.
ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ไม่เคยมียุคใดที่กลุ่มสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะทุ่มงบประมาณซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์มากมายขนาดนี้มาก่อน เวียดนามกำลังจะเป็นมหาอำนาจเรือดำน้ำ อินโดนีเซียทุ่มเงินมหาศาลเพื่อซื้อเรือรบ เรือดำน้ำอีก 2 ลำ เครื่องบินรบอีก 16 ลำ รถถังรุ่นใหม่ ยานลำเลียงพลหุ้มเกราะ ปืนใหญ่อัตตาจร และอื่นๆ ไทยกำลังมองหาเรือฟรีเกตรุ่นใหม่อีก 2 ลำ มาเลเซียกำลังพิจารณาคัดเลือกเครื่องบินรบยุคที่ 4 อีก 18 ลำ
ไปไกลที่สุดคือ สิงคโปร์ซึ่งจองเอฟ-35 เครื่องบินรบยุคที่ 5 ของสหรัฐฯ อันจะทำให้ประเทศเกาะเล็กๆ แห่งนี้กลายเป็นมหาอำนาจทางอากาศภายในกลุ่ม
การรุกลงใต้ของจีน กับการกล่าวอ้างทะเลจีนใต้เป็นของตนแต่ผู้เดียว ทำให้อาเซียนตื่นกลัว ประกอบกับสถานการณ์ใหม่ที่สหรัฐฯ หมุนเวียนกำลังเข้าสู่ภูมิภาคนี้ถึง 60% ทำให้ประเทศต่างๆ ในย่านนี้มองว่าอาวุธทันสมัยมีความจำเป็นมากขึ้น
แม้แต่ฟิลิปปินส์ที่อยู่เงียบๆ มาหลายทศวรรษภายใต้ร่มเงาของสหรัฐฯ ในฐานะประเทศพันธมิตรนอกกลุ่มนาโต้ ก็ยังต้องซื้อหาอาวุธเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 20 ปี
ปี 2556 ดุลอำนาจภายในกลุ่มที่มีสมาชิก 10 ชาติกำลังจะเปลี่ยนไป แต่ละประเทศต้องหาอาวุธเพื่อป้องกัน และป้องปรามเพื่อตัวเอง ถึงแม้ว่าทั้งหมดจะรวมตัวเข้าเป็นประชาคมใหญ่ภายในปี 2558 นี้ก็ตาม
หากทุกอย่างเป็นไปตามกำหนด เวียดนามจะได้รับเรือดำน้ำชั้นคิโล (Kilo-class) สองลำแรกในช่วงปลายปีนี้ และนี่คือเรือสำหรับสงครามใต้น้ำที่ทันสมัยที่สุดอีกรุ่นหนึ่งของรัสเซียที่ผ่านการพัฒนามายาวนานตั้งแต่ยุคที่เป็นสหภาพโซเวียต ซึ่งจะทำให้เวียดนามมีเขี้ยวเล็บที่น่าเกรงขามยิ่งขึ้น ขณะที่ต้องเผชิญหน้ากับ “การคุกคาม” จากจีน ในกรณีพิพาทหมู่เกาะพาราเซลทางตอนเหนือ กับหมู่เกาะสแปร็ตลีย์ที่อยู่ใต้ลงไป
ไม่เฉพาะเวียดนามเท่านั้นที่เป็นคู่พิพาทในเรื่องเขตน่านน้ำแดนดินในทะเลจีนใต้กับจีน ยังมีอาเซียนอีก 3 ประเทศที่เป็นคู่กรณีด้วย ได้แก่ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และบรูไน กับอีกฝ่ายหนึ่งที่อยู่ไกลออกไปคือ จีนไต้หวัน
มาเลเซียประกาศระหว่างงานแสดงนิทรรศการการอวกาศและท้องทะเล ที่เกาะลังกาวี หรือ LIMA 2513 ในเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา เกี่ยวกับแผนการจัดซื้อเครื่องบินรบอีก 18 ลำ ซึ่งได้คัดเอาไว้พิจารณา 5 รุ่น คือ JAS-39 กริพเพน จากสวีเดน ยูโรไต้ฝุ่น จากอังกฤษ ราฟาล จากฝรั่งเศส เอฟ-18อี/เอฟ “ซูเปอร์ฮอร์เน็ต” ของสหรัฐฯ และซูคอย Su-30 ของรัสเซีย
มาเลเซียเป็นชาติที่ 3 ในอาเซียนที่มีเรือดำน้ำ ถัดจากสิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ซึ่งทั้ง 3 ชาตินี้ล้วนมีแผนการจัดซื้อเพิ่มเติม
กองทัพอากาศไทยเพิ่งได้รับมอบกริพเพน อีก 3 ลำ รวมเป็น 9 จากทั้งหมด 12 ลำ ที่จัดซื้อ ขณะที่อินโดนีเซียประกาศในเดือน มี.ค.ว่า ได้ตัดสินใจซื้อ Su-30 จากรัสเซียอีก 16 ลำ และกำลังรอส่งมอบเอฟ-16 ที่ใช้แล้วจากสหรัฐฯ เพื่อทำการอัปเกรด ซึ่งว่ากันว่ามีจำนวนถึง 24 ลำ
ฟิลิปปินส์ที่ไม่เคยซื้ออาวุธมานาน กำลังมองหาเรือฟรีเกตติดระบบจรวดทันสมัย เพื่อลาดตระเวนน่านน้ำ จำนวน 2 ลำ นอกจากนั้น ในเดือน มี.ค.ยังได้เซ็นสัญญาซื้อเฮลิคอปเตอร์จากค่ายยุโรป จำนวน 3 ลำ ติดอุปกรณ์เตือนภัยล่วงหน้าสำหรับภารกิจบินลาดตระเวนน่านน้ำ
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงความเคลื่อนไหวใหม่ๆ ในภูมิภาคนี้ แต่แผนการจัดซื้อจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ภายในกลุ่มอาเซียนมานานแล้ว รวมทั้งราชนาวีของไทยที่กำลังมองหาเรือฟรีเกตรุ่นใหม่อีก 2 ลำ ซึ่งอาจจะเป็นเรือที่ผลิตในเยอรมนี เกาหลี หรือเป็นเรือฟรีเกตที่สหรัฐฯ ปลดประจำการ และจะมอบให้ฟรีๆ จำนวน 2 ลำ แต่ไทยจะต้องจ่ายหลายร้อยล้านดอลลาร์เป็นค่าใช้จ่ายในการอัปเกรดให้ทันสมัย
ผู้สังเกตการณ์กล่าวว่า การที่จีนเพิ่มงบประมาณด้านกลาโหมกว่า 10% ในปีนี้ ยิ่งทำให้ประเทศเพื่อนบ้านกลุ่มอาเซียนพากันตื่นตัว กระตือรือร้นจัดซื้อจัดหาอาวุธมากยิ่งขึ้น หลังจากช่วงปีที่ผ่านมา สิงคโปร์ได้กลายเป็นประเทศซื้ออาวุธมากที่สุด จนกระทั่งติดในอันดับต้นๆ ของโลก
การปรากฏตัวของเรือรบจีนในเขตหมู่เกาะพิพาท กับการส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดยุทธศาสตร์ของกองทัพอากาศเข้าสู่ทะเลจีนใต้เป็นครั้งแรก ได้ทำให้อาเซียนตื่นตระหนกถึงภัยอันตรายจากประเทศคอมมิวนิสต์ อาเซียนเห็นความจำเป็นที่จะต้องเฝ้าระวังเขตน่านน้ำแดนดินของตนมากกว่าครั้งไหนๆ
.
.
ถึงแม้ว่าสถิติปี 2555-2556 จะยังไม่มีออกมา แต่สถาบันวิจัยสันติภาพในกรุงสตอกโฮล์ม หรือ (SIPRI) ได้พบว่า ในปี 2554-2555 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใช้งบประมาณกลาโหมเพิ่มขึ้นถึง 42% มากที่สุดคือ ซื้อเรือรบ เรือตรวจการณ์ ระบบเรดาร์ เครื่องบินรบ เรือดำน้ำ และพวกระบบจรวดต่อต้านเรือรบ
เชื่อกันว่าปีนี้ค่าใช้จ่ายด้านกลาโหมของอาเซียนจะเพิ่มสูงขึ้นอีกมาก
มาเลเซียซื้อเรือดำน้ำสกอร์ปีน (Scorpene) จากฝรั่งเศส และทำการอัปเกรดให้ทันสมัย ไทยยังคงแผนการจัดซื้อเรือดำน้ำไม่เปลี่ยนแปลง หลังพลาดเรือดำน้ำเก่าที่ผลิตในเยอรมนี ขณะที่อินโดนีเซีย ซื้อเรือดำน้ำเก่าจากเยอรมนีอีกรุ่นหนึ่ง และให้กลุ่มแดวูของเกาหลีอัปเกรด
ปัจจุบัน อินโดนีเซียกำลังรอรับมอบเรือดำน้ำที่ผลิตจากเกาหลีโดยเทคโนโลยีเยอรมนีอีก 2 ลำ
สิงคโปร์ได้สร้างฝูงเรือดำน้ำ “แชลเลนเจอร์ทีม” ขึ้นมา โดยซื้อเรือดำน้ำเก่าจากสวีเดน 4 ลำ และทำการอัปเกรด ในขณะที่มีกองเรือรบทันสมัยที่สุดอีกกองหนึ่ง นอกจากนั้น สิงคโปร์ยังจัดซื้อเครื่องบินรบเอฟ-15 เอสจี อีก 1 ฝูง แต่ที่กำลังถูกจับตามองที่สุดก็คือ การตัดสินใจซื้อ F-35 เครื่องบินรบล้ำยุคสมัยจากสหรัฐฯ
นักสังเกตการณ์หลายรายไม่ยอมเรียกว่านี่คือ การแข่งขันอาวุธ แต่อธิบายว่าเป็นเพียงการเพิ่มการจัดซื้อจัดหาแบบตัวใครตัวมันโดยรู้สึกถึงภัยใหญ่ที่อยู่ห่างออกไป แต่เริ่มเคลื่อนเข้าใกล้ตัว มากกว่าจะเกิดจากการระแวงสงสัยประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งทั้ง 10 ประเทศกำลังจะรวมเป็นประชาคมคล้ายๆ กับสหภาพยุโรปในอีก 2 ปีข้างหน้า
หากมองว่าสหรัฐฯ เป็นมิตรของอาเซียน ศัตรูสำคัญที่สุดของสมาชิกส่วนใหญ่ในกลุ่มก็จะไม่ใช่ใครอื่นหากเป็นจีน ในขณะที่ 2 มหาอำนาจกำลังพันตูกันในทะเลจีนใต้ ซึ่งสหรัฐฯ กับชาติพันธมิตรในย่านเอเชียแปซิฟิกถือว่าเป็นทะเลหลวง และเป็นเส้นทางเดินเรือเสรี
หลายปีมานี้ จีนไม่เพียงแต่ทุ่มเทให้การวิจัยทดลองจนเกิดมีเรือบรรทุกเครื่องบินลำแรกเท่านั้น จีนยังพัฒนาเรือรบอีกหลายขนาด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรือพิฆาต กับ เรือฟรีเกตที่มีอยู่หลายชั้น กับกองเรือดำน้ำที่เข้มแข็งที่สุดในย่านนี้
กองทัพอากาศจีนได้วิจัยทดลองสร้างเครื่องบิน J-20 ซึ่งเป็นเครื่องบินรบยุคที่ 5 “สเตลธ์” ออกมาเป็นลำแรก และยังสร้าง J-31 ขึ้นมาอีกรุ่น
ถึงแม้ว่าเมื่อเทียบกับอาวุธของโลกตะวันตกแล้ว จีนจะยังไม่มีอะไรไปเทียบเคียงได้ก็ตาม แต่ไม่กี่ปีมานี้ จีนได้พิสูจน์ให้ชาวโลกได้เห็นเป็นครั้งแรกว่า มีตัวตนอยู่ในภูมิภาคนี้ ซึ่งไม่เพียงแต่ด้านเศรษฐกิจเท่านั้น หากยังด้านการทหารอีกด้วย
เป็นครั้งแรกอีกเช่นกันที่เรือรบของจีนสามารถแล่นออกสู่ทะเลหลวง ทั้งในแปซิฟิก มหาสมุทรอินเดีย ไปจนถึงทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
ทั้งหมดนี้ย่อมเพียงพอที่กลุ่มอาเซียนซึ่งเคยเผชิญหน้ากับการคุกคามจากค่ายคอมมิวนิสต์ในยุคสงครามเย็น จะรู้สึกหวาดกลัวการรุกทางการทหารจีนมากกว่าครั้งไหนๆ.