เอเอฟพี - ประธานาธิบดีเต็งเส่ง ของพม่า ส่งหนังสือถึงรัฐสภาขอให้พิจารณาออกกฎหมายการแต่งงานระหว่างผู้นับถือต่างศาสนา ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อ “ปกป้อง” ชาวพุทธในประเทศ หลังได้รับคำร้องจากพระสงฆ์หัวรุนแรง
ความเคลื่อนไหวนี้มีขึ้นหลังเกิดเหตุความรุนแรงต่อต้านชาวมุสลิมหลายระลอก ซึ่งเกิดขึ้นในเวลาใกล้เคียงกันกับการปลุกกระแสชาตินิยมของชาวพุทธ
ในหนังสือที่ระบุข้อเสนอของประธานาธิบดีเต็งเส่งนั้น ดูเหมือนต้องการให้มีข้อจำกัดเกี่ยวกับการแต่งงานระหว่างผู้นับถือต่างศาสนา รวมถึงกฎหมายที่จะให้ความคุ้มครอง และสิทธิของชนกลุ่มน้อยที่นับถือศาสนาพุทธเมื่อแต่งงานกับคนต่างศาสนา รวมทั้งการห้ามมีสามี หรือภรรยาหลายคน และกฎหมายที่จะปรับความสมดุลของประชากรที่เพิ่มขึ้น
เต็งเส่ง ที่ได้รับการยกย่องจากนานาชาติสำหรับการปฏิรูปการเมือง ได้ยื่นข้อเสนอต่อสมาชิกรัฐสภาหลังได้รับคำร้องจากพระสงฆ์เมื่อปีก่อน
พระวีระธุ ได้รณรงค์ให้มีกฎหมายที่จะบังคับให้ผู้ชายที่ไม่ได้นับถือศาสนาพุทธ ที่ต้องการแต่งงานกับหญิงชาวพุทธ ให้เปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธ และต้องได้รับอนุญาตจากพ่อแม่ของฝ่ายหญิง หากฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุก 10 ปี
“เราได้พยายามอย่างต่อเนื่องที่จะให้มีกฎหมายปกป้องชาติ และในตอนนี้มันเริ่มที่จะเป็นจริงขึ้นมาจากข้อความของประธานาธิบดี เรารู้สึกยินดีอย่างมาก” พระวีระธุ กล่าว
นางอองซานซูจี ผู้นำฝ่ายค้านได้กล่าวตำหนิต่อข้อเสนอเหล่านี้ว่า เป็นการละเมิดสิทธิของผู้หญิงและละเมิดสิทธิมนุษยชน
พม่าเผชิญกับการวิพากษ์วิจารณ์จากบรรดากลุ่มสิทธิมนุษยชนเกี่ยวกับนโยบายมีบุตรได้ไม่เกิน 2 คน ในพื้นที่รัฐยะไข่
ชาวมุสลิมโรฮิงญา ในรัฐยะไข่ เผชิญกับข้อจำกัดอย่างมากมาย ทำให้สหประชาชาติระบุว่า ชาวโรฮิงญาเป็นกลุ่มคนที่ถูกข่มเหงรังแกมากที่สุดในโลก
ในคลื่นความรุนแรงระหว่างศาสนา 2 ระลอก ระหว่างชาวพุทธ และชาวมุสลิมในยะไข่เมื่อปี 2555 ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 200 คน และผู้คนราว 140,000 คน ต้องไร้ที่อยู่อาศัย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวโรฮิงญา
เหตุนองเลือดทางศาสนาที่เป้าหมายส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมนั้น ได้แพร่กระจายไปยังพื้นที่ส่วนต่างๆ ของประเทศ และทำให้เกิดการแบ่งแยกอย่างชัดเจนจากที่ถูกเก็บกดไว้ภายใต้การปกครองของทหารที่สิ้นสุดลงในปี 2554
พระสงฆ์หัวรุนแรง ที่ครั้งหนึ่งเป็นแนวหน้าการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยของประเทศ เป็นแกนนำในการรณรงค์ให้หลีกเลี่ยงการใช้บริการร้านค้าที่ชาวมุสลิมเป็นเจ้าของ และให้ใช้บริการร้านค้าของชาวพุทธเท่านั้น ขณะที่พระสงฆ์บางรูป มีส่วนในความไม่สงบระหว่างศาสนาที่เกิดขึ้นด้วย.