ตาก - แม่ทัพภาคที่ 3 นัดลงพื้นที่ตามติดแผนตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอดพรุ่งนี้ (25 ก.ค.) ผู้ว่าฯ ยันทุกส่วนพร้อมแจ้งเกิดเขตเศรษฐกิจชายแดนตะวันตก บนระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก
นายสมชัยฐ์ หทยะตันติ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก กล่าวว่า วันพรุ่งนี้ (25 ก.ค.) พล.ท.ปรีชา จันทร์โอชา แม่ทัพภาคที่ 3 จะเดินทางลงพื้นที่เตรียมการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด หลัง คสช.มีนโยบายให้จัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษขึ้น 5 แห่ง โดยมีเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด จ.ตาก รวมอยู่ด้วย
โดยจะประชุมร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด หน่วยงานราชการ ภาคเอกชน และท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาข้อสรุปแนวทางการพัฒนาการค้า พาณิชย์ อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว ความมั่นคง ก่อนมีการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจเต็มรูปแบบ
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เตรียมพร้อมการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอดมาอย่างต่อเนื่อง โดยเปิดอาคารสำนักงานเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษแม่สอดรองรับไว้แล้ว พร้อมประชุมร่วมภาครัฐ-เอกชน เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้นำเสนอแผนในการพัฒนา เช่น การจัดระเบียบการค้าชายแดน ไม่ว่าจะเป็นด้านระบบลอจิสติกส์ แรงงาน และการบริหารการจัดการแบบบูรณาการ รวมถึงการลดต้นทุนการผลิต
“ปัจจุบันด่านแม่สอดมีการค้าคึกคักมาก ช่วง 6 เดือนแรกของปี 2557 มีมูลค่าการส่งออกสูงขึ้นถึง 27.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา และคาดว่าตลอดปีนี้ยอดการค้าจะทะลุ 55,000 ล้านบาท หรือเฉลี่ยเดือนละ 4,500-5,000 ล้านบาท เพิ่มจากปีที่ผ่านมาที่มีมูลค่าการค้าเฉลี่ยเดือนละ 1,000-1,200 ล้านบาท”
ปัจจัยที่ทำให้ด่านแม่สอด-เมียวดี มีการส่งออกขยายตัวโตขึ้นอย่างรวดเร็วเนื่องจากชาวพม่ามีความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคเพราะนิยมชมชอบสินค้าไทย นอกจากนี้ระบบการคมนาคม รวมทั้งลอจิสติกส์เริ่มมีการปรับปรุงและพัฒนามากขึ้น ทำให้การค้าขายคล่องตัว แม้ว่าช่วงนี้จะเป็นฤดูฝน ปกติการส่งสินค้าจะชะลอตัว แต่ปรากฏว่าสินค้ายังคงทะลักเข้าพม่าจนแน่นสะพานมิตรภาพไทย-พม่า
ด้าน พ.ต.อ.ดร.พงษ์นคร นครสันติภาพ ผู้กำกับการด่านตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดตาก(ด่านแม่สอด) ชายแดนไทย-พม่า อ.แม่สอด จ.ตาก ได้ลงนามในสัญญาเลขที่ 9/2557 กับ หจก.เจตจันทร์ คอนสตรัคชั่น (ผู้รับจ้าง) เพื่อปรับปรุงช่องตรวจบุคคลและพาหนะ ด่านแม่สอด-เมียวดี (พม่า) ด้วยวงเงิน 1,482,000 บาท
พ.ต.อ.ดร.พงษ์นครกล่าวว่า โครงการนี้เป็นหนึ่งในโครงการรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ซึ่ง ตม.ตากได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากจังหวัดให้ดำเนินการขับเคลื่อน ผลการดำเนินงานจะทำให้การปฏิบัติงานมีมาตรฐานสากลมากยิ่งขึ้น สมกับเป็นหน้าด่านระเบียงเศรษฐกิจด้านตะวันตกของไทย บนเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor: EWEC) หรือเส้นทางหมายเลข 9 (R9) จากดานัง ประเทศเวียดนาม สะหวันนะเขต สปป.ลาว ไทย จ.เมียวดี ประเทศพม่า มุ่งสู่อินเดีย ตะวันออกกลาง และยุโรป (อาเซียน-อินเดีย-ยุโรป)