ตาก - ประธานหอฯ สภาอุตสาหกรรมตาก ประสานเสียงขอ “บิ๊กตู่” เจรจาผู้นำพม่า เร่งรัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนแม่สอด-เมียวดี
วันนี้ (16 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เตรียมเดินทางเยือนพม่าและพบปะกับ พล.อ.เต็งเส่ง ประธานาธิบดีพม่า พร้อมคณะรัฐมนตรี ช่วงต้นเดือนตุลาคม 2557 ที่จะถึงนี้ ผู้นำองค์กรภาคเอกชนในพื้นที่ชายแดนไทย-พม่า ด้านจังหวัดตาก จุดยุทธศาสตร์สำคัญของระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตกต่างประสานเสียงเรียกร้องให้มีการเจรจาเร่งรัดจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด-เมียวดี โดยเร็ว
นายสมศักดิ์ คะวีรัตน์ ประธานหอการค้าจังหวัดตาก กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ควรเร่งรัดเจรจากับผู้นำพม่า ที่จะให้พื้นที่ 3 อำเภอชายแดนของจังหวัดตาก ซึ่งมีชายแดนติดต่อกับ จ.เมียวดี ของพม่า เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษให้ชัดเจนทั้งเรื่องโครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-พม่าแห่งที่ 2, การจัดพื้นที่รองรับ 5,608 ไร่ และการเชื่อมโยงพื้นที่ระหว่างกัน ซึ่งจะเอื้อให้มูลค่าการค้าเพิ่มสูงขึ้นเป็นแสนล้านบาทต่อปี จากเดิมที่มีอยู่ประมาณ 4-5 หมื่นล้านบาทต่อปีได้
เช่นเดียวกับนายชัยวัฒน์ วิทิตธรรมวงศ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตาก กล่าวว่า อยากจะขอให้นายกรัฐมนตรีไทยเจรจากับประธานาธิบดีพม่า เร่งจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด-เมียวดี เพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรมโดยเร็ว
“สิ่งที่ภาคเอกชนไทยในพื้นที่ชายแดนแม่สอดจะฝากให้เจรจากับผู้นำพม่า คือ การขยายเวลาการข้ามแดนทางด่านแม่สอด-เมียวดี ให้มากขึ้น จากเดิมไม่เกิน 18.00 น. เปิดโอกาสให้แรงงานต่างด้าวที่ผู้ประกอบการไทยใช้ในพื้นที่สามารถเดินทางเข้า-ออก ทำงานระหว่างแม่สอด-เมียวดี แบบเช้ามาเย็นกลับ รองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษ และ AEC”
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลไทยควรคุยกับผู้นำรัฐบาลพม่าให้ชัดเจนเกี่ยวกับความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ทั้งภาคการค้า พาณิชย์ การลงทุน ภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตร ภาคเกษตรอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว และความร่วมมือระหว่างประเทศ ซึ่งนับว่าเป็นโอกาสดีอย่างยิ่งที่ผู้นำไทยและพม่าจะได้มีโอกาสพบปะกันและสามารถดำเนินการเจรจาและตกลงในข้อตกลงได้ทันทีเพราะเป็นการตัดสินใจของผู้นำสูงสุดของทั้งไทยและพม่า
ด้านนายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง ที่เดินทางมาประชุมร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ-เอกชน ในพื้นที่เป้าหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอดเมื่อเร็วๆ นี้ ระบุว่า กระทรวงการคลังจะพิจารณาด้านสิทธิประโยชน์ให้กับภาคอุตสาหกรรมที่ไปลงทุนในพื้นที่มากกว่าพื้นที่อื่น เพื่อชักจูงให้คนไปลงทุน ขณะที่ทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลุงทุน (BOI ) ก็จะสนับสนุนการลงทุนด้วย ส่วนการออกเป็นกฎหมายบางอย่างจะช้ามากเพราะต้องผ่านสภาหลายขั้นตอน
อย่างไรก็ตาม หลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางไปเยือนประเทศพม่า และประเทศในกลุ่มอาเซียนอื่นๆ แล้ว จะเรียกประชุมเพื่อหารือถึงเขตพัฒนาเศรษฐกิจ 5 พื้นที่ที่อยู่ในโครงการนำร่องต่อไป