ย่างกุ้ง 17 พ.ย.2556 (เอพี) - เลขาธิการองค์การประเทศอิสลามใหญ่ที่สุดในโลกกล่าวว่า เมื่อนำคณะกรรมการไปเยี่ยมเยือนประชาคมชาวมุสลิมโรฮิงญาที่ถูกก่อกวนมาเป็นเวลานาน และถูกกลุ่มก่อความไม่สงบ รวมทั้งนักวางเพลิงชาวพุทธขับออกจากบ้านเรือนแล้ว ทำให้ตนเองถึงกลับร้องไห้
“ผมไม่เคยมีความรู้สึกเช่นนี้มาก่อน” นายเอ็กเมเล็ดดิน อีห์ซาโนกลู (Ekmeleddin Ihsanoglu) กล่าวในเย็นวันเสาร์ขณะที่ตัวเขาเองกำลังกับคณะจากองค์การการประชุมประเทศอิสลาม (Organization of Islamic Conference) สิ้นสุดการเยือนพม่าเป็นเวลา 3 วัน ซึ่งรวมทั้งการเยี่ยมคำนับ และสนทนากับประธานาธิบดีพม่า รัฐมนตรีหลายคน และตัวแทนองค์การระหว่างประเทศต่างๆ กับผู้แทนหน่วยงานขององค์การสหประชาชาติ
แต่สภาพที่เห็นฝูงชนขนาดใหญ่ สีหน้าเป็นทุกข์ อาศัยอยู่ท่ามกลางกองขยะภายในแคมป์ที่ตั้งอยู่นอกเมืองสิตตเว เมืองเอกของรัฐระไคต่างหากที่ทำให้ตนเองตราตรึงใจ
“ผมร้องไห้” นายอีห์ซาโนกลู กล่าว
พม่าประเทศพุทธที่มีประชากร 60 ล้านคน ได้โผล่พ้นจากการปกครองเป็นเวลาครึ่งศตวรรษโดยระบอบทหาร แต่การเปลี่ยนสู่ประชาธิปไตยต้องด่างพร้อยด้วยความรุนแรงทางศาสนาที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 240 คน และทำให้อีก 240,000 คน ต้องหลบหนี
เหยื่อความรุนแรงส่วนใหญ่เป็นชาวโรฮิงญา ซึ่งแม้ว่าครอบครัวของพวกเขาจะเข้าไปอาศัยอยู่ในพม่าหลายชั่วคนมาแล้ว ก็ยังถูกรัฐบาลปฏิเสธที่จะให้สัญชาติ
เด็กๆ จำนวนมากในค่ายผู้พลัดถิ่นไม่ได้ไปโรงเรียนเป็นเวลากว่าปีมาแล้ว ใครที่ต้องการออกจากค่ายเพื่อไปรักษาตัว หรืออะไรก็แล้วแต่จะต้องจ่ายเงินสินบนแพงมาก เจ้าหน้าที่ช่วยเหลือทางมนุษยธรรมถูกกระทำจากชาวพุทธระไค (ยะไข่) อยู่เนืองๆ โดยกล่าวหาว่า เข้าข้างฝ่ายโรงฮิงญา
นายอีห์ซาโนกลุ กล่าวอีกว่า ขณะไปเยี่ยมเยือนค่ายที่เมืองสิตเตวนั้น ตนเองกับผู้ร่วมคณะ OIC ไปพบกับฝูงชน 5,000 คน แต่ด้วยกำแพงทางภาษาทำให้ไม่สามารถสื่อสารกันได้
“พวกเขาสิ้นหวัง พวกเขาหวาดกลัว พวกเขาดีใจที่พวกเราอยู่ที่นั่นแสดงออกโดยการร้องไห้” แต่ตนเองก็สามารถทักทายด้วยคำว่า “อัสซาลาม อาไลกุม” (Assalam Alaikum) หรือ “ขอพระเจ้าช่วยปกป้องคุ้มครองให้ปลอดภัย” ตามแบบอิสลามได้ในที่สุด และฝูงชนก็ทักทายตอบแบบเดียวกัน เลขาธิการ OIC กล่าว
การเยือนพม่าของคณะ OIC ต้องเผชิญกับการประท้วงเป็นระยะๆ มีชาวพม่านับพันๆ คนไปรวมตัวกันเพื่อพบกับคณะเมื่อเดินทางถึงนครย่างกุ้ง และต่อมา ที่เมืองสิตเตว บางคนถือแผ่นป้ายที่มีข้อความว่า “โอไอซีออกไป!” บ้างก็ตะโกนคำขวัญ “หยุดแทรกแซงกิจการภายในของเรา”
แต่ถึงกระนั้น นายอีห์ซาโนกลู ก็กล่าวว่าการเยือนครั้งนี้ประสบความสำเร็จ ทั้งนี้ เนื่องจากเป็นการไปเยือนตามคำเชิญของรัฐบาล ซึ่งโดยทั่วไปมักจะวางตัวเงียบๆ เกี่ยวกับการโจมตีชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิม
นายอีห์ซาโนกลูก ล่าวอีกว่า ตัวเขาเองได้รับรับการยืนยันว่ารัฐบาลพม่าจะหาทางแก้ไขปมปัญหาเกี่ยวกับฐานะพลเมืองของชาวโรฮิงญา 800,000 คน แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดอื่นใดอีก
“ถ้าหากเรื่องนี้ไม่ได้รับการแก้ไขจะเป็นปัญหาที่ใหญ่มาก” นายอีห์ซาโนกลูกล่าว
โรฮิงญาที่ถูกแบ่งแยกออกจากกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ในพม่า จำนวน 135 กลุ่ม ได้อดทนต่อการถูกปฏิบัติต่อแบบแบ่งแยกกับนโยบายที่แตกต่างจากชนกลุ่มอื่นตลอดมา ถูกจำกัดการเดินทางเคลื่อนไหว จำกัดสิทธิทางด้านการศึกษา และการทำงาน
นางอองซานซูจี ผู้นำฝ่ายค้านที่ไม่ค่อยจะพูดปกป้องชนกลุ่มน้อยทางศาสนามากนัก ได้ปฏิเสธที่จะพบกับคณะ OIC ที่ไปเยือน.
.
2
3