xs
xsm
sm
md
lg

กสม.แจงบทบาทตรวจสอบการละเมิดสิทธิระหว่างการชุมนุม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คณะกรรมการสิทธิฯ ชี้แจงบทบาทต่อการชุมนุม ทั้งออกแถลงการณ์ให้ทุกฝ่ายระมัดระวังไม่ให้ใช้ความรุนแรง เคารพสิทธิเสรีภาพซึ่งกันและกัน ตั้งเจ้าหน้าที่เฝ้าติดตามสถานการณ์ ร่วมมือองค์กรเครือข่ายเฝ้าระวัง หาหลักฐาน และข้อเท็จจริงประกอบการพิจารณาของ กสม. ตรวจสอบการละเมิดสิทธิ

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ออกเอกสารข่าวชี้แจงบทบาทคณะกรรมการสิทธิฯ ต่อสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองระบุว่า

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในฐานะองค์กรตามรัฐธรรมนูญซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการส่งเสริมการเคารพและปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนทั้งในระดับประเทศ และระหว่างประเทศ ตรวจสอบและรายงานการกระทำ หรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนพร้อมเสนอมาตรการการแก้ไขที่เหมาะสมต่อบุคคล หรือหน่วยงานที่กระทำ หรือละเลยการกระทำดังกล่าวเพื่อดำเนินการ รวมทั้งส่งเสริมการศึกษา วิจัย การเผยแพร่ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชน การร่วมมือ และประสานงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ ทั้งในประเทศ และระหว่างประเทศ

จากเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองของกลุ่ม กปปส. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ติดตามสถานการณ์ ส่งเจ้าหน้าที่ลงสังเกตการณ์ภาคสนาม และรับเรื่องร้องเรียนในหลายช่องทาง เช่น สายด่วน 1377 สื่ออิเล็กทรอนิกส์ help@nhrc.or.th นอกจากนี้ ยังรับความคิดเห็นผ่านช่องทางต่างๆ อีกเป็นจำนวนมาก

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ติดตามสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2556 เป็นต้นมา มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ทั้งก่อนการชุมนุม และระหว่างการชุมนุม โดยคำนึงถึงหลักความเป็นกลาง ความเป็นอิสระ การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนทุกฝ่ายโดยไม่เลือกปฏิบัติ และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ได้ดำเนินการดังเช่น

1) การออกแถลงการณ์เป็นระยะเพื่อสร้างความตระหนักให้ทุกฝ่ายมีความระมัดระวัง และไม่ใช้ความรุนแรง รับผิดชอบต่อสังคม เคารพสิทธิเสรีภาพซึ่งกันและกัน รวมทั้งประณามการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ ขณะนี้ได้ออกแถลงการณ์ไปแล้ว จำนวน 6 ฉบับ

2) การแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่เฝ้าติดตามสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองอย่างใกล้ชิดเพื่อสังเกตการณ์การดำเนินการของหน่วยงาน เจ้าหน้าที่ของรัฐ และพฤติกรรมผู้ชุมนุม นอกจากนี้ ยังได้ร่วมมือกับองค์กรเครือข่ายในการเฝ้าระวัง และติดตามสถานการณ์การชุมนุม ตลอดจนการรวบรวมพยานหลักฐาน และแสวงหาข้อเท็จจริงเพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินการของ กสม. ประสานงานกับเจ้าหน้าที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (OHCHR Regional Office for South-East Asia)เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลอันเป็นประโยชน์ในการทำงาน และสร้างภาพลักษณ์ของประเทศ

3) การตรวจสอบการกระทำ หรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดย กสม. มอบหมายให้คณะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองเป็นผู้ดำเนินการ รวมทั้งการพบหารือแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุม เจ้าหน้าที่ตำรวจ และผู้ที่เกี่ยวข้องในการป้องกัน ระงับยับยั้งไม่ให้เกิดความรุนแรง

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนให้มีส่วนร่วมในเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ที่อาจนำไปสู่สภาวะความรุนแรง หรือพบเห็นการกระทำ หรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยขอให้แจ้งข่าวสาร ข้อมูลให้แก่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ


กำลังโหลดความคิดเห็น