xs
xsm
sm
md
lg

ทอ.อิเหนาเปลี่ยนใจซื้อ Su-30 รัสเซียอีก 6 ลำ $470 ล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<bR ><FONT color=#000033>เครื่องบิน Su-27 (หน้าสุด) กับ Su-30 (ลำถัดไป) ทั้ง 2 ลำ บินเข้าฝูงกับเอฟ-18 ฮอร์เน็ต ของกองทัพอากาศออสเตรเลียระหว่างการฝึกพิตช์แบล็ก (Pitch Black 2012) ที่เมืองดาร์วิน ในออสเตรเลียเหนือเมื่อปลายปีที่แล้วซึ่งอินโดนีเซียส่งเครื่องบินรบตระกูลซูคอยไปร่วมจำนวน 4 ลำ เป็นการฝึกร่วมครั้งแรกระหว่างทัพฟ้าของสองประเทศเพื่อนบ้าน กองทัพอากาศไทยและสิงคโปร์ได้ไปร่วมฝึกด้วยเช่นกัน ปัจจุบันทัพฟ้าอินโดนีเซียมี Su-30 กับ Su-27 ประจำการรวม 10 ลำ และเพิ่งจะเซ็นซื้อ Su-30MK2 อีก 6 ลำ ยังไม่ทราบกำหนดการส่งมอบ. </b>
.

ASTVผู้จัดการออนไลน์ - อินโดนีเซียได้เปลี่ยนความคิดอีกครั้งหนึ่ง และตัดสินใจเซ็นซื้อเครื่องบินรบแบบ Su30MK2 เพิ่มอีก 6 ลำ โดยใช้เงินกู้ของรัสเซีย การจัดซื้อครั้งนี้จะทำให้กองทัพอากาศมีเครื่องบินรบตระกูลซูคอย (Sukhoi) เพิ่มขึ้น 16 ลำ สำนักข่าวอินเตอร์แฟ็กซ์รายงานเรื่องนี้ อ้างนายอะนาโตลี อิซาอิคิน (Anatoly Isaikin) ผู้อำนวยการใหญ่ของโรโซโนรอเน็กซ์ปอร์ต (Rosoboronexport) บริษัทขายอาวุธยุทโธปกรณ์ภายใต้กระทรวงกลาโหม

แผนการจัดซื้อเครื่องบินทั้ง 6 ลำ เปิดเผยเป็นครั้งแรกในปี 2553 ซึ่งมูลค่าในขณะนั้นคือ 470 ล้านดอลลาร์ พร้อมระบบอาวุธ และกระทรวงกลาโหมอินโดนีเซีย ประกาศในช่วงนั้นเกี่ยวกับโครงการจัดซื้อเครื่องบินรบชนิดต่างๆ จากรัสเซียถึง 180 ลำ เพื่อให้มีจำนวนครบ 10 ฝูง ตลอดระยะเวลา 20 ปีข้างหน้า

แต่ในเดือน ส.ค.2554 เจ้าหน้าที่ระดับสูงผู้หนึ่งของกระทรวงกลาโหมอินโดนีเซียได้ประกาศยกเลิกแผนการจัดซื้อเครื่องบินรบจากรัสเซียท่ามกลางความงุนงงของหลายฝ่าย โดยอ้างว่า มีงบประมาณไม่เพียงพอ และจะใช้สำหรับอัปเกรดเครื่องบินลำเลียงขนส่งแบบ ซี-130 ที่ใช้งานมานาน รวมทั้งซื้อต่อจากกองทัพอากาศออสเตรเลียอีก 1 ลำด้วย

การประกาศเรื่องนี้เป็นช่วงเดียวกันกับที่รัฐบาลสหรัฐฯ ได้เปิดเผยแผนการบริจาคเครื่องบินเอฟ-16 ที่ใช้งานแล้วให้แก่กองทัพอินโดนีเซีย “ฟรีๆ” จำนวน 24 ลำ แต่จะต้องจ่ายค่าอัปเกรดเป็นเงินหลายร้อยล้านดอลลาร์

อย่างไรก็ตาม สองฝ่ายยังสืบต่อเจรจาซื้อขาย Su-30SK2 ต่อมาบนพื้นฐานที่ว่ามีการตกลงกันแล้ว เหลือเพียงขั้นตอนที่ฝ่ายอินโดนีเซียเลือกระบบอาวุธเท่านั้น

ต่อมา ในเดือน ธ.ค.2554 โรโซโนรอเน็กซ์ปอร์ต ได้เซ็นสัญญาเตรียมส่งมอบเครื่องบินรบทั้ง 6 ลำ ให้ฝ่ายอินโดนีเซีย รวมมูลค่าซื้อขาย 470 ล้านดอลลาร์ และมีกำหนดรับส่ง 2 ลำแรกในสิ้นปี 2555 อีก 4 ลำที่เหลือใน 2 ปีถัดไป แต่ไม่มีการส่งมอบใดๆ เกิดขึ้น

จนกระทั่งเดือน ธ.ค.2555 กระทรวงการคลังอินโดนีเซียได้เซ็นสัญญาเงินกู้แบบ “เอ็กซ์ปอร์ตเครดิต” จำนวน 399.5 ล้านดอลลาร์ จากธนาคารเพื่อการพัฒนาและกิจการเศรษฐกิจต่างประเทศ (Bank for Development and Foreign Economic Affairs --Vnesheconombank) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ โดยมีระยะเวลาใช้คืน 7 ปี ซึ่งเข้าใจว่าเป็นเงินกู้สำหรับซื้อ Su-30MK2 ล็อตล่าสุด

ปัจจุบัน กองทัพอากาศอินโดนีเซียมี Su-30MK ประจำการ จำนวน 2 ลำ Su-30MK2 อีก 3 ลำ ส่วนที่เหลือเป็น Su-27SK จำนวน 3 ลำ กับ Su-27SKM อีก 3 ลำ ทั้งหมดส่งมอบระหว่างปี 2543-2551 เป็นหนึ่งใน 3 ชาติกลุ่มอาเซียนที่ใช้เครื่องรบผลิตในรัสเซีย ถัดจากเวียดนาม และมาเลเซีย

ในปี 2546 มาเลเซียเซ็นสัญญาซื้อ Su-30MKM จำนวน 18 ลำ มูลค่าราว 900 ล้านดอลลาร์ ได้รับส่งมอบครบทั้งหมดแล้ว

ปี 2548 เวียดนามสั่งซื้อ Su-30MK2 ล็อตแรก จำนวน 4 ลำ ซื้ออีกล็อต จำนวน 8 ลำ ในปี 2550 อีก 12 ลำ ในปี 2552 มีการทยอยส่งมอบมาเป็นระยะๆ จนกระทั่งลำสุดท้ายซึ่งเป็น MK2V และเป็นลำที่ 24 ได้รับมอบในเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา

นอกจาก Su-30 รุ่นล่าสุดแล้ว ในช่วง 10 ปีก่อนหน้านี้เ วียดนามได้จัดซื้อเครื่องบินรบ Su-27 รวม 15 ลำ เป็น Su-27SK จำนวน 12 ลำ และ Su-27UBK อีก 3 ลำ ทำให้มีเครื่องบินรบของซูคอยประจำการรวม 44 ลำในปัจจุบัน ยังไม่นับรวมเครื่องบินโจมตีทิ้งระเบิดรุ่นเก่าแบบ Su-22 ทีใช้มาตั้งแต่สมัยสงครามเย็นและยังใช้การได้อีกนับร้อยลำ

ตามรายงานของสื่อทางการ กองทัพอากาศเวียดนามมีแผนการจัดซื้อ Su-30 ถึง 44 ลำในช่วง 15 ปี (2548-2563) เพื่อให้ได้จำนวนครบ 3 ฝูง และเมื่อต้นปีนี้ ฝ่ายรัสเซียได้เสนอขายให้อีก 12 ลำ.
.
กำลังโหลดความคิดเห็น