐ กล่าวต่อไปว่า บริษัทฯยังเตรียมยื่นข้อเสนอครั้งสุดท้ายในการประมูลโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงขนาดกำลังผลิต 200 เมกะวัตต์ที่เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมาร์ในเดือนกันยายนนี้ หลังจากได้เลื่อนการปิดรับซองประมูลมา 2
เดือนเนื่องจากมีผู้ผ่านการคัดเลือกในรอบแรกหลายรายสอบถามรายละเอียดต่างๆเพราะเงื่อนไขในทีโออาร์ไม่นิ่ง คาดว่าจะรู้ผลการประมูลโครงการดังกล่าวในเดือนตุลาคมนี้ โครงการนี้นับเป็นโครงการโรงไฟฟ้าต้นแบบที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (พีพีเอ)ระหว่างรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าของเมียนมาร์กับบริษัทเอกชน

ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 2,500 เมกะวัตต์ที่มะริด ประเทศเมียนมาร์ ขณะนี้บริษัทฯอยู่ระหว่างยื่นเพื่อขอลงนามบันทึกช่วยจำ (เอ็มโอยู)เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการกับการไฟฟ้าของเมียนมาร์และรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมคาดว่าจะได้ข้อสรุปในเดือนกันยายนนี้ และจะใช้เวลาในการทำผลการศึกษาฯ 8-12 เดือน เนื่องจากขนาดโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่มะริดมีขนาดใหญ่ 2,500 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุน 5-6 พันล้านเหรียญสหรัฐ จึงแบ่งการพัฒนาโครงการออกเป็น 2 ระยะๆละ 2 ยูนิต โดยจะใช้ถ่านหินคุณภาพดีนำเข้าจากต่างประเทศเป็นหลัก โดยโครงการนี้ได้ผ่านการเห็นชอบจากชุมชนในพื้นที่มีส่วนร่วมด้วย ซึ่งไฟฟ้าที่ผลิตได้จะขายในเมียนมาร์เท่าที่รัฐบาลต้องการก่อน
ที่เหลือจึงส่งไฟฟ้าขายกลับไทยน่าจะอยู่ที่ระดับ 2,000 เมกะวัตต์ สำหรับพันธมิตรร่วมทุนนั้น บริษัทฯถือหุ้น 45 % บริษัท บลู เอนเนอยี่ฯ 20% ที่เหลือเป็นบริษัทท้องถิ่น และรัฐบาลเมียนมาร์

นายพงษ์ดิษฐ กล่าวถึงความคืบหน้าแผนการสร้างคลังแอลเอ็นจีของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และบริษัทลูกว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาร่วมกันระหว่างกฟผ.ในฐานะบริษัทแม่ บมจ.ผลิตไฟฟ้า (เอ็กโก กรุ๊ป) และผลิตไฟฟ้าราชบุรี ฯ เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีจากต่างประเทศ รวมทั้งไปถึงการลงทุนสร้างท่าเรือ คลัง และอุปกรณ์การแปลงสภาพจากของเหลวเป็นก๊าซฯ เพื่อป้อนให้กับโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซฯของกลุ่มกฟผ. ซึ่งมีกำลังผลิตรวม 1.4-1.5 หมื่นเมกะวัตต์ แบ่งเป็นของราชบุรี 5 พันเมกะวัตต์
โครงการดังกล่าวจะทำให้บริษัทฯสามารถควบคุมต้นทุนได้เองและลดต้นทุนค่าก๊าซฯลงมาด้วยจากเดิมที่ซื้อจากปตท. อย่างไรก็ตาม ทางกฟผ.ก็ยังมีการหารือร่วมกับปตท.ที่อาจจะร่วมทุนในโครงการดังกล่าวในอนาคตได้ เพื่อไม่ให้ต่างคนต่างทำกัน แต่ก็กังวลว่าจะมีข้อครหาว่าจับมือกันผูกขาดได้

ส่วนกรณีที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)กำหนดระเบียบเปิดให้ใช้หรือเชื่อมต่อระบบส่งก๊าซธรรมชาติและสถานีแอลเอ็นจีของแก่บุคคลที่สาม(Third Party Access Regime : TPA Regime )ได้ในกลางปีหน้า เชื่อว่ายังไม่มีภาคเอกชนรายใดพร้อมนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีได้รวมทั้งกฟผ. เพราะต้องหาทำเลในการสร้างคลัง และหน่วยแปลงสภาพฯ ซึ่งต้องใช้เวลาก่อสร้างอีก 3ปี
กำลังโหลดความคิดเห็น