เอเอฟพี - องค์กรนักข่าวไร้พรมแดนระบุวันนี้ (11) ว่า การจำคุกผู้สื่อข่าวพม่าที่พยายามจะสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่การศึกษาเป็นการกระทำที่รุนแรง ขณะที่หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นหลายฉบับคาดแถบดำลงบนหน้าแรกเพื่อเป็นการประท้วง
ซอ เป ผู้สื่อข่าวของเว็บไซต์ข่าวเสียงประชาธิปไตยแห่งพม่า (DVB) ถูกศาลเมืองมาเกว ในภาคกลางของประเทศ ตัดสินจำคุกเมื่อวันจันทร์ (7) ฐานบุกรุก และรบกวนพนักงานราชการ
นายซอ เป ถูกจำคุกพร้อมกับนายวิน มี้น หล่าย บิดาของเด็กนักเรียนที่เดินทางพร้อมกันไปยังสำนักงานการศึกษาในเขตมาเกว เพื่อติดตามเรื่องราวเกี่ยวกับโครงการทุนในเดือน ส.ค. ปี 2555
“พวกเขาเข้าไปที่สำนักงานด้วยเจตนาทั่วไป บิดาของเด็กนักเรียนรายหนึ่งเดินทางไปที่นั่นเพื่อต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการ ส่วนซอ เป เข้าไปเพื่อรายงานข่าวให้แก่ประชาชนได้รับทราบ” เต็ง ตุน ทนายความของทั้ง 2 คนกล่าว และว่าทั้ง 2 กำลังวางแผนที่ยื่นอุทธรณ์คำตัดสิน
ด้านสำนักข่าว DVB ระบุในคำแถลงฉบับประณามการตัดสินของศาลว่า สำนักข่าวมั่นใจว่าซอ เป ได้กระทำหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบในฐานะผู้สื่อข่าว และทำงานเพื่อประโยชน์ของประชาชน
“นี่เป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้ที่เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นสามารถขัดขวางการทำงานของผู้สื่อข่าว และทำให้ผู้สื่อข่าวถูกตัดสินโทษจำคุกเพียงเพราะรู้สึกว่าถูกรบกวน” เบนจามิน อิสเมล หัวหน้าองค์กรนักข่าวไร้พรมแดนประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก กล่าวในคำแถลงฉบับหนึ่ง
“เราเรียกร้องให้ทางการปล่อยตัวนายซอ เป และเราร้องขอให้รัฐบาลรับประกันว่า เสรีภาพสื่อจะได้รับความเคารพอย่างเท่าเทียมในทุกที่”
ผู้สื่อข่าวพม่าได้จัดการชุมนุมต่อต้านคำตัดสินในสัปดาห์นี้ ขณะที่หนังสือพิมพ์หลายฉบับได้ตีพิมพ์แถบคาดดำลงบนหน้าแรกเพื่อแสดงให้เห็นถึงความไม่พอใจ
หนังสือพิมพ์เดลี่อีเลฟเว่น ระบุว่า หนังสือพิมพ์ขอประณามการจับกุม การสอบสวน และการจำคุกอย่างไม่ยุติธรรมต่อผู้สื่อข่าว
DVB เป็นแหล่งข้อมูลอิสระที่มีชื่อเสียงที่ดำเนินการจากนอร์เวย์ และไทยในช่วงการปกครองของเผด็จการทหาร และผู้สื่อข่าวของสำนักข่าวหลายคนถูกตัดสินจำคุกนานหลายปีจากการทำข่าวภายในประเทศ
การปฏิรูปประเทศหลังสิ้นสุดการปกครองระบอบเผด็จการทหารในปี 2554 ที่รวมทั้งการปล่อยนักโทษการเมือง และเพิ่มเสรีภาพสื่อ ทำให้อดีตสิ่งพิมพ์ที่ถูกเนรเทศกลับเข้าดำเนินการอย่างถูกกฎหมายจากภายในประเทศได้อีกครั้ง
ในปี 2554 พม่ายกเลิกระบบเซ็นเซอร์ก่อนตีพิมพ์ ที่ควบคุมทุกอย่างตั้งแต่เนื้อเพลง ไปจนถึงหนังสือ และหนังสือพิมพ์
แต่พม่าตกอยู่ภายใต้เสียงวิพากษ์วิจารณ์อีกครั้งหลังบรรดาผู้สังเกตการณ์มองว่า กฎหมายสื่อฉบับใหม่สร้างบรรยากาศกดดันทางกฎหมายต่อผู้สื่อข่าว
ในเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าว 4 คน และผู้บริหารระดับสูงของหนังสือพิมพ์ ยูนิตี้ วีคลี่ นิวส์ ถูกจับกุม และตั้งข้อหาภายใต้การดำเนินการอย่างเป็นความลับหลังเผยแพร่เนื้อหาที่กล่าวหาว่าทหารผลิตอาวุธเคมี.