xs
xsm
sm
md
lg

จีน‘วัดใจ’ฟิลิปปินส์กรณีพิพาททะเลจีนใต้ (ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: จอร์จ อมูราโอ

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

China tests the will of the Philippines
By George Amurao
19/04/2012

การประจันหน้ากันระหว่างฟิลิปปินส์กับจีนที่บริเวณสันดอน “สคาร์โบโร โชล” ในทะเลจีนใต้ อาจจะถึงขั้นนำไปสู่ช่วงเวลาแห่งการตัดสินความเป็นความตายในเชิงยุทธศาสตร์ก็เป็นได้ สิ่งที่จะต้องเฝ้าติดตามกันอย่างใกล้ชิดก็คือ รัฐบาลฟิลิปปินส์ ซึ่งกำลังพยายามผสมผสานทั้งทักษะความเชี่ยวชาญทางการทูตและความเคลื่อนไหวทางการทหาร จะสามารถยืนหยัดอย่างมั่นคงเพื่อคัดค้านการที่จีนบุกรุกล่วงล้ำเข้ามาในดินแดนของตนได้หรือไม่?

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนจบ */STRONG>

(ต่อจากตอนแรก)

**เหล่าพันธมิตรที่ไร้ข้อผูกมัด**

สำหรับในแนวรบทางด้านการทูต สมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ยังไม่ได้ประกาศออกมาอย่างเปิดเผยเลยว่า มีจุดยืนร่วมกันกับฟิลิปปินส์ในกรณีพิพาททางดินแดนกับจีนคราวนี้ ถึงแม้ประธานาธิบดีเบนิญโญ อากีโน จะได้เรียกร้องขอความสนับสนุนไปแล้ว ในระหว่างเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนซึ่งจัดขึ้นในกรุงพนมเปญเมื่อไม่กี่วันมานี้ แต่สภาพเช่นนี้ก็ไม่ได้เรื่องน่าประหลาดใจอะไรนัก เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ว่า รัฐสมาชิกทั้ง 10 รายของสมาคมอาเซียนในเวลานี้ ต่างกำลังต้องพึ่งพาอาศัยการค้าและการลงทุนของจีนเพิ่มมากขึ้นทุกทีๆ

ทางด้านสหรัฐอเมริกา ผู้เป็นพันธมิตรใกล้ชิดของฟิลิปปินส์ ก็ยังอยู่ในอาการเงียบกริบไม่ได้แถลงออกมาให้ชัดเจนว่า จะปฏิบัติตามสนธิสัญญาป้องกันร่วมกัน ที่ตนเองลงนามไว้กับฟิลิปปินส์หรือไม่ ถ้าหากมะนิลาเกิดทำสงครามยิงกันเปรี้ยงปร้างกับปักกิ่งขึ้นมา สำนักงานวิจัยของรัฐสภาสหรัฐฯ (US Congressional Research Service) บอกว่าสนธิสัญญาป้องกันร่วมกันสหรัฐฯ-ฟิลิปปินส์ (US-Philippine Mutual Defense Treaty) ฉบับนี้ มีเนื้อหาที่เปิดกว้างให้ตีความได้หลายแง่หลายมุมโดยที่สหรัฐฯได้ให้คำมั่นผูกมัดเอาไว้ว่าจะทำการตอบโต้ตามสนธิสัญญาฉบับนี้ เฉพาะในกรณีที่มีกองทหารต่างชาติโจมตีดินแดนของฟิลิปปินส์ หรือโจมตีกองทหารของฟิลิปปินส์เท่านั้น เมื่อพิจารณาจากคำจำกัดความดังกล่าวนี้แล้ว ข้อผูกมัดที่สหรัฐฯจะต้องพิทักษ์ปกป้องการอ้างสิทธิของฟิลิปปินส์เหนือหมู่เกาะสแปรตลีย์ หรือสันดอนสคาร์โบโร โชล จึงเป็นเรื่องที่ไม่มีความแน่นอนแต่อย่างใด

เมื่อการสนับสนุนจากทั้งบรรดาประเทศเพื่อนบ้านและจากพันธมิตรอภิมหาอำนาจของตนดูกำกวมเลื่อนลอยเช่นนี้ ฟิลิปปินส์จึงกำลังพยายามหาทางเพิ่มทวีพลังอำนาจทางทหารของตนเอง รายได้ของมะนิลาจากแหล่งก๊าซธรรมชาติในทะเลนอกชายฝั่งเกาะปาลาวัน (Palawan) ทำให้ประธานาธิบดีอากีโนมีความเชื่อมั่นทางการคลังที่จะเดินหน้าแผนการจัดซื้อจัดหาอาวุธเพิ่มเติม และถึงแม้ข้อตกลงที่วางแผนกันเอาไว้ก่อนหน้านี้ ว่าจะซื้อหาเครื่องบินขับไล่เอฟ-16 แบบมือสอง 1 ฝูงบินจากทางสหรัฐฯ ยังอยู่ในอาการลูกผีลูกคนไม่แน่ว่าจะบรรลุผล แต่กองทัพอากาศฟิลิปปินส์ก็กำลังเล็งที่จะซื้อเครื่องบินไอพ่นประเภทฝึกบินจากทางเกาหลีใต้ หรือไม่ก็อิตาลี หรือรัสเซีย โดยที่จะจัดซื้อเครื่องใหม่เอี่ยมมือหนึ่งเลย แต่จะเลือกเอาชนิดที่สามารถนำมาดัดแปลงใช้เป็นเครื่องบินขับไล่ได้เลย จะได้นำมาเสริมกำลังแสนยานุภาพทางอากาศของฟิลิปปินส์อย่างรวดเร็ว เพื่อวัตถุประสงค์ในการป้องปราม

อันที่จริงวอชิงตันเองก็ใช่ว่าจะทอดทิ้งไม่ใยดีพันธมิตรฟิลิปปินส์ของตน หากแต่กำลังดำเนินการช่วยเหลือมะนิลาด้วยวิธีการอย่างอื่นๆ เป็นต้นว่า เมื่อปีที่แล้ว วอชิงตันได้ช่วยเหลืออำนวยความสะดวกจนทำให้ฟิลิปปินส์ได้ครอบครองเรือคัตเตอร์ลำใหญ่ที่สุดของกองกำลังรักษาชายฝั่งของสหรัฐฯ ซึ่งบัดนี้ได้ถูกเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น บีอาร์พี เกรโกริโอ เดล ปิลาร์ ซึ่งก็คือเป็นเรือรบลำที่ไปประจำหน้ากับเรือตรวจการณ์จีน ณ สการ์โบโร โชล นั่นเอง

ฟิลิปปินส์ยังน่าที่จะได้รับเรือรบระดับใกล้เคียงกันนี้อีกลำหนึ่งจากสหรัฐฯในช่วงกลางปีนี้ นอกจากนั้นมะนิลายังกำลังเจรจาทำข้อตกลงเพื่อจัดซื้อเรือรบระดับนี้เป็นลำที่สามโดยคาดหมายกันว่าจะประสบผลในช่วงปลายปี 2012 แหล่งข่าวหลายรายบอกว่า เรือรบลำใหม่ๆ เหล่านี้ จะไม่เหมือนกับ บีอาร์พี เกรโกริโอ เดล ปิลาร์ ตรงที่ฟิลิปปินส์จะได้มาโดยที่มีระบบอาวุธและระบบอิเล็กทรอนิกส์ติดตั้งประจำในเรือพร้อมสรรพเรียบร้อยแล้ว

ในขณะที่ความตึงเครียดระหว่างฟิลิปปินส์กับจีนยังคงดำเนินต่อไปนี้เอง สหรัฐฯยังถือโอกาสแสดงออกซึ่งความสนับสนุนฟิลิปปินส์ โดยผ่านทางการฝึกร่วมทางทหารประจำปีที่มีชื่อรหัสว่า “บาลิกาตัน” (Balikatan เป็นคำในภาษาตากาล็อก แปลว่า “เคียงบ่าเคียงไหล่”) ในปีนี้การฝึกเริ่มต้นขึ้นแล้วตั้งแต่วันที่ 16 เมษายน และมีทหารบกทหารเรือฟิลิปปินส์เข้าร่วม 2,000 คน ขณะที่บุคลากรจากกองทัพสหรัฐฯมีจำนวน 4,000 คน มันไม่ใช่เหตุบังเอิญอย่างแน่นอนที่การซ้อมรบคราวนี้จัดขึ้นที่บริเวณนอกชายฝั่งเกาะปาลาวัน ห่างออกไปเพียงไม่กี่ไมล์ทะเลจากหมู่เกาะสแปรตลีย์ ซึ่งฟิลิปปินส์ก็เป็นชาติหนึ่งที่พิพาทช่วงชิงกรรมสิทธิ์อยู่กับจีน

สำหรับเวลานี้ อากีโนดูเหมือนตั้งใจที่จะใช้หนทางแก้ปัญหาด้วยวิธีการทางการทูตต่อไป การถอนเรือ บีอาร์พี เกรโกริโอ เดล ปิลาร์ จากสันดอน สการ์โบโร โชล แล้วส่งเรือของหน่วยยามฝั่งเข้าไปแทนที่ เพื่อให้สมน้ำสมเนื้อกับการปรากฏตัวของเรือตรวจการณ์ทางทะเลของจีน ซึ่งถือว่าเป็น เรือ “ขาว” คือการส่งสัญญาณบ่งบอกให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของรัฐบาลของเขาที่จะปลดชนวนคลายความร้อนแรงของสถานการณ์

อากีโนยังกำลังได้รับความสนับสนุนอย่างมากมายจากมติมหาชนของผู้คนภายในประเทศ เกี่ยวกับวิธีการที่เขาใช้รับมือจัดการกับประเด็นปัญหานี้ ดังที่สะท้อนให้เห็นจากพวกข้อความที่มีผู้โพสต์กันตามเว็บพอร์ทัลข่าวออนไลน์ ตลอดจนในเว็บรวมกระทู้แห่งต่างๆ สิ่งที่น่าประหลาดใจมากก็คือ แม้กระทั่งพวกนักการเมืองหัวเอียงซ้ายก็ยังออกมาส่งเสียงสนับสนุนการที่ฟิลิปปินส์อ้างกรรมสิทธิ์เหนือ สคาร์โบโร โชล

มะนิลานั้นเชื่อมั่นอย่างแข็งขันว่า ในการพิพาทกันกับปักกิ่งคราวนี้ ตนเองเป็นฝ่ายที่เหนือกว่าทั้งทางด้านศีลธรรมและทางด้านกฎหมาย เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ว่าสันดอนสคาร์โบโร โชล อยู่ภายในอาณาเขต 200 ไมล์ทะเลห่างจากชายฝั่งฟิลิปปินส์ และจึงเป็นเขตเศรษฐกิจจำเพาะตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (United Nations Convention on the Law of the Sea) ผิดกับฝ่ายจีนซึ่งยืนยันอ้างกรรมสิทธิ์โดยใช้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่มีความคลุมเครือมากกว่า

ฟิลิปปินส์ยังน่าที่จะเป็นผู้ชนะในการพิพากษาของมติมหาชนระหว่างประเทศอีกด้วย เพราะขณะที่จีนเล่นบทเป็นอันธพาล ด้วยการส่งเรือและเครื่องบินเพิ่มเติมเข้าไปในบริเวณพิพาท แล้วยังรบกวนเรือพลเรือนของฟิลิปปินส์ที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง ฟิลิปปินส์กลับถูกมองว่ากำลังพยายามที่จะถอดชนวนคลี่คลายสถานการณ์ นอกจากนั้นเสียงเรียกร้องของเหล่านักการทูตชาวฟิลิปปินส์ ให้นำกรณีพิพาทนี้ไปฟ้องร้องพิจารณากันในศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ยังสอดประสานคล้องจองไปในทางบวกกับชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รายอื่นๆ ผู้อ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนในทะเลจีนใต้เช่นเดียวกัน

ถึงแม้จีนพยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้ “ฝ่ายต่างๆ ที่เป็นคนนอก” เข้ามาเกี่ยวข้องในการพิพาทกันทางทะเลเช่นนี้ แต่ข้อเท็จจริงก็มีอยู่ว่าทะเลจีนใต้นั้นเป็นเส้นทางเดินเรือทะเลอันสำคัญยิ่งยวดสำหรับการค้าและการพาณิชย์ ซึ่งกรณีพิพาทในอาณาบริเวณนี้ ย่อมต้องส่งผลกระทบกระเทือนถึงสหรัฐฯและประเทศอื่นๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะให้จำกัดการเจรจาอยู่แต่เฉพาะพวกที่กำลังพิพาทกันอยู่เท่านั้น

พวกนักวิแคราะห์ทางการเมืองได้ชี้กันออกมาพักใหญ่แล้วว่า จีนอาจจะกำลังพาตัวเองให้เข้าสู่มุมอับทางการทูต จากความพยายามไม่ลดละที่จะอ้างกรรมสิทธิ์แต่ผู้เดียวเหนือน่านน้ำทะเลจีนใต้ตลอดจนทรัพยากรต่างๆ ของทะเลแห่งนี้ อีกทั้งกำลังเสี่ยงที่จะสูญเสียดอกผลทางด้าน “อำนาจละมุน” (soft power) ที่สู้อุตส่าห์สร้างขึ้นมาจากการฟูมฟักสายสัมพันธ์ต่างๆ ทางด้านการค้ากับบรรดาประเทศในภูมิภาค

จวบจนกระทั่งถึงเวลาที่เขียนข้อเขียนชิ้นนี้ เรือ “ขาว” 2 ลำ ลำหนึ่งเป็นของจีน อีกลำหนึ่งเป็นของฟิลิปปินส์ ยังคงเผชิญหน้ากันอยู่ที่สันดอนสคาร์โบโร โชล ความตึงเครียดอาจจะลดน้อยลงไประดับหนึ่งแล้วจากการถอนเรือของทางการลำอื่นๆ ตลอดจนเรือประมงออกไปจากบริเวณดังกล่าว แต่ประเทศทั้งสองก็ยังกำลังว้าวุ่นอยู่กับการแสวงหาวิธีการปิดเกมที่สามารถยอมรับกันได้ ให้แก่การประจันหน้ากันคราวนี้

คำถามในเวลานี้ไม่ใช่เรื่องที่ว่าฝ่ายไหนจะเพลี่ยงพล้ำกระพริบตาก่อน หากแต่อยู่ที่ว่ารัฐบาลของทั้งสองฝ่ายจะใช้วิธีการเช่นไรจึงจะทำให้เกิดสถานการณ์แบบที่รู้สึกว่าชนะด้วยกันทั้งสองฝ่ายขึ้นมาได้

สำหรับฟิลิปปินส์แล้ว กรณีพิพาทที่เกิดขึ้นมาคราวนี้ เท่ากับว่ารัฐบาลของประเทศนี้ได้รับโอกาสในการสร้างแบบแผนอย่างใหม่ เพื่อใช้รับมือกับการที่จีนรุกล้ำเข้าสู่ดินแดนที่เกิดการพิพาทกันอยู่ แบบแผนดังกล่าวนี้อาจจะกลายเป็นโมเดลหนึ่งสำหรับให้บรรดาเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหลายได้เลือกนำไปประยุกต์ใช้ต่อไป ทั้งนี้ แบบแผนดังกล่าวนี้ต้องตั้งอยู่บนสมมุติฐานที่ว่าสถานการณ์ยังไม่ได้ไต่ระดับความตึงเครียดขึ้นไปจนกระทั่งกลายเป็นสงครามยิงต่อสู้กันแล้ว เพราะถ้าหากการศึกระเบิดขึ้นแล้ว ชาติผู้อ้างกรรมสิทธิ์ที่มีฐานะอ่อนด้อยกว่า ย่อมไม่อาจต้านทานแสนยานุภาพที่เหนือชั้นของชาติที่ใหญ่กว่า และรังแต่จะถูกชาติใหญ่ขับไสออกไปเท่านั้น

จอร์จ อมูราโอ เป็นอดีตนักหนังสือพิมพ์ในมะนิลา จนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้จึงได้ไปทำงานให้แก่ เซาท์อิสต์ เอเชียน เพรส อะไลอันซ์ (Southeast Asian Press Alliance) เวลานี้เขาทำงานอยู่ที่วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล

กำลังโหลดความคิดเห็น