ส.ส.ปชป.อภิปราย รมว.กลาโหมล็อกสเปกจัดหาเรือลาดตระเวน 553 ล้าน ชี้ไม่ฟังเสียงท้วงติง สตง. ผิดเงื่อนไขทีโออาร์ ส่อฮั้วประมูล เจ้าตัวอ้างปลดล็อกคำสั่งรัฐมนตรีคนเก่า ยันไม่เอื้อประโยชน์ใคร ด้าน “ศิริโชค” จัดหนัก ซัดเปลี่ยนสเปกเรือหลวงใช้ระบบแท่นยิงยุคไดโนเสาร์ ได้ส่วนลดแค่พันบาท แต่ “เจ๊” เขมือบงบ 35% ทำชีวิตลูกเรือเสี่ยงตาย สาปแช่งถูกถอดยศบั้นปลายชีวิต ทำเจ้าตัวชิ่งหนี
วันนี้ (25 พ.ย.) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล นายอลงกรณ์ พลบุตร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ อภิปราย พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม ในประเด็นละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และปล่อยปละละเลยให้มีการทำผิดกฎหมายว่า จากกรณีที่มีการอนุมัติโครงการจัดซื้อเรือประเภทตรวจการณ์ลาดตระเวน ดูแลชายฝั่งทะเลไทย 3 ลำ มูลค่า 553 ล้านบาท ซึ่งมีการอนุมัติเมื่อเดือน พ.ย. 2553 ซึ่งเป็นหนี้ผูกพันข้ามปี 2554-2556 แต่กลับมีพฤติกรรมไม่โปร่งใสทำให้ล่าช้า และการอนุมัติก็เข้าข่ายการกระทำผิดกฎหมายอาญา และพ.ร.บ.ฮั้วประมูล ซึ่งมีการ้องเรียนไปยังสำนักงานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และ สตง.ได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการแล้ว โดยโครงการดังกล่าวนั้นสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ในสมัยของ รมว.กลาโหมก่อนหน้า พล.อ.อ.สุกำพลได้มีคำสั่งชะลอการลงนามสัญญาไปก่อน เนื่องจากมีการร้องเรียนต่อ สตง. ซึ่งหลังจาก สตง.ได้เข้าไปตรวจสอบข้ามปีจึงได้มีหนังสือไปถึงปลัดกระทรวงกลาโหม ผบ.ทร. และรมว.กลาโหม โดยขอให้ทบทวนการจัดหาให้ถูกต้อง และให้ส่งเอกสารชี้แจงเพิ่มเติม จากนั้นจึงมีหนังสือถึง รมว.กลาโหม ให้กำกับติดตามการจัดหาเรือรบให้เป็นไปตามกฎหมาย และล่าสุด สตง.ก็ได้สรุปว่าเป็นการแข่งขันไม่เป็นธรรม และให้ทบทวนการคัดเลือกแบบเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม แต่หลังจากนั้นอีก 10 วัน พล.อ.อ.สุกำพลที่เข้ามารับตำแหน่ง รมว.กลาโหม กลับอนุมัติให้ยกเลิกคำสั่งชะลอการลงนาม และให้ทำการจ้างบริษัทที่ชนะประมูลดำเนินการทันที โดยมีการลงนามสัญญา 24 เม.ย. ซึ่งเป็นการดำเนินงานในวันเดียว
นายอลงกรณ์กล่าวว่า เป็นการจัดซื้อเรือประเภทตรวจการณ์ลาดตระเวนดูแลชายฝั่งทะเลไทย ซึ่งมีพฤติกรรมบริหารราชการแผ่นดินผิดพลาด ไร้ประสิทธิภาพ ปล่อยให้มีการทุจริต ทำผิดกฎหมาย เพราะ 1. มีการรวบรัดการประมูล เพราะเรื่องดังกล่าวใช้เวลาพิจารณาเพียง 2 สัปดาห์ ทั้งที่มีบริษัทมายื่นทีโออาร์ 7 บริษัท 2. การยื่นซองน้อยราย พบว่ามีการประมูลที่วนไปวนมาไม่กี่บริษัท โดยมีบริษัทที่มีอดีตผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารเรือเป็นกรรมการอยู่ โดยมีหุ้นร้อยละ 25 อยู่ในเกาะเคแมน 3. ผิดเงื่อนไขทีโออาร์ ที่ระบุว่าต้องใช้เครื่องจักรใหญ่และระบบควบคุมการขับเคลื่อนระบบเดียวกัน แต่หากคนละระบบต้องมีหนังสือรับรองจากผู้ผลิตว่าใช้ด้วยกันได้ ตลอดจนเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ในทะเลในสภาพอากาศต่างๆ ก็ต้องมีความชัดเจน แต่บริษัทผู้ชนะการประมูลกลับไม่มีความชัดเจนในเรื่องดังกล่าว ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดิน และ สตง.ก็พิจารณาแล้วว่าเข้าข่ายผิดตามกฎหมายฮั้วประมูล และ 4. มีการยื่นเอกสารเพิ่มเติมภายหลังมีการยื่นทีโออาร์แล้ว ซึ่งเป็นการทำผิดเงื่อนไข อย่างไรก็ตาม การที่นายกฯ มีหน้าที่กำกับดูแลหน่วยงานต่างๆ แต่กลับไม่ดำเนินการใดๆ ในกรณีดังกล่าว มีเพียงการทำหนังสือให้ รมว.กลาโหมปฏิบัติตามกฎหมาย ทั้งที่มีองค์กรอิสระชี้ว่าการจัดซื้อเรือรบเข้าข่ายการะทำผิดตาม พ.ร.บ.ฮั้วประมูล แต่ รมว.กลาโหมกลับให้ยกเลิกคำสั่งระงับ เป็นการไม่ดำเนินการตามคำสั่งของนายกฯ จึงอยากถามนายกฯ ว่า รู้เห็นเป็นใจต่อการดำเนินการของ รมว.กลาโหมหรือไม่
ต่อมาเวลา 12.20 น. พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม ชี้แจงว่า เรื่องนี้ก่อนมาถึงสมัยตนมีการระงับเพราะมีการร้องเรียนว่ามีการทุจริต ซึ่งหน้าที่ของตนคือต้องปลดล็อกคำสั่งของ รมว.คนเดิม ซึ่งเหตุผลที่ตนปลดล็อกคำสั่งของ รมว.คนเก่านั้น ตนขอชี้แจงว่าเรื่องเครื่องจักรใหญ่และระบบควบคุมการขับเคลื่อนนั้นไม่อยู่ในสาระสำคัญของหนังสือเชิญชวน แต่ต้องนำมาพิจารณาด้วย ซึ่งบริษัทมาซัน ได้เสนอแบบเรือเมื่อ 2 พ.ค. 54 และมีหนังสือจากบริษัทคัมมิน ยืนยันระบบการขับเคลื่อนและเครื่องจักรใหญ่ สามารถใช้งานร่วมกันได้ ซึ่งคณะกรรมการก็ให้คะแนนตามหลังเกณฑ์ ส่วนเรื่องการปฏิบัติงานในทะเลในสภาพอากาศต่างๆ ซึ่งบริษัทมาซันเสนอว่าเรือทนได้ 4 เมตร แต่บริษัทซีเครสเสนอให้มากกว่า แต่ในทีโออาร์ระบุไว้แค่ 4 เมตร ซึ่งกองทัพเรือก็ให้คะแนนเรื่องนี้กับบริษัทซีเครสมากกว่าแต่ก็ผ่านทั้ง 2 บริษัท ส่วนการรับเอกสารเพิ่มเติมภายหลังจากการเสนอแบบเรือไปแล้วนั้น หนังสือดังกล่าวเป็นเพียงหนังสือยืนยันว่าเครื่องจักรและระบบควบคุมการขับเคลื่อนสามารถใช้ด้วยกันได้ ไม่ใช่เป็นการยื่นข้อเสนอใหม่แต่อย่างใด
ส่วนข้อกล่าวหาว่าตนปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตนั้น ขอชี้แจงว่า รมว.คนก่อนได้มีหนังสือชะลอการลงนาม เพื่อให้ สตง.ตรวจสอบ ซึ่งกองทัพเรือได้ชี้แจงไปถึง 6 ครั้ง แล้วในวันที่ 20 มี.ค. 55 สตง.มีหนังสือมาว่า แม้ว่าจะมีประเด็นในการตรวจสอบแต่เรื่องความล่าช้าก็เป็นความรับผิดชอบของกองทัพเรือ และตนก็ได้เชิญผู้แทนกองทัพเรือและผู้เกี่ยวข้องมาหารือพิจารณาประเด็นที่บริษัทซีเคสร้องเรียนถึง 3 ครั้ง ซึ่งได้คุยกันทุกประเด็นแล้วมั่นใจว่าเรื่องดังกล่าวล่วงเลยมานานแล้วไม่สามารถทำอะไรได้จึงต้องแก้ไข ซึ่งก็มีการร้องเรียนไปยังกรรมาธิการทหาร สภาผู้แทนฯ ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว ปรากฏว่าการพิจารณาการชี้แจงของกองทัพเรือมีพยานบุคคล และเอกสารหลักฐานถูกต้องตามกฎหมาย และสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ปฏิบัติของทางราชการจึงให้ยุติเรื่องร้องเรียนดังกล่าว ส่วนเรื่องที่ สตง.ส่งต่อให้ ป.ป.ช. กองทัพเรือก็พร้อมที่จะชี้แจง
“เรื่องนี้ไม่ใช่ทำเพื่อเอื้อประโยชน์ใคร เป็นเรื่องที่มีการกล่าวหากันทั่ว ซึ่งผมไม่ทำหรอกเรื่องที่ฮอตอย่างนี้ ซึ่งผมต้องการให้กองทัพเรือมีเรือใช้ เพราะทิ้งเรื่องไว้นานแล้ว จึงใช้ความกล้าหาญในการเซ็นสัญญา ซึ่งยืนยันว่าไม่มีการทุจริต และในหนังสือก็ระบุชัดเจนว่าหากมีอะไรเกิดขึ้น กองทัพเรือเป็นผู้รับผิดชอบ ไม่ได้โยนให้ผม เพราะเป็นเรื่องทางเทคนิค ซึ่งการดำเนินการจัดหารือจำเป็นต้องถอดสลักมาใช้ ส่วนหนังสือที่นายกฯ ทำมาถึงผมว่าให้ตรวจสอบได้ ผมก็ทำหนังสือตอบไปว่าเรื่องนี้มีความชัดเจน เรายืนยันว่ามีความถูกต้องทุกอย่าง” พล.อ.อ.สุกำพลกล่าว
ต่อจากนั้นเวลา 12.30 น. นายอลงกรณ์ พลบุตร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า รมว.กลาโหม ไม่คิดทบทวนหรือว่าทำไมกองทัพเรือไปชี้แจง สตง.6 ครั้ง แต่ สตง.ก็ยังยืนยันว่าไม่ถูกต้อง การที่ รมว.บอกว่าใช้ความกล้าจึงเป็นไปในทางที่ผิด เพราะก่อนที่จะอนุมัติเพียงไม่กี่วัน มีการตั้งกรรมการตรวจสอบจากที่มีการร้องเรียน ซึ่งในรายงานระบุว่า ไม่มีเอกสารรับรองว่าเครื่องจักรใหญ่ในเรือของบริษัทมาซันสามารถออกเรือได้เร่งด่วนฉุกเฉินได้ทันที ซึ่งเป็นสาระสำคัญของทีโออาร์ด้วย และพบว่าหนังสือที่มีการรับรองยืนยันมานั้นเป็นการรับรองจากตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทย ไม่ใช่บริษัทผู้ผลิตใหญ่ตามที่ทีโออาร์กำหนด ซึ่งถือว่าผิดเงื่อนไขชัดเจน ตนจึงกล่าวหาว่า รมว.กลาโหมบกพร่องต่อการปฏิบัติหน้าที่ ปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริต
ด้านนายศิริโชค โสภา ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายในญัตติไม่ไว้วางใจ พล.อ.อ.สุกำพล ในประเด็นปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตคอร์รัปชันในโครงการปรับปรุงเรือหลวงฟริเกตของกองทัพเรือ 2 ลำ คือ เรือหลวงนเรศวร และเรือหลวงตากสิน โดยเดิมมีการกำหนดสเปกเรือให้ใช้ระบบแท่นยิงเป้าลวงแบบหมุนได้ โดยกองทัพเรือมีโครงการปรับปรุงเรือฟริเกตเรือหลวงนเรศวร 2 ระยะ โดยระยะหนึ่งการปรับปรุงระบบอำนวยการรบ และระยะสองการปรับปรุงระบบป้องกันภัยคุกคามเรือ โดยผู้ชนะการประมูลจะได้ทั้งสองระยะ ระยะหนึ่งต้องมีการเสนอราคาตามสเปก ส่วนระยะสองแค่เสนออุปกรณ์ให้ตรงตามสเปกโดยจัดให้มีการจัดซื้อวิธีพิเศษ ในงบประมาณ 2,700 ล้านบาท ซึ่งบริษัท ซาบ เอบี พลับบิค (SAAB AB) โดยระยะหนึ่งมีการลงนามในสัญญาเดือน มิ.ย. 54 สมัย พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา เป็น รมว.กลาโหม ซึ่งเป็นไปตามสเปกกำหนดทุกอย่าง ตามทีโออาร์ที่ฝ่ายเสนาธิการกำหนด
แต่ในระยะที่ 2 ในทีโออาร์มีการเขียนสเปกชัดเจนว่า ให้จัดหาระบบเป้าลวง 2 แท่นสำหรับเรือ 2 ลำพร้อมลูกสำหรับทดสอบทดแทนระบบเป้าลวงเดิม แท่นยิงต้องเป็นแบบแท่นหมุนที่ทันสมัยที่สุด บริษัทซาบเสนออุปกรณ์ตรงตามสเปก และได้คะแนนสูงสุดจนชนะการประมูล ซึ่งทุกอย่างเป็นไปอย่างราบรื่น โดยวันที่ 30 ม.ค. 55 บริษัทได้ยื่นเสนอราคาต่อคณะกรรมการจัดซื้อตามปกติ และมีการเสนอความเห็นชอบตามลำดับขั้น แต่เมื่อวันที่ 30 ก.ค. รองเสนาธิการทหารเสนอเลื่อนการอนุมัติที่อยู่ในอำนาจ รมว.กลาโหม และวันที่ 17.ก.ย. พล.อ.อ.สุกำพลได้ยื่นเรื่องให้ ครม.มีมติอนุมัติให้กองทัพเรือก่อหนี้ผูกพันข้ามปี โดยมีการอนุมัติภายใน 18 กย. อนุมัติในวงเงิน 2,699 ล้านบาท
“ทุกอย่างน่าจะดำเนินไปตามปกติ แต่กลับมีความอึมครึมเกิดขึ้นในกองทัพเรือ เมื่อ พล.อ.อ.สุกำพลได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง รมว.กลาโหม ตั้งแต่วันที่ 18 ม.ค. 2555 โครงการนี้เกี่ยวข้องกับชีวิตลูกเรือนเรศวร และเรือตากสิน ผมขอสาปแช่งว่า ใครที่หากินกับโครงการนี้ขอให้อยู่ไม่เป็นสุข และถ้าใครคนนั้นมียศเป็น พล.อ.อ. ขอให้บั้นปลายชีวิตถูกถอดยศ เพราะ 12 วันต่อมาลงนั่งเก้าอี้ไม่ทันแห้ง อยู่ดีๆ ก็มีไอ้โม่งไปสั่งให้บริษัทซาบยื่นหนังสือเสนอราคาและเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญไม่สอดคล้องกับทีโออาร์ โดยเปลี่ยนแท่นยิงจากระบบหมุนได้มาเป็นแท่นยิงแบบอยู่กับที่ ไม่คิดว่าคนระดับ รมว.กลาโหมจะพากองทัพเรือย้อนยุค เพราะแท่นยิงเป้าลวงแบบอยู่กับที่เป็นเทคโนโลยีสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2”
นายศิริโชคกล่าวว่า ตนได้รับเอกสารที่เสนอต่อ ครม.ในวันที่ 18 ก.ย. โดยผู้ที่ส่งเอกสารมาให้เป็นนายทหารระดับพลเออในกองทัพ เพราะทนไม่ได้ที่เห็นกองทัพเรือโดนปู้ยี่ปู้ยำ มีการระบุขอเปลี่ยนอุปกรณ์ และไม่ตรงตามข้อกำหนดเงื่อนไข คือ แท่นยิงเป้าแบบหมุนไม่ได้ ถือเป็นหลักฐานยอมรับชัดเจนว่าผิดทีโออาร์ แต่พยายามเปลี่ยนให้ได้ เพราะถ้ายึดตามแบบเดิมไม่มีเงินทอน โดยมีข้ออ้างจากบริษัทว่าจุดติดตั้งเดิมไม่เหมาะสม จึงเสนอให้ใช้ระบบแท่นยิงแบบหมุนแทนเพราะมีประสิทธิภาพสูงกว่า อ้างที่ประชุมคณะกรรมการบูรณาการทำการรบสำหรับโครงการปรับปรุงเรือฟริเกต มีความเห็นว่าระบบแท่นหมุนใหญ่มีน้ำหนักมาก ใช้เทคโนโลยีระดับสูงมีความซับซ้อนจะทำให้ขีดความสามารถของระบบลดลง ประสิทธิภาพการใช้งานจะลดลง ส่งผลกระทบต่อความสามารถการร้องกันตนเองของเรือ ตนได้ถามผู้เชี่ยวชาญกองทัพเรือ พบว่า มีการสำรวจแล้วพบว่า ตำแหน่งเดิมสามารถติดตั้งได้ และยังมีการเสนอเพิ่มขึ้นอีก 4 จุด และยังมีใบรับรองมาตรฐานระดับสูงว่าไม่มีการรบกวรคลื่นและระบบต่างๆ ของเรือ รวมถึงเอกสารกลาโหมฝรั่งเศสรับรองว่าระบบแทนหมุนเป็นเทคโนโลยีในระบบแท่นตาย ขณะที่เรือฟริเกตที่ทันสมัยในประเทศต่างๆ ปัจจุบันใช้แท่นยิงแบบหมุนได้ทั้งสิ้น ระบบที่เปลี่ยนใหม่มีปัญหาการใช้งานมากมาย เช่น ไม่สามารถยิงลูกลวงได้ ถ้าใช้ไปจมน้ำแน่นอน เพราะไม่มีระบบเป้าลวง หากมีการยิงอาวุธยุทธวิถีจากข้าศึกเรือรบหลวงสองลำนี้จมแน่นอน
นายศิริโชคกล่าวว่า หลังจากที่มีการเจรจาต่อรองกับบริษัทและสามารถลดราคาลงเหลือ 2,600 ล้านบาท เหมือนการลดระดับรถเบนซ์ระดับเฟิสต์คลาส มาเป็นระดับฮอนด้า ซิตี้ รุ่นโบราณ แถมการเคลือบสี แล้วลดให้อีก 1,000 บาท เชื่อหรือไม่ โครงการราคา 2,700 ล้านบาท ต่อรองลด 1,000 บาท ฝ่ายการเมืองสยายปีกเขมือบ 35% คนที่บงการไม่ได้อยู่ในสภา แต่เป็นเจ๊คนหนึ่งที่สนิทกับท่าน โดยมีการเปลี่ยนเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดในโลกมาเป็นเทคโนโลยีสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เงื่อนไขทีโออาร์ชัดเจน มติ ครม.ยอมรับส่วนลด 1,000 บาท มีเงินทอนไม่รู้ฝ่ายการเมืองใครรับ 1,000 ล้านบาท เพราะถ้าไม่เสนอเปลี่ยนอุปกรณ์เงินทอนไม่มา
“กรณีนี้มีการทุจริตคอร์รัปชัน มีผลกระทบต่อชีวิตทรัพย์สินของกองทัพเรือ ทหารหาญเหล่านี้เมื่อต้องถูกเรียกให้ไปรบ และต้องสละชีพเพื่อแผ่นดิน ผมเชื่อว่าพวกเขาไม่ลังเลใจ แต่ถ้าความตายเกิดขึ้นจากมีกลุ่มคนที่โลภ เปลี่ยนอุปกรณ์ที่เป็นภัยคุกคามเรือ ทำให้ชีวิตพวกเขาแขวนบนเส้นด้าย จะถือเป็นโศกนาฏกรรมที่ยิ่งใหญ่ที่ต้องจารึกไว้ หากสมาชิกเห็นว่าชีวิตลูกเรือไม่มีค่าเหมือนผักปลาก็ไม่ต้องลังเล กดปุ่มไว้วางใจ พล.อ.อ.สุกำพล แต่ถ้ายังมีความเมตตา ก็ขอให้กดปุ่มไม่ไว้วางใจ แต่ผมไม่อาจปล่อยให้บริหารราชการแผ่นดินสร้างความเสียหายให้กองทัพเรือต่อไป” นายศิริโชคกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในภายหลัง พล.อ.อ.สุกำพลไม่ได้ชี้แจงในกรณีดังกล่าว ประธานในที่ประชุมจึงได้ให้โอกาสผู้อภิปรายคนต่อไป