ย่างกุ้ง 21พ.ย.2556 (รอยเตอร์) -- รัฐบาลพม่าได้ออกปฏิเสธในวันพฤหัสบดีนี้ ข้อมติขององค์การสหประชาชาติที่เสนอให้สัญชาติแก่ชาวมุสลิมโรฮิงญาที่ไม่มีถิ่นที่อยู่ โดยกล่าวหาว่าสหประชาชาติเข้าแทรกแซงในอธิปไตยของพม่า
ข้อมติของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งที่ประชุมใหญ่สหประชาชาติที่ออกในวันอังคาร ยังเรียกร้องให้พม่าที่มีประชากรนับถือพุทธศาสนาเป็นประชากรส่วนใหญ่ หยุดยั้งความรุนแรงต่อชาวมุสลิมที่เพิ่มทวี นับตั้งแต่สิ้นสุดการปกครองโดยฝ่ายทหารในเดือน มี.ค.2554
“จะไม่มีการให้สัญชาติแก่กลุ่มคนที่ไม่สมควรจะได้รับภายใต้กฎหมายนี้ ไม่ว่าใครจะกดดันพวกเราอย่างไรก็ตาม” นายเยทุ๊ต (Ye Htut) โฆษกรัฐบาลระบุในคำแถลงฉบับหนึ่ง
“มันเป็นสิทธิในอธิปไตยของเรา” โฆษกคนเดียวกันกล่าว
หลังโผล่พ้นจากการปกครองโดยฝ่ายทหารเป็นเวลา 49 ปี ในปี 2554 พม่าได้เผชิญกับความรุนแรงทางศาสนาเป็นระลอกๆ ซึ่งเป็นรอยด่างในการผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตย และยังคุกคามการปฏิรูปทั้งทางด้านการเมือง และเศรษฐกิจที่เพิ่งจะเริ่ม
การปะทะกันระหว่างชาวโรฮิงญา กับชาวระไคที่นับถือพุทธศาสนา ปะทุขึ้นในเดือน มิ.ย. กับ ต.ค.ปีที่แล้ว ทำให้มีผู้ไร้ที่อยู่อาศัย 140,000 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวโรงฮิงญา รัฐบาลพม่ากล่าวว่ามีผู้เสียชีวิต 192 คน ในเหตุไม่สงบ ฝ่ายโรฮิงญาระบุว่า จำนวนคนตายสูงถึง 748 ราย
ตั้งแต่นั้นมา ชาวโรฮิงญานับหมื่นๆ คนได้หลบหนีออกจากพม่าทางเรือ หวังที่จะไปยังมาเลเซีย ประเทศที่มีชาวมุสลิมเป็นประชากรส่วนใหญ่
ความรุนแรงต่อชาวมุสลิมได้แผ่ขยายออกไปอีกในปีนี้ และเมื่อเร็วๆ นี้ที่เมืองตันเดว (Thandwe) ซึ่งเป็นเมืองชายฝั่งทะเลแห่งหนึ่งในรัฐระไค (ยะไข่) ซึ่งกลุ่มชาติพันธุ์ชาวระไค สังหารชาวมุสลิมไป 5 คน ในการโจมตีหลายครั้งระหว่างวันที่ 29 ก.ย. และ 2 ต.ค.
รัฐบาลพม่ากล่าวว่า โรฮิงญาเป็นผู้ที่โยกย้ายถิ่นฐานจากประเทศเพื่อนบ้าน คือ บังกลาเทศ รัฐบัญญัติว่าด้วยพลเมืองปี พ.ศ.2528 ไม่ได้รวมโรฮิงญาไว้ในกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งหมด 135 กลุ่มในพม่า ซึ่งทำให้ชาวมุสลิมเหล่านั้นเป็นกลุ่มคนไร้ดินแดน บังกลาเทศเองก็บอกปัดไม่ยอมรับเป็นพลเมือง ปฏิเสธกระทั่งการให้ฐานะเป็นผู้ลี้ภัยมาตั้งแต่ปี 2535
อย่างไรก็ตาม ชาวโรฮิงญาในรัฐระไคที่มีอยู่ราว 1.1 ล้านคนนั้น มีจำนวนมากที่สามารถสืบเชื้อสายในพม่าย้อนหลังไปได้หลายชั่วอายุคน
สหประชาชาติเรียกคนกลุ่มนี้ว่าเป็น “พวกที่ไม่มีมิตรอย่างแท้จริง” และกล่าวว่า โรฮิงญาได้ถูกไล่ล่าทำร้าย ถูกเลือกปฏิบัติแบ่งแยก และถูกเอารัดเอาเปรียบแสวงหาประโยชน์ในหลายรูปหลายแบบ
สถานทูตสหรัฐฯ ในนครย่างกุ้งกล่าวเมือวันพุธว่า “ห่วงใยอย่างลึกซึ้ง” ต่อรายงานเกี่ยวกับความรุนแรงต่อชาวมุสลิมในรัฐระไค รวมทั้งการเผามัสยิดแห่หนึ่ง กับการข่มขู่ต่อคนพลัดถิ่นที่อยู่ในประเทศ
สถานทูตสหรัฐฯ ได้เรียกร้องให้ทางการทั้งระดับรัฐบาลกลาง และระดับรัฐดำเนินการให้มากยิ่งขึ้นเพื่อ “ให้มีความแน่ใจในความมั่นคงปลอดภัย การเข้าถึงทางมนุษยธรรม และความปรองดอง”.