เอเอฟพี - ข้อเสนอของพระสงฆ์หัวรุนแรงที่ต้องการให้การแต่งงานระหว่างคนต่างความเชื่อเป็นอาชญากรรมในพม่า กำลังเผชิญต่อการคัดค้านอย่างหนักจากกลุ่มสิทธิมนุษยชนสตรี ในการต่อสู้อัตลักษณ์ทางศาสนาของประเทศ จนทำให้นานาประเทศเกิดความวิตกกังวล
ผู้รักชาติชาวพุทธได้ออกคำแถลงที่เผ็ดร้อนรุนแรงว่า ศาสนาหลักของประเทศกำลังถูกคุกคาม กลายเป็นเงามืดบดบังการปฏิรูปประชาธิปไตยที่กำลังดำเนินอยู่
กฎหมายแต่งงานเป็นหนึ่งใน 4 ร่างกฎหมายที่ถูกเสนอโดยฝ่ายพระสงฆ์หัวรุนแรง และนำเข้ารัฐสภาโดยประธานาธิบดี
เพื่อปกป้องศาสนาพุทธ ศาสนาที่ประชากรมากกว่า 80% ของประเทศนับถือ พระสงฆ์หัวรุนแรงได้เรียกร้องให้มีการคว่ำบาตรกิจการของชาวมุสลิม รวมทั้งบริษัทด้านโทรคมนาคม อูรีดู จากกาตาร์ แม้ว่าบริษัทให้คำมั่นว่าจะนำมาซึ่งการเข้าถึงโทรศัพท์เคลื่อนที่ในราคาที่จ่ายได้ไม่แพงก็ตาม
และพวกเขายังได้กล่าวเตือนว่า หญิงชาวพุทธกำลังมีความเสี่ยงจากชายชาวมุสลิม ที่นิโคลัส ฟาร์เรลลี นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยออสเตรเลียระบุว่า เป็นวิธีสร้างผลกระทบด้านอารมณ์
ผู้คนส่วนใหญ่ในประเทศนับถือพุทธ แต่ขณะเดียวกัน ก็ยังมีผู้นับถือศาสนาคริสต์ ราว 4% และมุสลิม ประมาณ 4-10% จากจำนวนประชากรทั้งหมด ที่เป็นมรดกตกทอดมาจากการปกครองอาณานิคมของอังกฤษ
นครย่างกุ้ง ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของประเทศ แม้จะถูกครอบงำโดยเจดีย์ชเวดากอง ที่เป็นประกายระยิบระยับ แต่เมืองนี้ก็ยังมีโบสถ์ และมัสยิดตั้งอยู่หลายสิบแห่ง
ความขัดแย้งระหว่างชาวพุทธ และชาวมุสลิมโรฮิงญาในรัฐยะไข่ ทางตะวันตกของประเทศเมื่อปี 2555 ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 200 คน และทำให้ผู้คนอีกราว 140,000 คน ไร้ที่อยู่อาศัย ที่ส่วนใหญ่เป็นชาวโรฮิงญา ที่อยู่ภายใต้ข้อจำกัดเกี่ยวกับการแต่งงาน และนโยบายบุตร 2 คน ในบางพื้นที่
เหตุรุนแรงต่อต้านมุสลิมได้แพร่กระจายไปในหลายพื้นที่ของประเทศเมื่อปีก่อน ความเกลียดชังที่ฝังลึกได้เผยออกมาขณะที่ประเทศหลุดพ้นจากการปกครองของระบอบเผด็จการทหาร
หากข้อกฎหมายดังกล่าวประกาศใช้ ฟาร์เรลลี กล่าวว่า กฎหมายอาจได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในกลุ่มชาวพุทธชนชั้นแรงงาน และชนชั้นกลางที่กังวลเกี่ยวกับการรุกรานของชาวมุสลิม ในช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงประเทศ
ข้อเสนอควบคุมการแต่งงาน การเปลี่ยนศาสนา การมีสามี หรือภรรยาหลายคนในเวลาเดียวกัน และอัตราการเกิด ได้รับการผลักดันสนับสนุนจากกลุ่มพระสงฆ์ 200 รูป ที่เรียกว่า “Mabatha” หรือคณะกรรมการเพื่อการคุ้มครองชาติและศาสนา
ร่างกฎหมายระบุให้บุคคลใดก็ตามที่ต้องการเปลี่ยนศาสนาต้องขออนุญาตจากทางราชการ
กฎหมายนี้ไม่สมควรที่จะปรากฏอยู่ในศตวรรษที่ 21 คณะกรรมการเสรีภาพทางศาสนานานาชาติแห่งสหรัฐฯ ระบุ และเตือนว่า ข้อเสนอดังกล่าวเสี่ยงต่อการเกิดความรุนแรง และการเลือกปฏิบัติ
ใบปลิวจากกลุ่ม Mabatha อ้างว่า สิ่งเลวร้ายจากการแต่งงานระหว่างศาสนา มีตั้งแต่การข่มขืน ฆาตกรรม และบังคับให้เปลี่ยนความเชื่อไม่ทำความเคารพธงชาติพม่า และยังระบุว่า ชายที่นับถือศาสนาอื่นควรถูกจำคุกนานถึง 10 ปี หากพวกเขาแต่งงานกับหญิงชาวพุทธ โดยไม่เปลี่ยนศาสนาก่อน
พระโสปะกะ ผู้นำกลุ่ม Mabatha กล่าวปกป้องมาตรการต่างๆ เหล่านี้ว่าเป็นการช่วยต่อสู้กับความรุนแรง
“เราเชื่ออย่างยิ่งว่า กฎหมายนี้สามารถปกป้องคุ้มครองผู้หญิงชาวพม่าที่นับถือศาสนาพุทธ” พระโสปะกะ กล่าว
หน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชน ฮิวแมนไรท์วอช กล่าวว่า กฎหมายแต่งงาน ระบุให้ผู้ชายต่างศาสนาต้องขออนุญาตจากผู้ปกครองของเจ้าสาวชาวพุทธอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร
ในอีกด้านหนึ่ง กลุ่มสตรีเกือบ 100 คน ได้ลงนามในคำแถลงฉบับหนึ่งเมื่อเดือนก่อน วิพากษ์วิจารณ์ข้อเสนอกฎหมายดังกล่าวว่า เป็นการไม่ยอมรับความสามารถของสตรีชาวพุทธในการคิดอย่างมีเหตุผล และการตัดสินใจเกี่ยวกับชีวิตของตัวพวกเธอเอง
หลายคนพบว่า ตกเป็นเหยื่อของการคุกคามผ่านการโทรศัพท์ และข้อความที่ไม่ระบุชื่อ
เดเร็ค มิตเชลล์ ทูตสหรัฐฯ ประจำพม่า กล่าวว่า สิ่งเหล่านี้เป็นอันตรายต่อประชาธิปไตยที่เพิ่งเริ่มต้นของพม่า
เม ซาเบ พิว จากเครือข่ายความเสมอภาคทางเพศ กล่าวว่า การวางแผนแต่งงานอาจช่วยยุติการละเมิดที่มีผลกระทบต่อผู้หญิงในชุมชมต่างๆ ของพม่าได้บ้างเล็กน้อย ตั้งแต่ความรุนแรงภายในครอบครัว ไปจนถึงการทำร้าย และข่มขืนที่เกี่ยวเนื่องจากความขัดแย้ง
“เราเชื่อว่าเชื้อชาติ และศาสนาไม่ใช่สิ่งที่จะต้องได้รับการคุ้มครองจากการบังคับใช้กฎหมาย” ซาเบ พิว กล่าว และยังสะท้อนความเชื่อที่มีอยู่อย่างกว้างขวางว่า การเพิ่มขึ้นของลัทธิชาตินิยมชาวพุทธจะถูกใช้เป็นเครื่องงมือทางการเมืองต่อฝ่ายค้านก่อนการเลือกตั้งในปี 2558
ซูจี เป็นหนึ่งในสตรีเพียงไม่กี่คนในรัฐสภาของพม่าที่กล่าวคัดค้านข้อเสนอกฎหมายการแต่งงานระหว่างศาสนา แต่ขณะเดียวกัน ก็สร้างความผิดหวังให้แก่บรรดานักเคลื่อนไหวต่อการแสดงความเห็นเพียงเล็กน้อยต่อประเด็นศาสนา
ถ้อยคำแห่งความเกลียดชังเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมากในโลกออนไลน์เมื่อการควบคุมอย่างเข้มงวดในสมัยของอดีตรัฐบาลเผด็จการทหารผ่อนคลายลงภายใต้รัฐบาลกึ่งพลเรือนที่เข้ามาบริหารประเทศในปี 2554
“ฉันอยากจะดึงผม และตบผู้หญิงแบบนั้น” ข้อความแสดงความคิดเห็นของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตรายหนึ่งเกี่ยวกับหญิงชาวพุทธที่ถูกกล่าวหาว่าถูกสามีชาวมุสลิมทอดทิ้ง
ส่วนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตอีกรายหนึ่ง ระบุว่า องค์กรที่ต่อต้านกฎหมายการแต่งงานระหว่างศาสนาเป็นโสเภณี
“บรรดาผู้รักชาติที่กล่าวว่า ต้องการจะปกป้องประเทศ และศาสนาช่างหยาบคายเหลือเกิน” เม ซาเบ พิว กล่าว และให้คำมั่นว่าจะเดินหน้ารณรงค์ต่อไป แม้จะถูกข่มขู่ก็ตาม.