xs
xsm
sm
md
lg

พม่าประกาศ “เคอร์ฟิว” หลังมีผู้เสียชีวิตในเหตุจลาจลเมืองมัณฑะเลย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033>เจ้าหน้าที่ตำรวจยืนรักษาความสงบเรียบร้อยในเมืองมัณฑะเลย์ วันที่ 3 ก.ค. ทางการประกาศเคอร์ฟิวเมืองมัณฑะเลย์ หลังมีประชาชน 2 คน เสียชีวิตในเหตุความรุนแรงระหว่างศาสนาที่ปะทุขึ้นครั้งล่าสุด.-- Agence France-Press/Soe Than Win.</font></b>

เอเอฟพี - ทางการประกาศเคอร์ฟิวในเมืองใหญ่อันดับ 2 ของพม่า วันนี้ (3) หลังมีผู้เสียชีวิต 2 ราย ในเหตุความรุนแรงระหว่างชาวพุทธ และมุสลิมที่ปะทุขึ้นครั้งล่าสุด

เจ้าหน้าที่ตำรวจพร้อมอาวุธหลายสิบนายถูกส่งเข้าประจำการตามถนนสายต่างๆ ในเมืองมัณฑะเลย์ ที่บรรดาร้านค้าต้องปิดตัวหลังกลุ่มม็อบที่อยู่ในอารมณ์โกรธแค้นเข้าอาละวาด 2 คืนติดต่อกัน

ชาย 2 คน เป็นชาวพุทธ 1 คน และมุสลิม 1 คน เสียชีวิตในเหตุความรุนแรงที่ต่อเนื่องมาถึงเช้าวันพฤหัสบดี (3) เจ้าหน้าที่ตำรวจระบุ

“เราไม่ต้องการให้สถานการณ์เลวร้ายไปยิ่งกว่านี้” ซอ มิน อู เจ้าหน้าที่ตำรวจเมืองมัณฑะเลย์ กล่าว พร้อมให้ข้อมูลว่า การห้ามประชาชนออกนอกเคหสถานหลัง 21.00 น. ถึง 05.00 น. เนื่องด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย

ความรุนแรงระหว่างศาสนาบดบังการปฏิรูปการเมืองที่ได้รับเสียงชื่นชมอย่างกว้างขวาง นับตั้งแต่ปะทุขึ้นในปี 2555 ที่ส่วนใหญ่มีเป้าหมายโจมตีชาวมุสลิม ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 250 คน และอีกหลายหมื่นคนต้องไร้ที่อยู่อาศัย

เจ้าหน้าที่ตำรวจท้องถิ่นระบุว่า ผู้ก่อเหตุจลาจลชาวพุทธ ที่บางคนมีไม้ และมีดเป็นอาวุธ เข้าโจมตีร้านน้ำชาของชาวมุสลิมในวันอังคาร (1) และทรัพย์สินโดยรอบในย่านกลางเมืองมัณฑะเลย์ หลังมีการกล่าวหาเกี่ยวกับการข่มขืน

กองกำลังรักษาความปลอดภัยยิงกระสุนยางในความพยายามที่จะสลายฝูงชนในช่วงเช้ามืดของวันพุธ (2) และความไม่สงบปะทุขึ้นอีกครั้งในช่วงค่ำวันเดียวกัน แม้จะมีการเพิ่มการรักษาความปลอดภัยก็ตาม

ประธานาธิบดีเต็งเส่ง กล่าวว่า พม่าเป็นชาติที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ และศาสนา แต่การจะคงไว้ซึ่งเสถียรภาพความมั่นคง ประชาชนต้องอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างเป็นหนึ่งเดียวกัน

“เพื่อให้การปฏิรูปประสบความสำเร็จ ผมอยากจะขอให้ทุกคนเลี่ยงการยั่วยุ และพฤติกรรมที่ปลุกระดมความเกลียดชังในหมู่ประชาชนพี่น้องของเรา” ผู้นำพม่า กล่าว

อดีตนายพลผู้นี้ได้รับเครดิตจากการผลักดันการปฏิรูปนับตั้งแต่อดีตรัฐบาลเผด็จการทหารมอบอำนาจให้แก่รัฐบาลพลเรือนในปี 2554

แต่ความขัดแย้งทางศาสนาได้นำบททดสอบสำคัญมาสู่คณะบริหารของเต็งเส่ง ที่กระตุ้นเตือนว่าการเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตยที่เปราะบางอาจอยู่ในความเสี่ยง

สถานทูตสหรัฐฯ ในนครย่างกุ้ง ประกาศข้อความบนทวิตเตอร์เรียกร้องให้เกิดความสงบ และดำเนินการอย่างรวดเร็วต่อผู้กระทำผิด

ชาวมุสลิมในพม่าคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 4% ของประชากรทั้งหมดราว 60 ล้านคน

การปะทะกันระหว่างศาสนาปะทุขึ้นตั้งแต่ 2 ปีก่อน ในรัฐยะไข่ ทางภาคตะวันตกของพม่า ที่การต่อสู้ทำให้มีผู้ไร้ที่อยู่อาศัยราว 140,000 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมโรฮิงญา

นับตั้งแต่การปะทะขยายวงเป็นการโจมตีเป็นระยะๆ ต่อชุมชนชาวมุสลิมทั่วประเทศ ความรุนแรงเหล่านี้มักถูกกระตุ้นจากข่าวลือ หรือการกระทำทางอาญาของบุคคล และพระสงฆ์หัวรุนแรงถูกกล่าวหาว่าปลุกระดมให้เกิดความตึงเครียดทางศาสนาด้วยถ้อยคำกล่าวเตือนที่รุนแรงว่าพุทธศาสนาตกอยู่ภายใต้การคุกคามจากศาสนาอิสลาม

พระวิระธู พระสงฆ์หัวรุนแรงที่มีชื่อเสียง โพสต์ข้อความลงบนสื่อสังคมออนไลน์กล่าวหาเจ้าของร้านน้ำชาไม่กี่ชั่วโมงก่อนเหตุความไม่สงบครั้งล่าสุดปะทุขึ้น

ชาวเมืองมัณฑะเลย์ ที่เป็นเพื่อนกับชาวมุสลิมที่เสียชีวิต กล่าวว่า เหยื่อถูกชาย 5-6 คน รุมทุบตีจนเสียชีวิต ในช่วงเช้าวันพฤหัสบดี (3)

“เขาไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับความรุนแรง เขาเพียงแค่ไปมัสยิดเพื่อละหมาด เราไม่สามารถพูดได้ว่าสถานการณ์ในมัณฑะเลย์ตอนนี้อยู่ในความสงบ ทุกคนต่างอาศัยอยู่ด้วยความหวาดกลัว เราไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น” ชาวบ้านรายหนึ่ง กล่าว

พิธีศพชายชาวมุสลิมที่เป็นเจ้าของร้านจักรยานในท้องถิ่น มีขึ้นในวันนี้ (3) ส่วนพิธีศพของชายชาวพุทธอีก 1 คน ที่เสียชีวิตในเหตุความรุนแรงจะจัดขึ้นในวันศุกร์ (4)

เมืองมัณฑะเลย์ ที่ใช้เวลาเดินทางจากกรุงเนปีดอ ประมาณ 3 ชั่วโมง เป็นเมืองที่มีประชากรชาวจีน และชาวมุสลิมอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก แต่มัณฑะเลย์ ก็ยังเป็นดินแดนศูนย์กลางทางพุทธศาสนาที่มีพระสงฆ์จำวัดอยู่หลายหมื่นรูป รวมทั้ง พระวิระธู

การเคลื่อนไหวชาตินิยมชาวพุทธที่รุนแรงของพระวิระธู ได้เสนอให้คว่ำบาตรกิจการของชาวมุสลิม และสนับสนุนข้อเสนอเกี่ยวกับกฎหมายที่จะจำกัดเสรีภาพทางศาสนา ซึ่งยังคงเป็นประเด็นถกเถียง และมีกำหนดที่จะอภิปรายในสภา

เจ้าหน้าที่ตำรวจในเมืองมัณฑะเลย์ ระบุว่า พวกเขาทราบถึงข้อกล่าวหาประเด็นข่มขืนแต่ยังไม่ได้ดำเนินการจับกุมใดๆ.
กำลังโหลดความคิดเห็น