เอเอฟพี - องค์การนิรโทษกรรมสากล ได้ออกมาประณามรัฐบาลมาเลเซียว่าละเมิดสิทธิในการพูดอย่างเสรี กรณีที่มีการห้ามชาวคริสเตียนไม่ให้ใช้คำว่า “อัลเลาะห์” ในการกล่าวถึงพระเจ้า
หลังจากเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (23 มิ.ย.) คริสตจักรนิกายคาทอลิกในมาเลเซียแพ้คดีที่ต่อสู้มาอย่างยาวนานในชั้นศาล สำหรับการเรียกร้องสิทธิ์ที่จะใช้ภาษาอาหรับที่เป็นคำเฉพาะในหนังสือพิมพ์เฮรัลด์ ฉบับภาษาท้องถิ่นในมาเลเซีย ประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม
รัฐบาลมาเลเซียระบุว่า คำตัดสินของศาลสูงมีผลกับสื่อสิ่งพิมพ์ฉบับดังกล่าวเท่านั้น ส่วนชาวคริสเตียนที่พูดภาษามลายูได้ ยังคงสามารถใช้คำว่า “อัลเลาะห์” ได้ในพิธีกรรมทางศาสนา
อย่างไรก็ตาม นักกฎหมายเกรงว่าการออกกฏบังคับลักษณะนั้น จะส่งผลให้เกิดบรรทัดฐานที่จะไปจำกัดเสรีภาพของผู้นับถือศาสนาที่เป็นชนส่วนน้อย เป็นความพยายามที่จะผลักดันให้มีการเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลาม
องค์การนิรโทษกรรมสากลในกรุงลอนดอนได้แสดงความเห็นถึงคำตัดสินที่ห้ามใช้คำว่า “อัลเลาะห์” ควรที่จะถูกยกเลิกไปเสีย โดยระบุไว้ในคำแถลงว่า การที่มาเลเซียห้ามไม่ให้ชาวคริสต์ใช้คำว่าอัลเลาะห์ในการกล่าวถึงพระเจ้านั้นละเมิดเสรีภาพในการพูด
ฮาเซล กาแลง-โฟลี่ นักวิจัยมาเลเซียขององค์การนิรโทษกรรมสากล ระบุว่า แนวคิดที่ว่าผู้ที่ไม่ใช่ชาวมุสลิมจะต้องถูกดำเนินคดี หากไปใช้คำเฉพาะบางคำนั้น นับว่าเป็นเรื่องที่รบกวนจิตใจอย่างมาก การออกกฏห้ามครั้งนี้เท่ากับเป็นการปฏิเสธเสรีภาพของประชาชนในการนับถือศาสนา มีความเสี่ยงที่จะสร้างความตึงเครียดและโกรธแค้นให้กับผู้นับถือศาสนาต่างๆ ในมาเลเซีย
กรณีพิพาทเกี่ยวกับการใช้คำว่า “อัลเลาะห์” เริ่มขึ้นตั้งแต่เมื่อปี ค.ศ. 2007 ซึ่งในตอนนั้นทางกระทรวงมหาดไทยของรัฐบาลมาเลเซียได้ขู่ถึงขั้นจะยกเลิกใบอนุญาตตีพิมพ์ของหนังสือพิมพ์เฮรัลด์ จากการที่ใช้คำเฉพาะเหล่านั้น
ต่อมาทางคริสตจักรได้เริ่มต่อสู้ในชั้นศาล โดยมีข้อโต้แย้งว่า “อัลเลาะห์” นั้นเป็นคำที่ใช้กันมาอย่างยาวนานหลายศตวรรษในคัมภีร์ไบเบิลฉบับภาษามลายู รวมถึงในวรรณกรรมอื่นๆ
แต่ทางด้านเจ้าหน้าที่ของฝ่ายรัฐโต้แย้งว่า การทำแบบนั้นอาจสร้างความสับสนให้กับชาวมุสลิม รวมถึงเป็นการล่อลวงให้เปลี่ยนไปนับถือศาสนาอื่น ซึ่งการกระทำลักษณะนั้นนับว่าเป็นความผิดร้ายแรงในมาเลเซีย
หลังจากที่ศาลสหพันธรัฐ พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ในการห้ามใช้คำเฉพาะดังกล่าว โฆษกของรัฐบาลก็ได้ชี้แจงผ่านคำแถลงว่า ชาวคริสเตียนยังคงสามารถใช้คำว่า “อัลเลาะห์” ได้ภายในโบสถ์ แต่ถึงกระนั้นชาวคริสเตียนก็ยังคงรู้สึกผิดหวังเป็นอย่างมาก ในขณะที่ฝ่ายกฏหมายของคริสตจักรระบุว่า จะพยายามหาทางที่จะต่อสู้กับข้อห้ามในครั้งนี้
เฟอร์ดาอุส ฮุสนี เจ้าหน้าที่สภาทนายความของมาเลเซีย ให้ความเห็นกับผู้สื่อข่าวของเอเอฟพีว่า ความกังวลของชาวคริสเตียนในครั้งนี้ใช่ว่าจะเกิดขึ้นโดยไม่มีเหตุอันควร แม้การตัดสินห้ามใช้คำเฉพาะนี้จะมีผลแค่กับหนังสือพิมพ์เฮรัลด์ แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการตัดสินครั้งนี้ไม่ได้มีผลแค่กับสาธารณชนเท่านั้น เพราะดูเหมือนว่าบรรดาผู้มีอำนาจพยายามที่จะจำกัดสิทธิของศาสนาอื่น
มาเลเซียเป็นหนึ่งในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีประชากรหลากหลายชาติพันธุ์ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาหลายทศวรรษได้มีความพยายามที่จะหลีกเลี่ยงความขัดแย้งทางศาสนามาโดยตลอด แต่ดูเหมือนสถานการณ์ความตึงเครียดเริ่มที่จะเพิ่มมากขึ้น โบสถ์หลายแห่งเคยถูกโจมตีด้วยระเบิดจนได้รับความเสียหายเล็กน้อย เช่นเดียวกับวัดและมัสยิดที่เคยถูกโจมตีเช่นกัน
ทั้งนี้ จำนวนประชากรประมาณ 2 ใน 3 ของประเทศมาเลเซียที่มีอยู่ 28 ล้านคนนั้นเป็นชาวมุสลิม ขณะที่ชาวคริสเตียนนั้นมีเพียงแค่ 2.6 ล้านคน