xs
xsm
sm
md
lg

ความตึงเครียดยังคงระอุในมัณฑะเลย์ หลังเกิดเหตุจลาจลระหว่างศาสนา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033>เจ้าหน้าที่ตำรวจพม่าประจำตามจุดต่างๆ ของเมืองเพื่อดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยบนถนนสายหนึ่งในเมืองมัณฑะเลย์ เมื่อวันที่ 3 ก.ค.-- Agence France-Press/Soe Than Win.</font></b>

เอเอฟพี - เจ้าหน้าที่ตำรวจออกลาดตระเวนตามถนนสายต่างๆ ในเมืองใหญ่อันดับ 2 ของพม่าในวันนี้ (4) เมื่อความโกรธแค้น และความวางใจยังคงแพร่กระจายอยู่ในชุมชนต่างๆ ที่เกิดเหตุความรุนแรง หลังการปะทะกันระหว่างชาวพุทธ และมุสลิมที่ทำให้เกิดความกลัวว่าเหตุไม่สงบจะลุกลามบานปลาย

ความสงบกลับคืนสู่มัณฑะเลย์อีกครั้ง หลังทางการประกาศเคอร์ฟิวในวันพฤหัสบดี (3) เพื่อควบคุมความรุนแรง หลังกลุ่มม็อบพร้อมอาวุธ เช่น ปืนลม ดาบ หิน และอาวุธอื่นๆ ออกอาละวาดตามถนนสายต่างๆ ในเมือง จนทำให้มีชาวพุทธ 1 คน และชาวมุสลิม 1 คน เสียชีวิต

ความรุนแรงปะทุขึ้นเมื่อวันอังคาร (2) หลังมีการกล่าวหาว่า ชายชาวมุสลิม 2 คน จากร้านน้ำชาข่มขืนหญิงชาวพุทธ ได้แพร่สะพัดไปทั่วอินเทอร์เน็ต ทำให้ฝูงชนหลายร้อยคนรวมตัวกันใกล้กับร้านค้าเข้าขว้างปาก้อนหิน และทำลายทรัพย์สิน

“ความรุนแรงเกิดขึ้นเพราะถ้อยคำที่สร้างความเกลียดชัง และข้อมูลที่ไม่ถูกต้องที่แพร่กระจายอยู่บนโลกออนไลน์” เจ้าหน้าที่จากสำนักงานประธานาธิบดี กล่าว

เจ้าหน้าที่คนเดิมกล่าวว่า สถานการณ์ในเวลานี้อยู่ในความควบคุม และรัฐบาลยังไม่ได้มีแผนเฉพาะเจาะจงในการจัดการกับการโพสต์ข้อความบนอินเทอร์เน็ตที่จุดชนวนให้เกิดความรุนแรงดังกล่าว

เพื่อน และญาติของชายชาวพุทธที่เสียชีวิตในวันพุธ (2) ระบุว่า รู้สึกตกใจ และโกรธแค้น

“เขาเป็นเหมือนพี่ชายของผม” เต ชายชาวพม่าที่อยู่ร่วมกับผู้เสียชีวิตในคืนที่ถูกโจมตี กล่าว พร้อมเผยร่องรอยบาดแผลให้แก่ผู้สื่อข่าว และว่า เขาได้รอยแผลจากดาบที่กลุ่มชาวมุสลิมใช้สังหารเพื่อนของเขา

“ความแค้นนี้จะอยู่กับผมไปชั่วชีวิต” เต กล่าวถึงการโจมตี

ส่วนพิธีศพของชายชาวมุสลิม เจ้าของร้านจักรยาน มีขึ้นในวันพฤหัสบดี (3) ไม่กี่ชั่วโมงหลังถูกสังหารขณะเดินทางไปยังมัสยิดในช่วงรุ่งสาง

คาริ ฮาซาน หัวหน้ามัสยิดในละแวกใกล้เคียง กล่าวว่า ชุมชนชาวมุสลิมกลายเป็นเป้าของการใช้ถ้อยคำสร้างความเกลียดชัง

“หากบางสิ่งเกิดขึ้นพวกเขาก็มักบอกว่า เป็นเพราะศาสนาอิสลาม สำหรับรัฐบาลชุดใหม่เราคาดหวังว่าจะมีสิ่งดีๆ แต่เรากลับได้รับแต่สิ่งไม่ดี” คาริ ฮาซาน กล่าว

การปะทะกันระหว่างศาสนาทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 250 คน และหลายหมื่นคนต้องไร้ที่อยู่อาศัยนับตั้งแต่การต่อสู้ครั้งแรกปะทุขึ้นในรัฐยะไข่ เมื่อปี 2555

เหยื่อความรุนแรงส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม และการปะทะมักเกิดขึ้นจากผลของข่าวลือ หรือการก่ออาชญากรรมของบุคคล

พระสงฆ์หัวรุนแรงถูกกล่าวหาว่ายั่วยุปลุกปั่นให้เกิดความตึงเครียดทางศาสนา ขณะที่กองกำลังรักษาความปลอดภัยถูกกล่าวหาว่า ล้มเหลวที่จะป้องกันการโจมตี

ส่วน นางอองซานซูจี ผู้นำฝ่ายค้าน กล่าวโทษทางการสำหรับความรุนแรงที่เลวร้ายขึ้น และเตือนถึงอันตรายของรายงานที่ไม่สามารถยืนยันได้

“เจ้าหน้าที่ควรจัดการอย่างเหมาะสมต่อคนที่เผยแพร่ข่าวลือ หากปราศจากกฎหมาย เหตุจลาจลจะเกิดขึ้นอีกมาก” ซูจี กล่าวกับวิทยุเอเชียเสรี

ขณะเดียวกัน ประธานาธิบดีเต็งเส่ง กล่าวว่า พม่าเป็นประเทศที่มีหลายเชื้อชาติ และศาสนา การที่จะรักษาเสถียรภาพความมั่นคงได้นั้นประชาชนจะต้องอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างเป็นหนึ่งเดียวกัน

“เพื่อให้การปฏิรูปประสบความสำเร็จ ผมอยากที่จะเรียกร้องให้ทุกคนหลีกเลี่ยงการยั่วยุปลุกปั่นและพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดความเกลียดชังในหมู่ประชาชนพี่น้องของเรา” ผู้นำพม่า กล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น