.
เม็กทิลา 22 มี.ค.2556 (เอเอฟพี) - พม่าได้ประกาศภาวะฉุกเฉินในเขตเมืองที่การจลาจลกำลังแผ่ลามและมีผู้ถูกสังหารไป 20 คน ในความรุนแรงระหว่างชาวพุทธกับชาวมุสลิม ซึ่งทำให้เกิดความวิตกกังวลว่า เหตุการณ์จะบานปลายใหญ่โตออกไปอีก เม็กทิลาซึ่งอยู่ห่างจากเมืองหลวงเนปีดอไปทางทิศเหนือเพียง 130 กิโลเมตรเกือบจะกลายเป็นเถ้าถ่าน ขณะเจ้าหน้าที่พยายามดิ้นรนในการเข้าควบคุมสถานการณ์จากการปะทะกันและการวางเพลิง
“มีผู้ถูกสังหารไปอย่างน้อย 20 ราย เราประมาณว่าจำนวนจะสูงกว่านี้ แต่เป็นเรื่องยากในการเก็บตัวเลขทั้งหมด” นายตำรวจผู้หนึ่งที่ไม่ต้องการให้เปิดเผยชื่อบอกแก่เอเอฟพีในวันศุกร์
สำนักงานทำเนียบประธานาธิบดีกล่าวว่า การใช้ภาวะฉุกเฉินจะทำให้สามารถเคลื่อนทหารเข้ารักษาการณ์ และฟื้นฟูความเป็นระเบียบเรียบร้อยได้ สถานการณ์ตึงเครียดอย่างยิ่งในเม็กทิลาเมื่อกลุ่มชายซึ่งรวมทั้งพระสงฆ์ที่ถือมีดกับท่อนไม้เป็นอาวุธ เดินตระเวนไปตามท้องถนน ชาวมุสลิมได้หลบหนีออกจากย่านที่อยู่อาศัยของพวกตน นักข่าวได้พบร่างผู้เสียชีวิตถูกเผาอยู่ริมถนนซึ่งเป็นเพียงหนึ่งในหลายศพ ขณะที่ประกายไฟลุกไหม้สุเหร่า และบ้านเรือน เช่นเดียวกับอาคารทั่วไป ถูกปล่อยให้ไหม้ไปโดยไม่มีผู้ใดเอาใจใส่
“สถานการณ์เลวร้ายลงเรื่อยๆ.. มีคนบุกเข้าทำลายอาคารหลายแห่ง มีผู้ถูกสังหารไปหลายคน พวกเราหวาดกลัว และพยายามอยู่แต่ในบ้านเพื่อความปลอดภัย” ราษฎรในพื้นที่คนหนึ่งกล่าว
นักข่าวกลุ่มหนึ่งถูกกลุ่มชายวัยรุ่นกับพระสงฆ์ที่ถือดาบเป็นอาวุธห้ามมิให้เข้าไปยังที่เกิดเหจตุ และยึดเอาแผ่นเมมโมรีการ์ดไปจากกล้องถ่ายรูป ผู้สื่อข่าวคนหนึ่งกล่าว
นับเป็นความรุนแรงในสังคมครั้งร้ายแรงที่สุด ตั้งแต่การจลาจลใหญ่ระหว่างชาวพุทธกับชาวมุสลิมในรัฐระไค (Rakhine) ทางตะวันตกเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 180 คน กว่า 11,000 คนไร้ที่อาศัย ผู้แทนราษฎรในพื้นที่คนหนึ่งกล่าวว่า มีผู้ถูกสังหารไปอย่างน้อย 25 คน ในเม็กทิลา ซึ่งกว่า 1 ใน 3 ของประชากร จำนวน 80,000 คนเป็นมุสลิม แต่ก็เป็นไปไม่ได้ที่จะหาข้อเท็จจริงในเรื่องนี้
“สถานการณ์ไม่ดีเลย.. แม้รัฐบาลจะบอกว่าทุกอย่างอยู่ภายใต้การควบคุม” นายวินเต่ง (Win Htein) ส.ส.พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งเป็นฝ่ายค้านกล่าวกับเอเอฟพี เขาบอกว่า ชาวมุสลิมนับร้อยๆ คนต้องไปกางเต็นท์อยู่ตามสนามฟุตบอล และสถานีตำรวจ ขณะที่ฝ่ายชาวพุทธพยายามหนีเข้าไปขออาศัยอยู่ตามวัด
ประชาคมระหว่างประเทศได้ส่งสัญญาณแห่งความห่วงใย เจ้าหน้าที่องค์การสหประชาชาติกล่าวว่า ทางการพม่าจำเป็นที่จะต้อง “ป้องกันมิให้ผู้คนเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอีก และมิให้ความรุนแรงแผ่ลาม” ในประเทศที่ชาวพุทธเป็นประชากรส่วนใหญ่
“ผู้นำทางศาสนา และผู้นำชุมชนต่างๆ จะต้องออกมาเรียกร้องอย่างเป็นทางการให้ผู้ที่สนับสนุนละเว้นการใช้ความรุนแรง เคารพกฎหมาย และผดุงสันติ” นายวิชัย นามเบียร์ (Vijay Nambiar) ที่ปรึกษาพิเศษของนายบันคีมูน ผู้นำสหประชาชาติระบุในคำแถลงฉบับหนึ่ง
นางวิกตอเรีย นูลาน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้หยิบยกความห่าวงใยของวอชิงตันอีกครั้งหนึ่งต่อความรุนแรง และกล่าวว่า “สหรัฐฯ สนับสนุนให้ทุกฝ่ายเรียกร้องความสงบ หันมาเจรจากัน อดทน และเคารพซึ่งกันและกัน”
“นั่นคือหนทางอันถูกต้องสำหรับเรื่องนี้” นางนูลานกล่าวถึงการใช้ภาวะฉุกเฉิน และการส่งกองกำลังรักษาความมั่นคงเพิ่มเติมเข้าสู่พื้นที่.
เป็นเถ้าถ่าน Reuters/AFP
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20