.
เอเอฟพี/ASTVผู้จัดการออนไลน์ - เหตุนองเลือดระหว่างชาวพุทธกับชาวมุสลิมลุกลามจากหลายพื้นที่ทางเหนือ ขยับเข้าใกล้ย่านธุรกิจในย่างกุ้ง โดยตัวเลขล่าสุด รายงานผู้เสียชีวิตรวมทั้งสิ้น 40 ราย ด้านสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ออกประกาศเตือนชาวอเมริกันงดเดินทางไปยังพื้นที่ต่างๆ ในพม่า เนื่องจากมีความเสี่ยงเกิดเหตุรุนแรง
ตำรวจพม่าผู้หนึ่งซึ่งไม่ต้องการให้เปิดเผยนาม บอกแก่เอเอฟพีว่า ตำรวจ และทหารต้องเข้าควบคุมเหตุปะทะที่เกิดขึ้นมาอีกเกือบตลอดคืนวันจันทร์ (25) ในหมู่บ้านหลายแห่งของเมืองพะโค (ไทยเรียกหงสาวดี) ทางเหนือของนครย่างกุ้ง เมืองหลวงเก่าที่ยังคงเป็นศูนย์กลางทางธุรกิจของประเทศ โดยที่มีรายงานว่า มัสยิด 2 แห่ง และบ้านเรือนนับสิบหลังถูกทำลาย อย่างไรก็ดี ไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บล้มตายแต่อย่างใด
ตำรวจคนเดิมเสริมว่า กองกำลังความมั่นคงยังเฝ้าระวังพื้นที่ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด เนื่องจากยังมีชุมชนมุสลิมอีกหลายแห่งอยู่ในพื้นที่บริเวณนั้น
ทางด้านสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำย่างกุ้ง ออกคำแถลงผ่านเว็บไซต์ว่า การจลาจลที่เกิดขึ้นในพม่ากระตุ้นให้หลายฝ่ายเกิดความรู้สึกรุนแรง จึง “ขอแนะนำอย่างแข็งขัน” ให้พลเมืองอเมริกันหลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังเขตมัณฑะเลย์ ตลอดจนถึงบริเวณตลาดมิงกาลาร์ และยูซะนะพลาซา ในนครย่างกุ้ง เนื่องจากมีความเสี่ยงเกิดเหตุการณ์รุนแรง
ตำรวจในย่างกุ้งได้รับคำสั่งให้เพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ และเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ นอกจากนี้ ยังมีการส่งทหารลาดตระเวนภายในเมืองหลวงเก่าแห่งนี้ด้วย
การปะทะระหว่างชาวพุทธ กับชาวมุสลิมระลอกล่าสุดนี้ ย้ำเตือนปัญหาท้าทายที่รัฐบาลพม่าต้องเผชิญ ขณะพยายามปฏิรูปประเทศภายหลังอยู่ภายใต้การปกครองของระบอบทหารมานานหลายสิบปี
ผู้เห็นเหตุการณ์หลายรายเล่าว่า ความรุนแรงคราวนี้ดูเหมือนจะเป็นการกระทำที่มีผู้เตรียมการไว้ล่วงหน้า
จอเต๊ต (Kyaw Thet) สมาชิกคนหนึ่งของกลุ่ม “88 เจเนอเรชัน” (88 Generation) ขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในเมืองซิตต์วิน (Sittwin) ของเขตพะโค บอกว่า มีคนแปลกหน้าหลายสิบคนขี่รถจักรยานยนต์เข้ามาในตอนดึกคืนวันจันทร์ และเข้าทำลายมัสยิดของย่านดังกล่าว จากนั้นก็ไปที่ร้านน้ำชาของคนมุสลิม และพังร้านแห่งนั้น
“ก่อนที่คนพวกนี้จะมาถึง ในย่านของเราไฟฟ้าดับ และสายโทรศัพท์ก็ถูกตัดขาด คนพวกนี้ยังยุยงให้ประชาชนก่อความรุนแรงด้วย” เขากล่าวต่อ
ทางด้านชาวบ้านคนหนึ่งในเมืองกโยบิงก็อค (Gyobinggauk) เล่าว่า ทางการผู้รับผิดชอบท้องถิ่นได้ประกาศผ่านทางโทรโข่ง ห้ามออกนอกบ้านยามค่ำคืน และทหารก็มาถึงเมืองนี้แล้ว
การปะทะกันระลอกล่าสุดนี้ เริ่มต้นขึ้นในวันพุธ (20) ที่แล้ว ที่เมืองเม็กทิลา ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองหลวงเนปิีดอไปทางเหนือประมาณ 130 กิโลเมตร โดยดูเหมือนว่ามีชนวนจากการโต้เถียงกันในร้านทองแห่งหนึ่ง แล้วลุกลามกลายเป็นการจลาจลที่มีการเผามัสยิดและบ้านเรือนไปมากมาย โดยที่มีศพไหม้เกรียมหลายศพถูกทิ้งอยู่บนถนน
จากนั้นก็มีผู้คนหลายสิบคนถูกควบคุมตัว เนื่องจากเชื่อว่ามีส่วนในเหตุการณ์รุนแรง โดยที่มีผู้ประท้วงติดอาวุธหลายราย ซึ่งรวมถึงพระสงฆ์ด้วย ออกตระเวนบนท้องถนน และข่มขู่ผู้สื่อข่าวที่เข้าไปในเมกทิลา
ภายหลังการประกาศภาวะฉุกเฉินเมื่อวันศุกร์ (22) และกองทัพได้ส่งทหารลงพื้นที่ ความสงบก็คืนกลับสู่เม็กทิลาที่ยังมีคำสั่งห้ามประชาชนออกนอกบ้านในตอนกลางคืน
อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่อื่นๆ ยังคงมีเหตุการณ์รุนแรงปะทุขึ้นในช่วงคืนวันเสาร์ (23) เป็นเหตุให้มีบ้านเรือนกว่า 40 หลัง และมัสยิดอีกหลายแห่งถูกทำลายในเมืองยาเมตินใกล้กรุงเนปิดอ และยังมีรายงานความไม่สงบเกิดขึ้นในหลายหมู่บ้านของเมืองนั้น
ประชาชนในย่างกุ้งวิตกกังวลมากขึ้น และในวันจันทร์ (25) รัฐบาลได้สั่งให้ร้านอาหาร และร้านค้าในเมืองนี้ที่จำหน่ายสุราปิดให้บริการในเวลา 21.00 น. เพื่อป้องกันการแพร่ข่าวลือ
ในคำแถลงทางทีวีเมื่อคืนวันจันทร์ รัฐบาลพม่าเรียกร้องให้ยุติ “การคลั่งศาสนา” ซึ่งอาจฉุดรั้งกระบวนการปฏิรูปของประเทศที่ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธแห่งนี้ ขณะที่หนังสือพิมพ์นิว ไลท์ ออฟ เมียนมาร์ ของทางการพม่ารายงานว่า พบศพใหม่ 8 ศพใต้ซากปรักหักพังในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้จำนวนของผู้เสียชีวิตตั้งแต่วันที่ 20 เพิ่มเป็น 40 คน
รัฐบาลกึ่งพลเรือนของพม่า กำลังถูกกดดันอย่างหนักจากนานาชาติเกี่ยวกับความไม่สงบที่เกิดขึ้น ซึ่งจากข้อมูลของสำนักงานประสานกิจการเพื่อให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ ระบุว่า ทำให้ประชาชนกว่า 12,000 คนต้องละทิ้งถิ่นฐาน
อาดามา เดียง (Adama Dieng) ที่ปรึกษาพิเศษเพื่อป้องกันการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของ เลขาธิการใหญ่สหประชาชาติ บัน คีมุน กล่าวเตือนว่า มีความเสี่ยงอย่างมหาศาลที่จะเกิดความรุนแรงมากขึ้นอีก หากไม่มีการใช้มาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ลุกลาม เขาระบุด้วยว่า การไม่ใช้มาตรการที่จำเป็นเช่นนี้ยังเป็นสาเหตุรากเหง้าของปัญหานี้
ความรุนแรงครั้งนี้นับเป็นเหตุการณ์ความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ และศาสนาครั้งร้ายแรงที่สุดในพม่า นับตั้งแต่เกิดการปะทะกันระหว่างชาวพุทธกับชาวมุสลิมในรัฐยะไข่ทางตะวันตกของประเทศเมื่อปีที่แล้ว ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 180 ราย และผู้คนไร้ที่อยู่อาศัยอีกกว่า 110,000 คน.