เชียงราย - ไข้เลือดออกชายแดนเชียงรายยังรุนแรง ยอดผู้ป่วยสะสมเกินกว่า 4 พันราย ระบุประชากรแฝง-ชุมชนต่างด้าวเพียบ ทำให้การตามหาตัวกลุ่มเสี่ยงแพร่เชื้อไม่พบ 30-40% แถมฝั่งพม่ามีระบาดหนักด้วย
วันนี้ (14 ก.ค.) นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ลงพื้นที่มอบนโยบายสกัดการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออก ที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ อ.เมือง จ.เชียงราย โดยมี นพ.ศุภเลิศ เนตรสุวรณ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาล นำคณะแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุขบรรยายสรุปสถานการณ์ว่ามีผู้ป่วยสะสมตั้งแต่เดือนมกราคม 4,166 ราย เสียชีวิต 4 ราย ขณะที่ประชาชนตื่นตัวเฝ้าระวังมากขึ้น จนทำให้ยาทากันยุงโดยเฉพาะที่ทำจากสมุนไพรประเภทตระไคร้หอมถึงกับขาดตลาด
นพ.ศุภเลิศ รายงานว่า การเกิดโรคไข้เลือดออกสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2555 และเพิ่มสูงสุดในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา 2,140 ราย และเมื่อมีการรณรงค์ป้องกันเต็มที่ ยอดผู้ป่วยเดือนกรกฎาคมลดลงเหลือ 871 ราย เช่นเดียวกับสถิติผู้ป่วยเป็นรายสัปดาห์ซึ่งลดลงเช่นกัน ถือเป็นสัญญาณที่ดีขึ้น
แต่พื้นที่น่าเป็นห่วง คือ ชายแดนไทย-พม่า ด้าน อ.แม่สาย ที่มีผู้ป่วยแล้วกว่า 1,227 ราย ส่วนภาพรวมทั้งจังหวัดพบว่า กลุ่มคนที่พบโรคมากที่สุด คือ คนไทย และชาวพม่า 12.88% ลาว 5.01% ส่วนผู้เสียชีวิตทั้ง 4 ราย เป็นชาย 1 คน และหญิง 3 คน ซึ่งมีโรคประจำตัวอื่นอยู่แล้ว ทำให้อาการกำเริบหนัก
ขณะที่ทีมแพทย์ใน จ.เชียงราย แจ้งว่า ปัจจุบันยังพบผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง แต่พื้นที่สีแดงเริ่มลดลง หลือบางอำเภอที่ยังหนักอยู่ โดยเฉพาะ อ.แม่สาย โดผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษา และเจ้าหน้าที่จำเป็นต้องเฝ้าระวังติดตาม ปรากฏว่า 30-40% ไม่สามารถตามตัวได้ และไม่มีตัวตนอยู่ ณ สถานที่อยู่ที่แจ้งไว้
ซึ่งเรื่องนี้ถือว่าละเอียดอ่อน และเกี่ยวข้องกับฝ่ายปกครอง นอกจากนี้ ยังเกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดในฝั่งประเทศพม่า เพราะผู้ป่วยชาวพม่าข้ามมารับการรักษาเป็นจำนวนมากเช่นกัน และวันที่ 18 กรกฎาคมนี้ หน่วยควบคุมโรคนำโดยแมลงของไทย จะข้ามไปพ่นยาฆ่าเชื้อในฝั่ง จ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศพม่าด้วย
นายเกียรติศักดิ์ ไพศาลยศสกุล สาธารณสุขอำเภอแม่สาย กล่าวว่า อ.แม่สาย มี 8 ตำบล มีประชากร 85,422 คน ประชากรแฝง 40,000-50,000 คน ซึ่งเป็นปัญหากรณีลงพื้นที่ลงติดตามผล และเฝ้าระวังเพราะคนเหล่านี้ไม่พบตัวตนว่าอยู่ที่ไหนอย่างไร
ขณะที่ นพ.พรเทพ กล่าวว่า สถานการณ์ไข้เลือดออกที่พบเหมือนสงคราม ซึ่งได้ผ่านพ้นช่วงที่จะต้องไปรณรงค์กันตามหมู่บ้าน เพราะปัญหารุกมาถึงระดับโรงพยาบาลแล้ว ผู้ป่วยทั้งประเทศกว่า 67,000 รายแล้ว มากกว่าปีก่อนถึง 20,000 กว่าราย แต่ผลจากการแก้ปัญหาอย่างหนักในช่วงนี้ ก็ทำให้ตัวเลขลดลงจากเป้าที่คาดว่าจะเกิดโรค 10,000 ราย และตลอดทั้งปีถ้าการแก้ปัญหาได้ผล จะลดตัวเลขผู้ที่คาดการณ์ว่าจะเกิดโรคได้จำนวนประมาณ 50,000 ราย
“ต่อไปนี้จะมีการตรวจสอบอย่างละเอียด หรือสแกนกันรายหมู่บ้าน โดยเฉพาะชุมชนต่างด้าว หรือพื้นที่ชายแดน จะต้องเข้าถึง และตรวจสอบให้ได้ว่าบุคคลใดที่เป็นโรค และสามารถแพร่เชื้อได้ โดยคาดว่าทั้งหมดจะใช้เวลาอีกประมาณ 3 เดือน หรือจนถึงปลายปี ก็น่าจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น”
นพ.พรเทพ กล่าวว่า จะจัดฝึกอบรมทีมพยาบาลให้รองรับเรื่องไข้เลือดออกโดยเฉพาะ เพราะพยาบาลจะเป็นผู้ใกล้ชิดผู้ป่วยมากที่สุด โดยจะมีการจัดสถานที่เฉพาะหากพบผู้ป่วยรุนแรง และต้องตรวจวัดเกล็ดเลือด มีการตรวจอาการอย่างต่อเนื่อง เพราะโรคประเภทนี้หากอาการหนัก สามารถทำให้เกิดการช็อก หรือเสียชีวิต ด้วยระยะเวลาเพียง 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมงเท่านั้น