.
ASTVผู้จัดการออนไลน์ - กระทรวงกลาโหมมาเลเซีย อนุมัติงบประมาณ 300 ล้านริงกิต หรือกว่า 100 ล้านดอลลาร์ เพื่อยกระดับความพร้อมรบของฝูงบิน Su-30MKM ทั้ง 18 ลำ ขึ้นสู่ระดับ 85% ทั้งนี้ อาจจะเป็นเพราะประสบการณ์ในเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา เมื่อส่งเครื่องบินรบเข้าโจมตีกองกำลังติดอาวุธชนพื้นเมืองฟิลิปปินส์ ในดินแดนของมาเลเซียบนเกาะบอร์เนียว สื่อกลาโหมออนไลน์ในรัสเซียรายงานเรื่องนี้ อ้างการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่บริษัทผู้ผลิต และส่งออกอาวุธและอากาศยาน
การยกระดับความพร้อมดังกล่าว ไม่เพียงแต่จะต้องเพิ่มชิ้นส่วน อุปกรณ์ และระบบอาวุธเท่านั้น หากยังรวมถึงการฝึกฝนบุคลากรให้มีความเชี่ยวชาญในการใช้ระบบอาวุธต่างๆ อีกด้วย เพื่อใช้เครื่องบินรบสุดยอดจากรัสเซียให้ได้เต็มสมรรถนะของมัน
เว็บไซต์ข่าวกลาโหม AIN ในรัสเซียได้รายงานเรื่องนี้สัปดาห์นี้ โดยอ้างการเปิดเผยของนายอเล็กซานเดอร์ เคลเมนเตียฟ (Alexander Klementiev) ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายการตลาดของบริษัทซูคอย ระหว่างงานนิทรรศการการบินและการอวกาศ ที่เมืองเลอบูเฌ ชานกรุงปารีส ซึ่งดำเนินอยู่ในขณะนี้
เครื่องบิน Su-30MKM ทั้ง 18 ลำ ประจำการที่ฝูงบิน 11 ในรัฐเกดะห์ ทางตอนเหนือของประเทศ ปัจจุบันมีความพร้อมรบเพียง 65-70% เท่านั้น และตั้งแต่เดือน ม.ค.เป็นต้นมา ไม่มีเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญชาวรัสเซียที่เป็นฝ่ายสนับสนุนของบริษัทซูคอยเหลืออยู่อีก ทั้งหมดถอนกลับหลังจากสัญญาเกี่ยวกับการสนับสนุนด้านวัสดุอุปกรณ์ และเทคนิคหมดอายุลงเมื่อ 4 ปีที่แล้ว AIN กล่าว
มาเลเซียได้รับมอบ Su-30 ทั้ง 18 ลำ ระหว่างปี 2550-2554 หลังจากพ้นระยะเวลารับประกันของโรงงานสิ้นสุดลง เจ้าหน้าที่ฝ่ายสนับสนุนของซูคอยได้ทยอยเดินทางกลับประเทศ คงเหลือไว้ในรัฐเกดะห์เพียง 3 คนใน แต่ทั้งหมดเดินทางกลับในเดือน ม.ค.ปีนี้ และมาเลเซียได้มอบให้บริษัทสนับสนุนทางเทคนิคแห่งหนึ่งในประเทศดูแล และบำรุงรักษาแทน
นายเคลเมนเตียฟ บอกกับ AIN ว่า ภายใต้ความตกลงครั้งใหม่นี้จะมีการเพิ่มอะไหล่ชิ้นส่วน กับเครื่องมือในโรงซ่อมบำรุงเป็นหลัก รวมทั้งโปรแกรมฝึกบุคคลากรให้กองทัพอากาศมาเลเซียเพิ่มเติมด้วย
รัสเซียได้ก่อตั้งศูนย์ซ่อมบำรุง Sukhoi Technical Center ขึ้นในรัฐเกดะห์ อันเป็นส่วนหนึ่งในสัญญาการซื้อขายเครื่องบิน และต่อมา ได้ส่งมอบศูนย์ STC ให้แก่รัฐบาลมาเลเซีย ซึ่งได้มอบหมายอีกทอดหนึ่งให้บริษัทระบบเทคโนโลยีอวกาศ (Aerospace Technology Systems Corp) เป็นผู้ดำเนินการ
ที่นั่นมีเวิร์กชอปที่สามารถซ่อมบำรุงได้ทุกอย่าง ยกเว้นเพียงการ “ยกเครื่อง” รวมทั้งงานซ่อมแซมเกี่ยวกับโครงสร้างของตัวเครื่องเท่านั้น AIN กล่าว
เมื่อกองทัพอากาศมาเลเซียนำ Su-30 บินขึ้นโชว์ในงาน LIMA 2013 ที่เกาะลังกาวีต้นปีนี้ ฝ่ายรัสเซียชื่นชมขีดความสามารถของนักบินมาเลเซียที่ใช้งานเครื่องบินรบขนาดใหญ่ 2 เครื่องยนต์ไอพ่นได้คล่องแคล่ว รวมทั้งการใช้ “ธรัสต์เว็กเตอร์” ในการบังคับเครื่องบินด้วย แต่ Su-30 ก็ยังมีมากกว่านั้น รวมทั้งการจะต้องมีความเชี่ยวชาญในการใช้ระบบควบคุมอาวุธนำวิถีที่มีความแม่นยำสูงชนิดต่างๆ ด้วย นายเคลเมนเตียฟกล่าว
.
เสริมเขี้ยวเสือเหลือง เว็บไซต์ข่าวกลาโหม
2
3
4
5
6
7
8
นายวิกเตอร์ โคมาร์ดิน (Victor Komardin) รองผู้อำนวยการฝ่ายขายของโรโซบอโรเน็กซ์ปอร์ต (Rosoboronexport) รัฐวิสาหกิจส่งออกอาวุธ กระทรวงกลาโหมรัสเซียเปิดเผยกับ AIN ในงานเดียวกันว่า รัสเซียได้เสนอให้มาเลเซียอัปเกรดเครื่องบินรบมิก-29 (MiG-29) แทนการปลดระวางประจำการ และซื้อฝูงใหม่ที่ต้องใช้งบประมาณมหาศาล
กองทัพอากาศมาเลเซีย ใช้มิก-29 มาตั้งแต่ปี 2535 เป็น Mig-29N และ NUB รวม 18 ลำ ซึ่งปัจจุบันเหลือบินได้อยู่ไม่ถึง 10 ลำ มาเลเซียกล่าวว่า เครื่องบินรบรุ่นนี้มีค่าบำรุงรักษาสูง ไม่คุ้มที่จะซ่อมขึ้นมาใช้งาน แต่นายโคมาร์ดิน กล่าวว่า การอัปเกรดจะทำให้ ฝูง MiG-29 ทันสมัย ทันเทคโนโลยี และมีอายุยาวนานขึ้นเป็น 40 ปี
ปัจจุบัน บริษัทผู้ผลิตได้พัฒนายกระดับ MiG-29 รุ่นใหม่ขึ้นมาให้เป็นเครื่องบินรบยุคที่ 4+ และกองทัพเรือรัสเซียเองได้เปลี่ยนมาใช้มิก-29 ประจำเรือบรรทุกเครื่องบินแทน Su-33 ที่ทยอยปลดระวางประจำการ กองทัพเรืออินเดีย ก็เลือกมิก-29 เพื่อใช้ประจำเรือบรรทุกเครื่องบินลำใหม่ที่รัสเซียจะส่งมอบปลายปีนี้
มาเลเซียประกาศแผนการจัดซื้อจัดหาเครื่องบินรบยุคใหม่เพื่อใช้แทน MiG-29 ทั้งฝูง และที่ผ่านมา ได้คัดเลือกเข้าสู่พิจารณาจำนวน 5 รุ่น ซึ่งได้แก่ F/A-18F “ซูเปอร์ฮอร์เน็ต” ของสหรัฐฯ, Su-30 รุ่นใหม่, EF-2000 ยูโรไฟเตอร์ “ไต้ฝุ่น”, ราฟาล (Rafale) ของดาสซอลต์ ฝรั่งเศส และ JAS-39 “กริพเพน” ของกลุ่ม SAAB แห่งสวีเดน
อย่างไรก็ตาม มาเลเซียประสบปัญหาเกี่ยวกับงบประมาณสำหรับการจัดซื้อจัดหาเครื่องบินรบฝูงใหม่พอสมควร ซึ่งดูเหมือนจะทำให้เครื่องบินรบค่ายรัสเซียมีโอกาสมากกว่าค่ายอื่น
นายโคมาร์ดิน กล่าวด้วยว่า รัสเซียพร้อมพิจารณาขาย “เครื่องบินรบยุคที่ 5” ให้มาเลเซียด้วยเช่นกัน ถ้าหากแสดงความสนใจ และเสนอแผนการจัดซื้อไป นั่นคือเครื่องบิน T-50 PAKFA ที่ใช้เทคโนโลยีสเตลธ์ล้ำสมัยที่สุดของซูคอยในปัจจุบัน.
.
จอมโจรควันโขมงYouTube.Com
ซ่อมหรือโละดี? Reuters Photo
มาเลเซียขึ้นระวางประจำการฝูงบินมิก-29 ตั้งแต่ปี พ.ศ.2538 ปัจจุบันยังใช้งานได้ไม่ถึง 10 ลำ จากทั้งหมด 18 จำนวนหนึ่งจัดไว้บินแสดงโชว์โดยเฉพาะ โดยตั้งชื่อ "ฝูงบินโจรควันโขมง" มาเลเซียอยู่ระหว่างจัดซื้อจัดหาเครื่องบินรบรุ่นใหม่ทดแทน แต่ปัญหาคืองบประมาณที่จำกัด เพราะฉะนั้นพร้อมกับการเสริมขีดความสามารถให้กับ Su-30MKM ที่มีอยู่ "ฝูงครึ่ง" รัสเซียได้เสนอแผนการอัปเกรด MiG-29 ทั้งหมดให้เป็นเครื่องบินรบที่ทันสมัยทันเทคโนโลยีปัจจุบันแทนการโละทิ้งซึ่งนอกจากช่วยประหยัดงบ ยังทำให้อายุใช้งานยาวนานขึ้นเป็น 40 ปี ภาพทั้งหมดต่อไปนี้เป็นฝูงบิน Smoky Bandits มิก-29เอ็น “ฟัลครัม” ที่ทัพฟ้าเสือเหลืองส่งไปร่วมงานสิงคโปร์แอร์โชว์เดือน ก.พ.ปีที่แล้ว. |
9
10
11
12
13
14