xs
xsm
sm
md
lg

พายุไซโคลน “ไพลิน” ขึ้นฝั่งอินเดียแล้ว ตายอย่างน้อย 5-คนอพยพครึ่งล้าน-คาดรุนแรงต่อ 6 ชม.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชายผู้หนึ่งที่มีเพียงผ้าพลาสติกใช้กันฝนซึ่งตกกระหน่ำอย่างหนักเพราะฤทธิ์เดชพายุไซโคลน “ไพลิน” เมื่อวันเสาร์ (12) เดินมุ่งไปยังสถานที่ซึ่งมีความปลอดภัยมากขึ้น ใกล้ๆ กับเมืองโกปัลปุร์ ซึ่งอยู่ห่างประมาณ 200 กิโลเมตรจากเมืองภุพเนศวร เมืองหลวงของรัฐโอริสสา ทางภาคตะวันออกของอินเดีย
เอเจนซีส์ – พายุไซโคลน “ไพลิน” ที่มีความเร็วลมรุนแรงถึงกว่า 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พัดขึ้นพื้นที่ชายฝั่งภาคตะวันออกของอินเดียแล้ว บริเวณใกล้ๆ เมืองโกปัลปุร์ รัฐโอริสสา เมื่อตอนดึกวันเสาร์ (12 ต.ค.) เวลาประมาณ 21.15 น.ตามเวลาท้องถิ่น (ตรงกับ 22.45 น.เวลาเมืองไทย) ทำให้มีผู้เสียชีวิตไปอย่างน้อย 5 คน และบังคับให้ประชาชนกว่า 500,000 คน ต้องอพยพเข้าไปตามสถานที่พักพิงอันแออัด โดยที่ยังจะสร้างความเสียหายร้ายแรงให้แก่บริเวณริมฝั่งทะเลระยะทางราว 150 กิโลเมตร ในอีก 6 ชั่วโมงข้างหน้า

แอล.เอส.ราโธเร อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยาของอินเดีย แถลงต่อผู้สื่อข่าวยืนยันว่า ในขณะที่มันขึ้นฝั่งที่ใกล้ๆ เมืองโกปัลปุร์ มีรายงานว่าไซโคลนลูกนี้มีความเร็วลม 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งถือว่ายังคงเป็นพายุที่มี “ความรุนแรงมาก” โดยที่ตาของพายุนี้กำลังเคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 10-15 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

กรมอุตุนิยมวิทยาอินเดียคาดหมายว่า “ไพลิน” กำลังสะสมพลังจนมีความเร็วลมสูงขึ้น 210 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในช่วงชั่วโมงแรกๆ ของวันอาทิตย์ (13 ต.ค.) โดยจะยังสร้างความเสียหายหนักให้แก่พื้นที่ชายฝั่งยาวประมาณ 150 กิโลเมตรของรัฐโอริสสา และรัฐอานธรประเทศ 2 รัฐยากจนทางภาคตะวันออกของแดนภารตะที่อยู่ติดต่อกัน ในเวลาประมาณ 6 ชั่วโมงข้างหน้า ก่อนที่จะค่อยๆ อ่อนกำลังลงเมื่อมันเคลื่อนตัวเข้าสู่ดินแดนตอนใน

พวกเจ้าหน้าที่ด้านอุตุนิยมวิทยา และด้านบริหารจัดการภัยพิบัติของอินเดีย ประมาณการว่า ไซโคลนไพลินอาจจะสร้างความเสียหายให้แก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนราว 12 ล้านคน ทั้งนี้มีรายงานพยากรณ์บางกระแสระบุว่า พายุลูกนี้ได้ลดความรุนแรงลงบ้างแล้วด้วยซ้ำก่อนที่มันจะขึ้นฝั่ง ทว่าก็ยังคงมีฐานะเป็นพายุที่มีกำลังรุนแรงที่สุดซึ่งเคยพัดถล่มอินเดีย นับตั้งแต่ปี 1999 ซึ่งมีไซโคลนลูกหนึ่งกระหน่ำใส่พื้นที่บริเวณเดียวกันนี้ และสังหารชีวิตผู้คนไปกว่า 10,000 คน

มีรายงานว่า เกิดฝนตกหนักมากซัดสาดใส่หมู่บ้านชาวประมงหลายแห่งบริเวณชายฝั่ง ขณะที่ลมรุนแรงพัดเอาต้นไม้จำนวนมากหักโค่น หลายต้นถึงกับถูกถอนรากถอนโคน ภาพถ่ายจากดาวเทียมแสดงให้เห็นพายุรูปก้นหอยที่มีขนาดใหญ่โตมหึมาครอบคลุมพื้นที่แทบทั้งหมดของอ่าวเบงกอล ขณะที่กองทัพเรือสหรัฐฯพยากรณ์ว่า ตอนที่มันยังอยู่ในทะเล ลมรุนแรงที่สุดของไพลินอาจจะมีความเร็วถึงระดับ 296 กิโลเมตรต่อชั่วโมงทีเดียว
ประชาชนพากันวิ่งหาที่กำบัง ณ บริเวณชายหาดเมืองโกปัลปุร์ รัฐโอริสสา ทางภาคตะวันออกของอินเดีย หลังจากมีคำเตือนเรื่องพายุไซโคลน “ไพลิน” จะขึ้นฝั่งที่บริเวณนี้เมื่อวันเสาร์ (12)
จักเดช ดาซารี ผู้นำท้องถิ่นในหมู่บ้านชาวประมงชื่อ โมกาธาลุปาดู ที่อยู่ใกล้ๆ กับจุดที่พายุขึ้นบก บอกกับผู้สื่อข่าวว่า เมื่อถึงตอนค่ำวันเสาร์ (12) ตำรวจต้องออกคำสั่งให้ชาวบ้านละทิ้งกระท่อมทำจากโคลนตากแห้งและหลังคามุงหญ้าของพวกเขา เพื่อไปพักอาศัยชั่วคราวในอาคารของโรงเรียน โดยที่มีรายงานเรื่องชาวบ้านไม่อยากทิ้งบ้านช่องทำนองเดียวกันนี้ จากชุมชนจำนวนมากตลอดพื้นที่ชายฝั่งยากจนแถบนี้ เนื่องจากชาวบ้านต่างเกรงกลัวว่าจะถูกขโมยข้าวของ

ขณะที่รัฐมนตรีมหาดไทย สุสิลกุมาร ชินเด ของอินเดีย แถลงสำทับว่า มีประชาชนจำนวนมากปฏิเสธไม่ยอมโยกย้ายจากบ้านเรือน ทำให้ตำรวจต้องชักจูงโน้มน้าว และบางครั้งก็ต้องออกคำสั่งบังคับ เพื่อให้พวกเขาออกไปอยู่ในสถานที่ซึ่งปลอดภัยกว่า

กระนั้นก็เริ่มมีรายงานผู้เสียชีวิตออกมาแล้ว โดยที่มี 4 คนสิ้นชีวิต เนื่องจากต้นไม้ที่หักโค่นตกลงมาทับใส่ ขณะที่อีกคนหนึ่งตายเพราะผนังกระท่อมโคลนตากแห้งของเธอพังลงมา นอกจากนั้นยังมีรายงานว่าเกิดไฟฟ้าดับในเมืองต่างๆ จำนวนมาก รวมทั้งเมืองภุพเนศวร ซึ่งเป็นเมืองหลวงของรัฐโอริสสา

“เราโชคดีมากที่เรามาอยู่กันที่นี่ ... เราจึงรักษาชีวิตเอาไว้ได้” ชาวบ้านที่ชื่อ นรายัน ฮัลดาร์ กล่าว ขณะเบียดเสียดอยู่กับคนอื่นๆ อีกราว 1,300 คน ในหมู่บ้านชาวประมงแห่งหนึ่งของรัฐโอริสสา เขาร้องทุกข์ว่ารัฐบาลไม่ได้เตรียมเสบียงอาหารเอาไว้อย่างเพียงพอ ขณะที่มีรายงานว่าสถานที่พักพิงหลบภัยบางแห่งในอยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรม และภาพจากทีวีแสดงให้เห็นฝูงชนกำลังยืนอยู่กลางสายฝนด้านนอกของอาคารที่เต็มแน่นด้วยผู้คนแห่งหนึ่ง

ในตอนที่พายุไซโคลนลูกนี้เคลื่อนขึ้นฝั่งนั้น ได้นำเอาคลื่นขนาดยักษ์โถมกระหน่ำใส่ชายหาดหลายแห่ง และชาวบ้านบอกกับสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่งว่า ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นฉับพลันได้ดันให้น้ำพุ่งทะลักขึ้นมาบนฝั่งเป็นระยะทางนับร้อยเมตร โดยเฉพาะตามพื้นที่ลาดต่ำหลายๆ แห่ง

ปรากฏการณ์ระดับน้ำทะเลพุ่งสูงขึ้นอย่างฉับพลัน สืบเนื่องจากฤทธิ์เดชของพายุไซโคลนเช่นนี้ สามารถสร้างความเสียหายได้อย่างร้ายแรงที่สุด โดยที่มีการพยากรณ์กันว่าไพลินจะขับดันให้น้ำทะเลสูงขึ้น 3.5 เมตรทีเดียวในขณะที่พายุไซโคลนลูกนี้มีความรุนแรงสูงสุด

ถึงแม้มีปัญหาความไม่พร้อมจำนวนหนึ่ง แต่การเตรียมตัวรับภัยพิบัติของอินเดียในคราวนี้ก็เห็นกันว่าดีขึ้นอย่างมากมายแล้ว จากคราวพายุไซโคลนที่สร้างความเสียหายร้ายแรงเมื่อ 14 ปีก่อน โดยที่ผู้ทำงานด้านให้ความช่วยเหลือคนที่ต้องอพยพโยกย้ายออกจากบ้าน พากันกล่าวชมมาตรการต่างๆ ในการระวังป้องกันไซโคลนไพลิน เป็นต้นว่า การเตือนภัยล่วงหน้า, การเก็บสะสมข้าวของที่จะนำมาแจกจ่ายผู้พลัดถิ่นที่อยู่ และการอพยพประชาชนออกจากพื้นที่เสี่ยง

องค์การบริหารจัดการภัยพิบัติแห่งชาติของอินเดีย ระบุว่าในครั้งนี้มีประชาชนราว 550,000 คน ที่ต้องอพยพย้ายจากบ้านเรือนไปพำนักตามที่พักพิงชั่วคราว ซึ่งจำนวนมากคืออาคารโรงเรียนและวัดวาอารามต่างๆ นับเป็นการอพยพหลบภัยครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของอินเดียทีเดียว
คลื่นขนาดยักษ์พัดใส่พื้นที่ชายฝั่งเมืองวิสาคาปัตนัม ในรัฐอานธรประเทศ ทางภาคตะวันออกของอินดียเมื่อวันเสาร์ (12) ในขณะที่พายุไซโคลน “ไพลิน” กำลังเคลื่อนตัวขึ้นฝั่งที่เมืองโกปัลปุร์ รัฐโอริสสา ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กัน
ชาวอินเดียจำนวนมากเฝ้าชมคลื่นยักษ์ที่โถมเข้าสู่ชายฝั่ง ขณะที่พวกเขายืนอยู่ตรงบริเวณชายฝั่งอ่าวเบงกอล ในเมืองวิสาคาปัตนัม เมื่อวันเสาร์ (12)
ต้นไม้ใหญ่จำนวนมากหักโค่นในระหว่างเกิดฝนตกหนักและลมพัดรุนแรงที่บริเวณใกล้ๆ ชายหาดเมืองโกปัลปุร์ รัฐโอริสสา ทางภาคตะวันออกของอินเดียในวันเสาร์ (12) ทั้งนี้พายุไซโคลน “ไพลิน” ขึ้นฝั่งในบริเวณแถบนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น