xs
xsm
sm
md
lg

บ.น้ำมันทั่วโลกรุมตอม “พม่า” หลังการผ่อนคลายการเมือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033>ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2555 แสดงให้เห็นบริเวณพื้นที่ก่อสร้างถังเก็บน้ำมันของบริษัทไชน่า เนชันแนล ปิโตรเลียม คอร์เปอร์เรชัน นอกชายฝั่งใกล้เมืองจ็อกพยู รัฐยะไข่ ทางตะวันตกของพม่า แม้พม่าจะยังไม่พัฒนาเท่าประเทศอื่นๆ แต่ในฐานะของการเป็นแหล่งน้ำมันและก๊าซขนาดใหญ่แห่งใหม่ ทำให้พม่านั้นกลายเป็นที่หมายตาของบรรดานักลงทุนจากทั่วโลก . --  AFP PHOTO/Lwin Ko Taik. </font></b>

เอเอฟพี – แม้ประเทศอื่นๆ อาจมีอุปกรณ์ที่ดีกว่า และเชื่อถือได้มากกว่า รวมทั้งมีข้อมูลแหล่งพลังงานสำรองที่พิสูจน์แล้วครบถ้วนกว่า กระนั้น พม่าก็สามารถแจ้งเกิดในฐานะแหล่งน้ำมัน และก๊าซขนาดใหญ่แห่งใหม่ซึ่งเป็นที่หมายตาของผู้เล่นจากทั่วโลก นับแต่ที่การปฏิรูปการเมืองช่วยลบล้างภาพลักษณ์ซึ่งเคยเป็นที่รังเกียจของนานาชาติ และกระตุ้นให้นานาประเทศยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร

บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) ของไทย อีพีไอ โฮลดิ้งส์ จากฮ่องกง จีโอปิโตร อินเตอร์เนชันแนล โฮลดิ้งส์ ของสวิตเซอร์แลนด์ และปิโตรนาสแห่งมาเลเซีย เป็นส่วนหนึ่งของบริษัทที่ทำข้อตกลงสำรวจแหล่งน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติในพม่าเมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว

เดือนกันยายนปีเดียวกัน โทเทล ยักษ์ใหญ่จากฝรั่งเศส ซื้อหุ้น 40% ในโครงการสำรวจน้ำมันนอกชายฝั่งของแดนหม่อง ตามด้วยวูดไซด์ บริษัทพลังงานใหญ่สุดแดนจิงโจ้ ขณะที่มีรายงานว่า ผู้เล่นสำคัญของอเมริกา และยุโรปอื่นๆ เล็งที่จะเข้าสมทบในอีกไม่นาน

คาดว่ากระแสความสนใจนี้จะยังคงเชี่ยวกราก หลังจากที่พม่าเปิดประมูลแหล่งน้ำมันบนฝั่ง 18 แหล่งเมื่อเดือนที่แล้ว ขณะที่การประมูลแหล่งน้ำมันนอกชายฝั่งอีกราว 50 แหล่งขึ้นไปยังอยู่ระหว่างการพิจารณา

นอกจากนี้ เดือนหน้าย่างกุ้งจะเป็นเจ้าภาพการประชุมอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาตินานาชาติ ท่ามกลางการกล่าวขานถึงแหล่งพลังงานสำรองของแดนหม่อง แม้มีรายละเอียดข้อเท็จจริงออกมาน้อยมากก็ตาม

ราจีฟ บิสวอส หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำเอเชีย-แปซิฟิก ของ ไอเอชเอส โกลบัล อินไซต์ ระบุว่า ความที่พม่าถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจมาหลายปี ขณะนี้จึงยังมีการลงทุนจำกัดมาก เช่นเดียวกับการสำรวจแหล่งน้ำมันและก๊าซด้วยเทคโนโลยีการสำรวจด้วยคลื่นไหวสะเทือนสมัยใหม่ พม่าจึงเป็นเป้าหมายเร้าใจสำหรับบริษัททั่วโลก

ทางด้านโฆษกบริษัทน้ำมันต่างชาติแห่งหนึ่งขานรับว่า พม่าเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในโลกที่ยังไม่มีการสำรวจแหล่งพลังงานอย่างสมบูรณ์

สำนักงานข่าวกรองกลางของสหรัฐฯ (ซีไอเอ) ประเมินว่า พม่ามีน้ำมันสำรองอยู่ 50 ล้านบาร์เรล และก๊าซธรรมชาติ 283,200 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่บนหน้าเว็บของเมียนมาร์ ออยล์ แอนด์ ก๊าซ เอนเตอร์ไพรส์ (MOGE) รัฐวิสาหกิจน้ำมันของพม่า อ้างอิงการประเมินแหล่งพลังงานสำรองที่ได้รับการพิสูจน์แล้วในปี 2006 ว่า พม่ามีน้ำมัน 226 ล้านบาร์เรล และก๊าซ 457,000 ล้านลูกบาศก์เมตร

แหล่งข่าวหลายรายที่ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเอเอฟพี ยอมรับว่า ตัวเลขเหล่านี้ยังน่าเคลือบแคลง สมมติฐานเดียวที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางคือ แหล่งสำรองนอกชายฝั่งมีปริมาณมากกว่าบนชายฝั่ง และอาจมีก๊าซมากกว่าน้ำมัน
.
<br><FONT color=#000033>ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2556 พนักงานชาวพม่าเติมน้ำมันให้กับรถของลูกค้าภายในปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่งในนครย่างกุ้ง. --  AFP PHOTO/Soe Than Win. </font></b>
.
โม ติน ผู้จัดการเมียนมาร์ ปิโตรเลียม เอ็กซ์พลอเรชัน แอนด์ โปรดักชัน คอมปานี ลิมิเต็ด ที่ดำเนินการแหล่งน้ำมันภาคกลางของพม่า บอกว่า ระยะหลังเจ้าหน้าที่พม่าระมัดระวังมากขึ้น และไม่ค่อยยอมเปิดเผยการประมาณการแหล่งพลังงานสำรองที่ค้นพบ หรือแหล่งที่น่าจะมีพลังงานสำรองอยู่ที่ยังไม่ถูกค้นพบ

เขาเสริมว่า พม่าควรส่งเสริมให้ต่างชาติเข้าลงทุนเพื่ออาศัยประโยชน์จากเทคโนโลยีการสำรวจแหล่งพลังงานนอกชายฝั่ง โดยถ้ายิ่งมีบริษัทเข้าร่วมมากขึ้น ก็ยิ่งลดโอกาสในการผูกขาดของบริษัทขนาดใหญ่

อันที่จริงแล้ว ที่ผ่านมาพม่าจดจ่อเฝ้ารอการมาเยือนของบริษัทพลังงานระดับโลก เนื่องจากตลอด 2 ทศวรรษมานี้ มีเพียงบริษัทเอเชียนำโดยจีนเท่านั้น ซึ่งกล้าเข้าลงทุนในพม่าที่ถูกมองเป็นปีศาจในสายตาประชาคมนานาชาติจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ขณะที่กลุ่มกิจการตะวันตกขนาดใหญ่ 2 แห่งคือ โทเทล และเชฟรอน เข้าไปปักหลักก่อนที่พม่าจะถูกคว่ำบาตร จึงถูกกล่าวหาว่า รับใช้เผด็จการทหาร และเพิกเฉยต่อปัญหาการบังคับใช้แรงงาน

อย่างไรก็ดี วันนี้พม่าเริ่มปฏิรูปการเมือง และบริษัทท้องถิ่นกระตือรือร้นยื่นข้อเสนอเป็นหุ้นส่วนกับต่างชาติ

บุคคลสำคัญที่สนับสนุนให้เกิดบรรยากาศใหม่นี้คือ เต็ง เส่ง อดีตนายทหารใหญ่ซึ่งปัจจุบันรับตำแหน่งประธานาธิบดีนักปฏิรูป ที่แสดงท่าทีชัดเจนว่า ถึงเวลาแล้วที่พม่าจะมีความโปร่งใส

มีรายงานว่า การเปิดประมูลในปีที่ผ่านมาต้องล่าช้าออกไป เนื่องจากทางการพม่าต้องการยกระดับความโปร่งใสของกระบวนการ และระบบทั้งหมดให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล

พม่านั้นตระหนักว่า ขณะนี้ถึงเวลาแล้วที่จะสำรวจแหล่งพลังงานสำรองทั้งหมด โดยอุตสาหกรรมนี้ในปัจจุบันเป็นผู้ทำรายได้จากการส่งออกคิดเป็น 34% ของยอดส่งออกโดยรวมของประเทศ และมีแนวโน้มขยายตัวต่อไป.
กำลังโหลดความคิดเห็น