ASTVผู้จัดการออนไลน์ - กลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของประชาชนชาวทวาย กล่าวว่าพวกเขากำลังจัดเตรียมจดหมายเปิดผนึกฉบับหนึ่ง เพื่อยื่นถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อตอนไปเยือนพม่าที่จะมีขึ้นในอีกไม่นานนี้ ขอให้ช่วยแก้ไขปัญหา และความขัดแย้งต่างที่ยังคั่งค้างอยู่ ก่อนที่โครงการก่อสร้างท่าเรือใหญ่ กับเขตอุตสาหกรรมจะดำเนินต่อไป สื่อในพม่ารายงาน
นายเย ลิน มี้น (Ye Lin Myint) ผู้นำกลุ่มพัฒนาทวาย (Dawei Development Group) ที่เกิดขึ้่นจากการรวมตัวของชาวบ้าน ที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโครงการของนักลงทุนไทย เปิดเผยต่อหนังสือพิมพ์อีเลฟเวนนิวส์ เชื่อว่าโครงการทวายจะเป็นหนึ่งในเนื้อหาสำคัญที่กำลังจะมีการหารือกัน ระหว่างผู้นำไทยกับผู้นำพม่า และจดหมายเปิดผนึกจะเรียกร้อง นรม.ของไทย ช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในภูมิภาคของพวกเขาในช่วงหลายปีมานี้่
ปัญหาสำคัญประการหนึ่งในนั้นได้แก่ ราษฎรที่ได้รับผลกระทบจำนวนหนึ่งยังไม่ได้รับงเงินค่าชดเชย อันเป็นเรื่องที่ยืดเยื้อมานาน
“เราไม่อยากให้เรื่องนี้บานปลายออกไป” ผู้นำของกลุ่มประชาสังคมกล่าว และยังสำทับอีกว่าองค์กรพัฒนาของภาคเอกชนที่ไม่สังกัดรัฐบาลจำนวนหนึ่ง อาจจะเข้าร่วมยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง นรม.ไทยเช่นกัน
รัฐบาลพม่า ให้สัมปทานโครงการทวายแก่บริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด เพื่อก่อสร้างท่าเรือ และเขตอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ขึ้น บนชายฝั่งทะเลอันดามันในเขตเมืองทวายแห่งนี้ ซึ่งจะต้องใช้เงินลงทุนหลายหมื่นล้านดอลลาร์ เพื่อให้เป็นจุดเชื่อมต่อการขนส่ง แบบระเบียงตะวันออก-ตะวันตกในภูมิภาค การก่อสร้างล่าช้ามาเป็นเวลาหลายปี หลายฝ่ายกล่าวโทษความล้มเหลวของบริษัทเจ้าของสัมปทานที่ไม่สามารถระดมทุนได้เพียงพอสำหรับดำเนินโครงการ
โครงการทวาย ได้เปลี่ยนสถานะไปในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ตกลงกับฝ่ายพม่า จากเอกชนถือหุ้น 100% ได้กลายมาเป็นโครงการร่วมในระดับรัฐบาล 2 ประเทศ โดย 2 ฝ่ายจะพยายามชักชวนให้รัฐบาลญี่ปุ่นเข้าร่วมด้วย ซึ่งก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากนักลงทุนญี่ปุ่น ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาเขตเศรษฐพิเศษติลาวา (Thilawa Special Economic Zone) ในนครย่างกุ่้ง ที่รัฐบาลญี่ปุ่นสนับสนุนอย่างเป็นทางการ ให้เป็นโครงการ “เรือธง” ของญี่ปุ่นในพม่า
ความคิดที่จะระดมนักลงทุนจากจีนเข้าร่วมโครงการทวายนั้นล้มเหลว เนื่องจากนักลงทุนจากจีนแผ่นดินใหญ่ให้ความสำคัญต่อ “ระเบียงขนส่งตะวันออก-ตะวันตก” อีกสายหนึ่งทางตอนเหนือของพม่า ที่จะผุดขึ้นมาคู่ขนานกับระบบท่อขนส่งน้ำมันและก๊าซ จากการลงทุนโดยนักลงทุนของจีนเช่นกัน
ในทางตรงข้าม โครงการทวาย กลับถูกต่อต้านอย่างหนักจากราษฎรในพื้นที่ซึ่งจะต้องสูญเสียที่ดินทำกินไปให้แก่การพัฒนา นอกจากนั้น ยังถูกต่อต้านจากกลุ่มอนักษ์สภาพแวดล้อมที่กล่าวหาว่า ท่าเรือน้ำลึกจะทำให้เกิดมลพิษมากมาย เป็นตัวการทำลายสภาพแวดล้อม ทั้งในทะเลและบนบก ส่งผลต่อการประมง และการประกอบอาชีพกสิกรรมของคนในท้องถิ่น
วันที่ 6 ต.ค.ที่ผ่านมา กลุ่มประชาสังคมทวาย ได้รวมตัวกันที่โรงแรมซัมมิตปาร์กวิว นครย่างกุ้ง เพื่อหารือเกี่ยวกับผลกระทบต่อลำธารสายหนึ่งของทวาย ซึ่งราษฎรในพื้นที่อ้างว่า การก่อสร้างถนนของบริษัทอิตาเลียนไทยฯ ได้ทำลายทรัพยากรของพวกเขาจนหมดสิ้น.