xs
xsm
sm
md
lg

คนลาวเริ่มบ่นกันอุบ เป็นแบตเตอรี่แนวได๋ค่าไฟขึ้นเอา..ขึ้นเอา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<bR><FONT color=#000033>วันที่ 3 พ.ค.ที่ผ่านมา รัฐบาลลาวโดยนายสมสะหวาด เล่งสะหวัด รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานได้ทำพิธีวางศิลาฤกษ์ก่อสร้างเขื่อนน้ำเจียนขนาด 104 เมกะวัตต์มูลค่า 250 ล้านดอลลาร์ในแขวงเชียงขวางนับเป็นโครงการล่าสุดโดยรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาวเป็นเจ้าของและบริษัทจีนจะใช้เวลาก่อสร้าง 56 เดือน ไฟฟ้าทั้งหมดจากเขื่อนนี้จะใช้ในแขวงเชียงขวางกับแขวงไซสมบูน แต่ชาวลาวผู้หนึ่งได้สะท้อนความเห็นผ่านโลกออนไลน์ว่า ປະເທດລາວເປັນໜໍ້ໄຟຟ້າ ຂອງອາຊຽນ ແຕ່ເກັບຄ່າໄຟຟ້ານຳປະຊາຊົນລາວ ໂຄດແພງເລີຍ. -- ภาพ: สำนักข่าวสารปะเทดลาว. </b>

ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ชาวลาวจำนวนไม่น้อยได้แสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับอนาคต หลังจากทางการได้แถลงย้ำเกี่ยวกับการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าประจำทุกปีตลอด 3-4 ปีข้างหน้า ตามนโยบายของรัฐบาลที่จะปรับขึ้นปีละ 2% เกษตรกรที่พึ่งพาน้ำจากระบบชลประทานก็เป็นทุกข์ไม่แพ้ชาวเมือง โดยวิตกว่าการขึ้นค่าไฟฟ้าจะทำให้ค่าน้ำสำหรับทำนาแพงตามกันไปด้วย หลายคนเริ่มทงถามสิทธิที่สมควรจะได้ใช้ไฟฟ้าราคาถูก เนื่องจากประเทศผลิตได้มาก และมีต้นทุนการผลิตต่ำ

ชาวลาวอีกจำนวนหนึ่งยังแสดงความเป็นกังวลว่า การไฟฟ้าลาวกำลังขึ้นค่าไฟจากประชาชนทั่วไปเพื่อนำไปชดเชยกับรายได้ที่ขาดหายไปเนื่องจากหน่วยงานของรัฐหลายแห่งยังค้างชำระค่าไฟเป็นจำนวนมากรวมเป็นเงินนับร้อยล้านดอลลาร์

การวิพากษ์วิจารณ์มาตรการขึ้นค่าไฟของรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว ยังลามไปถึงแง่มุมการปฏิบัติแบบสองมาตรฐานระหว่างลูกค้าที่เป็นเคหสถานทั่วไป กับลูกค้าที่เป็นหน่วยงานรัฐซึ่งแม้ว่าจะค้างชำระค่าไฟมากมายเพียงไดก็ตาม ฟฟล.ก็ยังคงป้อนไฟให้ใช้ได้ต่อๆ ไป แต่สำหรับบ้านเรือนทั่วไปค้างชำระเป็นมูลค่าเพียง 300,000 กีบ (ราว 1,200 บาท) จะถูกตัดไฟทันทีซึ่งถือว่าไม่ยุติธรรม

การไฟฟ้าลาว ได้ประกาศปลายเดือน เม.ย.ที่ผ่านมาว่า การปรับขึ้นค่าไฟฟ้าในอัตรา 2% ต่อปีได้เริ่มมาพร้อมกัน และในอัตราเดียวกันทั่วประเทศตั้งแต่รอบบิลเก็บเงินเดือน มี.ค.2556 และจะดำเนินต่อไปจนถึงรอบบิลเดือน ธ.ค. 2560 โดยจัดเก็บในอัตราก้าวหน้า คือ ค่าไฟจะแพงขึ้นตามปริมาณกิโลวัตต์ชั่วโมง หรือ “หน่วย” ที่ใช้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อครัวเรือนทั่วไปเพียงเล็กน้อย

ฟฟล.กล่าวว่า แม้จะปรับขึ้นราคาแล้วก็ตาม ค่าไฟในลาวก็ยังถูกกว่าประเทศเพื่อนบ้านในย่านนี้เกือบทั้งหมด และถูกกว่าในประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลาย แต่ชาวลาวจำนวนมากไม่ได้คิดเช่นนั้น ทั้งนี้ เนื่องจากว่า ไฟฟ้าในลาวเกือบร้อยละร้อยผลิตจากพลังน้ำซึ่งเป็นต้นทุนที่ต่ำกว่า และในปัจจุบัน ลาวยังมีกำลังผลิตไฟฟ้าทั่วประเทศได้กว่า 2,500 เมกะวัตต์ ภายใต้นโยบายเป็น “แบตเตอรี่แห่งอาเซียน” ประชาชนชาวควรจะได้รับประโยชน์จากการใช้ไฟฟ้าในราคาต่ำลงอีก

ชาวลาวจำนวนมากถกเถียงกันเรื่องนี้ผ่านหลายช่องทางที่เป็นไปได้ต่างๆ ในโลกออนไลน์ รวมทั้งในเว็บไซต์ เว็บบล็อก และเฟซบุ๊กของนิตยสารต่างๆ

"ປະເທດລາວເປັນໜໍ້ໄຟຟ້າ ຂອງອາຊຽນ ແຕ່ເກັບຄ່າໄຟຟ້ານຳປະຊາຊົນລາວ ໂຄດແພງ ເລີຍ" ผู้อ่านที่ใช้ชื่อ Tone Vanhchaleun เขียนความเห็นต่อข่าวการติดค้างค่าไฟฟ้าของหน่วยงานชลประทานรัฐ ซึ่งอาจจะทำให้เกษตรกรต้องแบกรับภาระค่าไฟฟ้าแพงขึ้นอีก ในขณะที่ไฟฟ้าที่ใช้ในครัวเรือนถูกปรับขึ้นทุกปี

“ทำมะดาไฟฟ้าลาวก่อผะลิดได้ น้ำก่ออุดมสมบูน เปันหยังจิ่งกะเกับนำปะชาชน บาดเงินขายไฟฟ้าให้ต่างปะเทดเอาไปใสหวา ค่าไฟฟ้ากะมะหาแพงปานนั้นจะชุกยู้ปะชาชน ยู้ลงเหวหวา” ผู้อ่านที่ใช้ชื่อ Jojo Sung เขียนความเห็นแสดงความไม่พอใจต่อนโยบายค่าไฟฟ้าเป็นสำนวนภาษาลาวโดยใช้อักษรไทยซึ่งเข้าใจว่าเป็นการพิมพ์ผ่านโทรศัพท์มือถือที่ส่วนใหญ่ใช้แป้นพิมพ์ภาษาไทย

ตามรายงานของนายคำมะนี อินทะลาด รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ สำหรับผู้ที่ใช้ไฟฟ้า 0-25 หน่วย ได้ปรับราคาจาก 294 กีบ (ราว 1.18 บาท) เป็น 355 กีบ (1.425 บาท) ต่อหน่วย และระหว่าง 26-150 หน่วยขึ้นไป ได้ปรับราคาจากอัตรา 845 กีบเป็น 1,019 กีบ (4.09 บาท) ต่อหน่วยตั้งแต่รอบบิลสิ้นเดือน มี.ค.2556 และได้ปรับขึ้นอีก 2% ในปีนี้

อัตราค่าไฟฟ้าดังกล่าวยังไม่ได้รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม และไม่ได้บังคับใช้กับบรรดาโครงการที่ทำสัญญาซื้อขายกระแสไฟฟ้าโดยตรงจากการนำเข้า เช่น เหมืองแร่บริษัท MMG Lane Xang Minerals Limited หรือเหมืองเซโปนในแขวงสะหวันนะเขต เขตเศรษฐกิจพิเศษดอกงิ้วคำ แขวงบ่อแก้ว เขตเศรษฐกิจพิเศษบ่อแตนแดนคำ แขวงหลวงน้ำทา กับอีกบางโครงการ

รัฐมนตรีลาวกล่าวอีกว่า การคิดค่าไฟฟ้าของลาวนั้นคำนวณจากการลงทุนเฉลี่ยในแขนงพลังงานทั้งหมดในระยะ 10 ปี โดยมีข้อแม้ว่าจะไม่ให้กระทบต่อโครงการแก้ไขความยากจนของประชาชนตามนโยบายของรัฐ

เมื่อเทียบกับค่ากระแสไฟฟ้าในประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงแล้วก็จะพบว่า ในลาวมีอัตราต่ำคือ ลาว มีประชากร 6.4 ล้านคน กำลังติดตั้ง 2,252 เมกะวัตต์ อัตราการใช้กระแสไฟฟ้า 80% ราคาเฉลี่ย 7.8 เซ็นต์ต่อหน่วย (ราว 2.49 บาท) เทียบกับกัมพูชาที่มีประชากร 15 ล้านคน กำลังติดตั้งผลิตไฟฟ้าในประเทศ 360 เมกะวัตต์ อัตราการใช้ไฟฟ้า 24% คิดค่าไฟต่อหน่วย 19 เซ็นต์ หรือแพงกว่าเกือบ 3 เท่า และไทยประชากร 68 ล้านคน มีกำลังติดตั้ง 31,485 เมกะวัตต์ อัตราการใช้ไฟฟ้า 87% ค่าไฟฟ้า 10.2 เซ็นต์ต่อหน่วย

ในขณะเดียวกัน เวียดนามนั้นมีประชากร 85.5 ล้าน มีกำลังติดตั้ง 18,494 เมกะวัตต์ ค่าไฟฟ้า 5.7 เซ็นต่อหน่วย ต่ำที่สุดในอนุภูมิภาคแม่น้ำโขงปัจจุบัน แต่เมื่อเทียบกับประเทศที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจระดับสูงก็จะพบว่าค่าไฟฟ้าสูงมาก เช่น ประเทศญี่ปุ่น ประชากร 127 ล้านคน มีกำลังติดตั้งผลิตไฟฟ้าในประเทศทั้งหมด 228,479 เมกะวัตต์ อัตราการใช้ไฟฟ้า 100% ค่าไฟสูงถึง 18.5 เซ็นต์ต่อหน่วย ข้อมูลระบุ

ตัวเลขของ ฟฟล.ยังระบุด้วยว่า ปัจจุบันยังมีลูกค้าติดค้างค่ากระแสไฟฟ้า รวมกันเป็นเงินกว่า 400,000 ล้านกีบ (กว่า 1,600 ล้านบาท) และมีแนวโน้มจะสูงขึ้นไปอีก ทั้งนี้ เนื่องจากหลายสาเหตุ และในบรรดาลูกค้าที่ยังไม่สามารถเรียกเก็บค่าไฟฟ้าได้นั้นส่วนใหญ่อยู่ในนครเวียงจันทน์

อย่างไรก็ตาม ชาวลาวได้แสดงความคิดเห็นผ่านโลกออนไลน์ว่า การเปรียบเทียบอัตราค่าไฟฟ้าของลาวกับในประเทศเพื่อนบ้านนั้นเป็นการเปรียบเทียบแบบไร้ตรรกะ กล่าวคือ ไม่ได้อ้างอิงฐานรายได้ต่อหัวประชากรต่อปีของประชาชนที่ยังต่ำมากหากเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ไทยและเวียดนาม และไม่ได้คิดคำนวณรวมอัตรเงินเฟ้อ ซึ่งหมายความว่า ในความเป็นจริงชาวลาวเองได้จ่ายค่าไฟฟ้ากว่าอัตราตามตัวเลขที่ ฟฟล.ระบุ

ส่วนในกัมพูชา สาเหตุที่ค่าไฟฟ้ามีอัตราสูงนั้นก็เนื่องจากยังผลิตในประเทศได้น้อย และความต้องการใช้สูง

“สปป.ลาวมีประชากรน้อยที่สุด แต่ขณะเดียวกัน ก็ผลิตกระแสไฟฟ้าได้มาก และส่งออกนำรายได้เข้าประเทศ ประชาชนลาวควรจะได้รับประโยชน์จากค่าไฟที่ต่ำกว่านี้” ผู้อ่านรายหนึ่งเขียนลงในเว็บบล็อกสมาคมลาวเมื่อเร็วๆ นี้.
กำลังโหลดความคิดเห็น