.
ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ความกังวลเกี่ยวกับการอนุญาตให้สัมปทานแก่บริษัทน้ำมันของไทยในแหล่งเมาะตะมะ เป็นเหตุที่อยู่เบื้องหลังการโยกย้ายรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน ไปว่าการกระทรวงการรถไฟ และรัฐมนตรีช่วยว่าการ ถูกโยกไปช่วยว่าการกระทรวงแรงงานปลายเดือนที่แล้ว สื่อกึ่งทางการในพม่ารายงานโดยอ้างการเปิดเผยของแหล่งข่าวในอุตสาหกรรมนี้
การโยกย้ายเมื่อวันที่ 25 ก.ค.ที่ผ่านมา ถือเป็นการลดความสำคัญของนายตานเถ่ (Than Htay) ภายใต้คำสั่งของประธานาธิบดีเต็งเส่ง ซึ่งในคราวเดียวกัน ได้โยกย้ายนายเซยาออง (Zeyar Aung) รัฐมนตรีกระทรวงการรถไฟ ไปดูแลกิจการพลังงานของประเทศแทน และนายถิ่นออง (Htin Aung) รมช. ถูกโยกไปช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน การจ้างงานและประกันสังคม โดยยังไม่มีการแต่งตั้ง รมช.พลังงานคนใหม่ในขณะนี้
แหล่งข่าวหลายแหล่งกล่าวกับนิตยสารข่าวเมียนมาร์ไทม์ส ว่า การเปลี่ยนแปลงในกระทรวงพลังงานครั้งนี้ มีสาเหตุจากการอนุมัติสัมปทานแปลงสำรวจขุดเจาะน้ำมันและก๊าซที่รู้จักกันในชื่อ MD-7 กับ MD-8 ให้แก่บริษัท ปตท.สำรวจและผลิต (PTTEP) ของไทยเมื่อตอนต้นปี
ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานที่มีประสบการณ์มากกว่า 30 ปี กล่าวกับนิตยสารข่าวฉบับนี้ว่า รัฐมนตรีพลังงานทั้ง 2 คนถูกโยกย้ายก็เนื่องจาก “การตัดสินใจที่ทำให้เกิดการโต้แย้งถกเถียง” เกี่ยวกับการใบอนุญาตสำรวจ และผลิตแก่บริษัทไทยดังกล่าว
“ทั้ง 2 แปลงเรียกว่าเป็นแปลงดีที่สุดในอ่าวเมาะตะมะ แต่ ปตท.สผ.ได้รับสัมปทานไป ทั้งๆ ที่ไม่ได้ทำการประกวดราคาด้วยซ้ำ” ผู้เชี่ยวชาญคนเดียวกันกล่าว
แปลงสำรวจ MD-7 กับ MD-8 ไม่ได้ถูกรวมเอาไว้ในบัญชีรายชื่อ 30 แปลงที่กระทรวงพลังงานจัดประกวดราคาในเดือน เม.ย. หลังจาก ปตท.สผ. ประกาศในกลางเดือน ม.ค.ว่า ตนได้รับสิทธิในแปลงสำรวจทั้ง 2 แล้ว
เดือนก่อนหน้านั้น สำนักข่าวซินหวาของทางการจีนได้อ้างคำพูดของ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ (อดีต) รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของไทย ที่ระบุว่า เมื่อตนได้พบหารือกับรัฐมนตรีพลังงานพม่าในวันที่ 20 ธ.ค. ในกรุงเนปีดอ นายตานเต่ “ได้แสดงการสนับสนุน” ข้อเสนอของ ปตท.สผ. สำหรับแปลง MD-7 และ MD-8
“ผมได้ยินมาว่ากระทรวงฯ กำลังจะประกาศให้สิทธิแปลง MD-7 กับ MD-8 แก่ ปตท.สผ. เมื่อมีการประกาศผู้ชนะการประกวดราคาทั้ง 30 แปลง เพื่อให้กระบวนการดูมีความโปร่งใส” ผู้เชี่ยวชาญคนเดิมกล่าว
.
.
อดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงพลังงานอีกผู้หนึ่งยืนยันว่า การให้สัมปทานแปลงสำรวจทั้ง 2 และการต่ออายุสัญญาที่มีอยู่นั้นมีปัญหา เช่นเดียวกับที่มีการกล่าวหาเกี่ยวกับการรับสินบนที่เกี่ยวข้องกับโครงการพลังงานอื่นๆ รวมทั้งการก่อสร้างท่อส่งก๊าซด้วย
อดีตเจ้าหน้าที่รายเดียวกันนี้บอกแก่เมียนมาร์ไทม์ส ว่า การเปลี่ยนแปลงในกระทรวงพลังงานวันที่ 25 ก.ค. ยังรวมทั้งการโยกย้ายนายซอออง อธิบดีกรมวางแผนพลังงาน ไปทำงานใหม่ที่กระทรวงเหมืองแร่ด้วย
ก่อนหน้านั้น นายซอออง มีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนของรัฐวิสาหกิจน้ำมันและก๊าซพม่า (Myanmar Oil and Gas Enterprise) หรือ MOGE และยังกำกับดูแลคณะกรรมการของกระทรวงฯ ที่ทำหน้าที่พิจารณาต่อสัญญาการแบ่งปันการผลิต (Production Sharing Contracts -PSC) ที่มีอยู่ รวมทั้งการออกใบอนุญาตสำรวจ และผลิตให้แก่บริษัทน้ำมันทั้งในประเทศ และต่างประเทศด้วย
แหล่งข่าวอีกหลายแหล่งกล่าวว่า กระทรวงพลังงาน ไม่ได้ประกาศใดๆ เกี่ยวกับการตัดสินใจให้สิทธิการสำรวจและผลิตแก่บริษัทพลังงานของไทย กับการเจรจาต่อสัญญาให้แก่บริษัท MPRL E&P ในแหล่งบนบกทางตอนกลางของพม่าอีกกรณีหนึ่งด้วย.