ตรัง - กระทรวงพลังงาน และ กฟผ.เตรียมรับมือแหล่งก๊าซธรรมชาติหยุดซ่อมบำรุงกลางเดือนนี้ รวม 28 วัน เร่งรณรงค์ให้ประชาชนลดใช้พลังงาน พร้อมขอความร่วมมือภาคอุตสาหกรรมลดกำลังการผลิต หวั่นหากไม่เป็นไปตามเป้าเสี่ยงไฟฟ้าดับทั่วภาคใต้เหมือนปี 56
วันนี้ (7 มิ.ย.) นายสุชาลี สุมามาลย์ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ต.ลำภูรา อ.ห้วยยอด จ.ตรัง ได้มีการจัดสัมมนาเรื่องความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าเพื่อเตรียมรับมือไฟฟ้าดับในภาคใต้ กรณีแหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติ (JDA-A18) จะหยุดซ่อมบำรุงในระหว่างวันที่ 13 มิ.ย.-10 ก.ค.57 รวม 28 วัน ส่งผลให้โรงไฟฟ้าจะนะ จ.สงขลา ซึ่งใช้ก๊าซจากแหล่งดังกล่าวเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าต้องหยุดดำเนินการ ทำให้ไฟฟ้าหายไปจากระบบถึง 710 เมกะวัตต์ และส่งผลต่อภาพรวมของการผลิตไฟฟ้าภาคใต้เหลือแค่ 2,300 เมกะวัตต์ ในขณะที่คาดการณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดโดยเฉลี่ยในพื้นที่ภาคใต้ช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค.57 อยู่ที่ 2,450 เมกะวัตต์
กระทรวงพลังงาน ได้หาแนวทาง และมาตรการรองรับเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดไฟฟ้าดับในพื้นที่ภาคใต้ เช่น การเตรียมความพร้อมระบบไฟฟ้า ทั้งระบบส่งโรงไฟฟ้าและเชื้อเพลิงสำรอง การตรวจอุปกรณ์ระบบส่งไฟฟ้า การบริหารจัดการด้านความต้องการใช้ การเพิ่มการส่งไฟฟ้าผ่านสายส่งจากภาคกลาง การเตรียมแผนปลดโหลด หรือแผนไฟฟ้าดับร่วมกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) การเจรจาซื้อไฟฟ้าจากมาเลเซีย
นอกจากนี้ ยังได้ขอความร่วมมือประชาชนเลี่ยง และลดการใช้ พร้อมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดใช้พลังงาน ด้วยการปิดแอร์ 1 เครื่อง ปรับแอร์เพิ่ม 1 องศา ปิดไฟ 1 ดวง รวมทั้งขอความร่วมมือภาคธุรกิจ และอุตสาหกรรมในภาคใต้ลดใช้ไฟฟ้า และเปลี่ยนเวลาปฏิบัติงาน ในวันที่มีการหยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติ โดยเฉพาะช่วงเวลา 18.30-22.30 น. ซึ่งเป็นชั่วโมงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของวันในภาคใต้ ซึ่งหากทุกภาคส่วนให้ความร่วมมือตามแผนที่วางไว้ คาดว่าจะช่วยลดการใช้ไฟฟ้าได้ประมาณ 234 เมกะวัตต์ และสามารถผ่านวิกฤตพลังงานไฟฟ้าในครั้งนี้ได้
ทั้งนี้ นอกจากจะมีการสัมมนาเรื่องความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าเพื่อเตรียมรับมือไฟฟ้าดับในภาคใต้แล้ว กระทรวงพลังงาน และ กฟผ. ยังจัดให้มีกิจกรรมเดินรณรงค์ประชาสัมพันธ์ เพื่อให้ประชาชนลด และประหยัดการใช้พลังงาน บริเวณถนนคนเดิน สถานีรถไฟ จ.ตรัง ด้วย โดยกิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นใน 5 จังหวัด ที่มีปริมาณการใช้ไฟฟ้าสุงสุดของภาคใต้ คือ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ภูเก็ต สงขลา และตรัง
ด้าน นายสมชัย ชัยโรจน์นิพัฒน์ หัวหน้ากองควบคุมระบบ ฝ่ายปฏิบัติการภาคใต้ กฟผ. เปิดเผยว่า ความต้องการใช้ไฟฟ้าในภาคใต้มีปริมาณสูงขึ้นทุกปี เนื่องจากภาคใต้มีอุตสาหกรรมทางด้านการประมง อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับยางพารา และอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดยมีแนวโน้มไฟฟ้าเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 6 ต่อปี ปัจจุบันภาคใต้มีความต้องการพลังงานไฟฟ้าสูงสุดอยู่ที่ 2,468 เมกะวัตต์ ในขณะที่ภาคใต้มีกำลังผลิตไฟฟ้าอยู่เพียง 2,359 เมกะวัตต์ จากโรงไฟฟ้าในพื้นที่ เช่น โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมจะนะ โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมขนอม โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนรัชชประภา เป็นต้น ส่วนที่เหลือต้องพึ่งพาการส่งกระแสไฟฟ้าจากภาคกลาง
โดยปัจจุบันได้ควบคุมการส่งพลังงานไฟฟ้าผ่านสายส่งไม่เกิน 700 เมกะวัตต์ เพื่อให้เหมาะสมต่อกำลังส่งที่สามารถรองรับได้ เพราะหากเกิดขีดความสามารถของสายส่งฯ หรือสายส่งจากภาคกลางเกิดขัดข้อง ก็จะส่งผลให้เกิดไฟฟ้าดับในพื้นที่ภาคใต้ได้ ดังเช่นเหตุการณ์เมื่อวันที่ 21 พ.ค.56 ที่เกิดไฟฟ้าดับในพื้นที่ภาคใต้ทั้ง 14 จังหวัด ถึง 4 ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม ทาง กฟผ.ได้เตรียมแผนรองรับ ทั้งการปรับแผนตรวจสอบ และบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าภาคใต้ ไม่ให้มีการหยุดบำรุงช่วงที่มีการปิดซ่อม หรือการเตรียมความพร้อมโรงไฟฟ้าภาคใต้ทุกเรื่อง ที่สำคัญคือการตรวจสอบอุปกรณ์ระบบส่ง และระบบป้องกันให้พร้อมใช้งาน