xs
xsm
sm
md
lg

จีน‘วัดใจ’ฟิลิปปินส์กรณีพิพาททะเลจีนใต้ (ตอนแรก)

เผยแพร่:   โดย: จอร์จ อมูราโอ

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

China tests the will of the Philippines
By George Amurao
19/04/2012

การประจันหน้ากันระหว่างฟิลิปปินส์กับจีนที่บริเวณสันดอน “สคาร์โบโร โชล” ในทะเลจีนใต้ อาจจะถึงขั้นนำไปสู่ช่วงเวลาแห่งการตัดสินความเป็นความตายในเชิงยุทธศาสตร์ก็เป็นได้ สิ่งที่จะต้องเฝ้าติดตามกันอย่างใกล้ชิดก็คือ รัฐบาลฟิลิปปินส์ ซึ่งกำลังพยายามผสมผสานทั้งทักษะความเชี่ยวชาญทางการทูตและความเคลื่อนไหวทางการทหาร จะสามารถยืนหยัดอย่างมั่นคงเพื่อคัดค้านการที่จีนบุกรุกล่วงล้ำเข้ามาในดินแดนของตนได้หรือไม่?

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนแรก *

“เดวิด” กำลังเผชิญหน้า “ยักษ์โกไลแอต” ณ สันดอนเล็กๆ ที่มีแต่ก้อนหิน ปะการัง และผืนทราย บริเวณนอกชายฝั่งด้านตะวันตกของเกาะลูซอน เกาะที่ใหญ่ที่สุดในฟิลิปปินส์ ตั้งแต่เมื่อตอนต้นเดือนเมษายนนี้ ยักษ์ใหญ่ในที่นี้คือ จีน ขณะที่ฟิลิปปินส์คือหนุ่มละอ่อนเดวิด และการประจันหน้ากันเกิดขึ้นในบริเวณ สคาร์โบโร โชล (Scarborough Shoal) สันดอนในทะเลจีนใต้ ที่มีรูปร่างคล้ายๆ เกาะรูปวงแหวนของหินปะการัง (นั่นคือมี “ลากูน” หรือบึงน้ำเค็มอยู่ตอนใน -ผู้แปล) โดยเกิดจาการเกาะตัวทับถมกันของปะการัง, หิน, และสันดอนทราย (ตามข้อมูลของวิกิพีเดีย สคาร์โบโร โชล มีความยาวโดยรอบประมาณ 55 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ราวๆ 150 ตารางกิโลเมตร –ผู้แปล)

การประจันหน้าคราวนี้สืบเนื่องมาจาก เจ้าหน้าที่สังเกตการณ์ของ ระบบเฝ้าระวังชายฝั่งแห่งชาติ (National Coast Watch System กลไกกลางที่ประสานกระทรวงทบวงกรมต่างๆ ซึ่งทำหน้าที่ดูแลรักษาชายฝั่งและท้องทะเลของฟิลิปปินส์ -ผู้แปล) ในเกาะลูซอน รายงานว่า ช่วงเวลา 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้พบเห็นและเฝ้าระวังหมู่เรือประมงจีนที่ปรากฏตัวขึ้นในบริเวณดังกล่าว ซึ่งทางรัฐบาลฟิลิปปินส์ประกาศอ้างกรรมสิทธิ์ในฐานะเป็นดินแดนที่อยู่ภายในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ (exclusive economic zone หรือ EEZ) 200 ไมล์ทะเลของตน ต่อมาเครื่องบินของกองทัพเรือฟิลิปปินส์ลำหนึ่งที่ออกตรวจการณ์ ได้รายงานยืนยันในวันที่ 8 เมษายนว่า มีเรือจีน 8 ลำแล่นอยู่ในลากูนของ สคาร์โบโร โชล จริงๆ

กองทัพเรือฟิลิปปินส์ได้จัดส่งเรือธงลำใหม่ล่าสุดของตน ซึ่งเป็นเรือฟริเกตชื่อ บีอาร์พี เกรโกริโอ เดล ปิลาร์ (BRP Gregorio del Pilar) ออกไปเผชิญหน้ากับหมู่เรือที่เข้าใจกันว่าน่าจะเป็นเรือประมงจีนที่บุกรุกล้ำแดนเข้ามาเหล่านี้ ครั้นเมื่อไปถึงสันดอนแห่งนั้น เรือรบของฟิลิปปินส์ได้ส่งคณะเจ้าหน้าที่ขึ้นไปตรวจสอบบนเรือประมง และพบเห็นหลักฐานต่างๆ ซึ่งแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า บนเรือพวกนี้มีทั้งปะการัง, หอยกาบขนาดยักษ์, และปลาฉลามเป็นๆ ทั้งหมดเหล่านี้ดูเหมือนว่าจับและงมขึ้นมาจากเขตน่านน้ำของฟิลิปปินส์นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะมีการเข้าจับกุมชาวประมงเหล่านี้ ปรากฏว่าเรือตรวจการณ์ 2 ลำจากสำนักงานกิจการบังคับใช้กฎหมายด้านการประมง (Fisheries Law Enforcement) ซึ่งเป็นหน่วยงานตรวจตราท้องทะเลของจีน ได้เดินทางมาถึงที่เกิดเหตุ และตรงเข้ากั้นกลางระหว่างเรือฟริเกตฟิลิปปินส์กับหมู่เรือประมงเหล่านั้น

ภายหลังได้รับทราบสถานการณ์ที่เกิดขึ้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ อัลเบอร์โต เดล โรซาริโอ (Alberto del Rosario) ของฟิลิปปินส์ ก็ได้เรียกตัว หม่า เค่อชิง (Ma Keqing) เอกอัครราชทูตจีนประจำฟิลิปปินส์มาพบ และยื่นหนังสือประท้วงทางการทูต โดยกล่าวหาว่าจีนทำการล่วงล้ำน่านน้ำของฟิลิปปินส์ ปรากฎว่าเอกอัครราชทูตหม่าได้กล่าวหาตอบโต้ฟิลิปปินส์กลับ ว่าบุกรุกดินแดนของจีน พร้อมกับเรียกร้องให้เรือรบฟิลิปปินส์ถอยออกมาจากสันดอนแห่งนั้น

สคาร์โบโร โชล ก็เหมือนๆ กับหมู่เกาะสแปรตลีย์ (Spratlys Islands) ที่อยู่ต่ำลงมาทางใต้ นั่นคือเป็นจุดกลัดหนองที่พร้อมปะทุกลายเป็นความรุนแรงในระดับภูมิภาคขึ้นมา สืบเนื่องจากเป็นดินแดนที่มีหลายชาติพิพาทอ้างกรรมสิทธิ์ทับซ้อนกัน แต่ที่แตกต่างไปจากหมู่เกาะสแปรตลีย์ ก็คือ มีเพียง ฟิลิปปินส์ กับ จีน เท่านั้น ที่ประกาศอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนสันดอนแห่งนี้ ซึ่งพวกนักวิเคราะห์ทางด้านพลังงานเชื่อว่า อาจจะมีก๊าซธรรมชาติอย่างอุดมสมบูรณ์ (ถือเป็นตลกร้ายอยู่เหมือนกัน ที่ทางฟิลิปปินส์ตั้งชื่อสันดอนแห่งนี้ว่า ปานาตัก โชล Panatag Shoal ซึ่งแปลว่า “สันดอนเงียบสงบ”)

เรือประมงของจีนมักเข้ามาลากอวนจับสัตว์น้ำอยู่ในบริเวณนี้อยู่เสมอ และก็ต้องเล่นไล่จับเล่นเอาเถิดเจ้าล่อกับหน่วยยามฝั่งฟิลิปปินส์เป็นประจำ จีนยังมักพยายามทำเครื่องหมายต่างๆ เอาไว้บนประดาก้อนหินเปล่าเปลือยไร้พืชปกคลุมซึ่งโผล่ขึ้นมาจากพื้นน้ำแถวๆ นี้ ครั้นเมื่อเรือรบฟิลิปปินส์พบเห็นก็จะใช้ปืนเรือยิงทำลายไป สำหรับการประจันหน้ากันที่กำลังดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่องจนถึงขณะเขียนข้อเขียนชิ้นนี้ ไม่ใช่เป็นเพียงเหตุการณ์เผชิญหน้าครั้งล่าสุดเท่านั้น หากยังเป็นครั้งที่กลายเป็นข่าวเอิกเกริกใหญ่โตที่สุด ทำนองเดียวกับความตึงเครียดที่เกิดขึ้นเร็วๆ นี้ในบริเวณหมู่เกาะสแปรตลีย์ที่หลายๆ ชาติพิพาทอยู่กับแดนมังกร

ในเวลาเดียวกับที่ทางด้านหน้าฉาก ทั้งสองฝ่ายต่างกล่าวหาตอบโต้กันและต่างเรียกร้องให้อีกฝ่ายหนึ่งถอนตัวออกไป ก็ได้มีการใช้ประโยชน์จากช่องทางติดต่อกันอย่างเงียบๆ หลังบ้าน เพื่อหาทางปลดชนวนสถานการณ์อันทำท่าปะทุลุกลามคราวนี้ ถึงแม้เรือฟริเกตของฟิลิปปินส์มีกำลังยิงเหนือกว่าอย่างชนิดเพียงพอที่จะจัดการกับเรือตรวจการณ์ของจีนทั้ง 2 ลำได้ไม่ยาก (ตลอดเรือตรวจการณ์ลำที่สามซึ่งได้เข้ามาร่วมวงด้วยในเวลาต่อมา) แต่ถ้าหากเกิดการยิงต่อสู้กันก็มีแต่จะทำให้จีนเร่งส่งกำลังหนุนมาจากฐานทัพทางทหารของตนในเกาะไห่หนาน (ไหหลำ) ซึ่งอยู่ห่างออกไปไม่มากนัก และสำแดงแสนยานุภาพทางนาวีอันเหนือล้ำของแดนมังกร

ก่อนหน้านั้นแต่อยู่ในสัปดาห์เดียวกันนั้นเอง ระหว่างการประชุมหารือครั้งหนึ่งซึ่งจัดขึ้นที่ทำเนียบมาลากาญัง ประธานาธิบดีเบนิญโญ อากีโน ได้กล่าวย้ำนโยบาย “ขาวต่อขาว, เทาต่อเทา” ของเขา ซึ่งมีความหมายว่า สำหรับเรือ “ขาว” หรือ เรือพลเรือน (รวมทั้งเรือของส่วนราชการฝ่ายพลเรือน เช่น ตำรวจ, หน่วยยามฝั่ง –ผู้แปล) ฟิลิปปินส์ก็จะต้องใช้เรือพลเรือนเข้าไปจัดการรับมือ ขณะที่ เรือ “เทา” หรือเรือรบของฝ่ายทหาร จะเข้าประจันหน้าแต่เฉพาะกับเรือต่างชาติที่เป็นเรือรบด้วยกันเท่านั้น

เมื่อถึงวันที่ 12 เมษายน สถานการณ์อันตึงเครียดคราวนี้ทำท่าว่ากำลังอยู่ในขั้นตอนของการลดระดับความรุนแรงลงมาแล้ว โดยที่ฟิลิปปินส์ได้ส่ง เรือ “บีอาร์พี เอดซา” (BRP EDSA) ซึ่งเป็นเรือปฏิบัติการค้นหาและช่วยเหลือของหน่วยยามฝั่งของตน เข้าไปแทนที่เรือรบ บีพีอาร์ เกรโกริโอ เดล ปิลาร์ จากนั้นเรือฟริเกตลำนี้ก็ถอยกลับมายังสถานีนาวี โปโร พอยต์ (Poro Point) ในเมือง ลา อูนีออง (La Union) ทางชายฝั่งด้านตะวันตกของเกาะลูซอน เพื่อการเติมเชื้อเพลิงและเสริมกำลัง

ในวันต่อมา เจ้าหน้าที่ฟิลิปปินส์แถลงว่า เรือตรวจการณ์จีน 2 ลำ และเรือประมง 8 ลำ ก็ได้ผละออกไปจากบริเวณสันดอนดังกล่าวแล้ว ถึงแม้ฝ่ายตากาล็อกไม่ได้พยายามเข้าขัดขวางเพื่อยึดทรัพยากรทางทะเลบนเรือประมงเหล่านี้ และก็ไม่ได้มีการจับกุมตัวชาวประมงจีนอย่างไรทั้งสิ้น แต่รัฐบาลฟิลิปปินส์ได้ออกมากล่าวย้ำว่า ตนไม่ได้อ่อนข้อในการประจันหน้ากับฝ่ายจีนคราวนี้ ทั้งนี้ เมื่อถึงตอนนั้น ก็ยังเหลือเรือของหน่วยงานรักษาชายฝั่งของแต่ละประเทศเพียงฝ่ายละ 1 ลำเท่านั้น ที่ยังอยู่ตรงบริเวณสันดอนแห่งนี้

อย่างไรก็ดี ภาพสถานการณ์กลับเพิ่มความตึงเครียดขึ้นไปใหม่ในวันที่ 14 เมษายน เมื่อเรือตรวจการณ์ทางทะเลของจีนลำหนึ่งได้แล่นกลับไปที่ สคาร์โบโร โชล อีกคำรบหนึ่ง ทำให้เรือจีนมีจำนวนมากกว่าเรือของหน่วยยามฝั่งฟิลิปปินส์ซึ่งยังคงมีลำเดียวโดดๆ นอกจากนั้นยังมีรายงานว่าเครื่องบินจีนไม่ทราบชนิดไม่ทราบรุ่นลำหนึ่ง ได้บินวนเวียนอยู่ในบริเวณดังกล่าวอีกด้วย ขณะเดียวกันก็มีรายงานระบุว่าเรือตรวจการณ์และเครื่องบินจีนเหล่านี้ ได้พยายามเข้าไปก่อกวนเรือยอชต์ชื่อ เอ็ม/วาย ซารังกานี (M/Y Sarangani) ซึ่งเป็นเรือที่จดทะเบียนเรือในฟิลิปปินส์ และกำลังดำเนินการสำรวจทางโบราณคดีอยู่ในบริเวณใกล้เคียงแถวนั้น

จวบจนกระทั่งถึงวันที่ 19 เมษายน สถานการณ์ก็ยังคงอยู่ในภาวะอับจนไร้ทางออก โดยที่กรณีของเรือยอชต์ เอ็มวาย ซารังกานี ทำให้รัฐบาลฟิลิปปินส์ตัดสินใจยื่นประท้วงทางการทูตต่อจีนอีกครั้งหนึ่ง ปรากฏว่าสถานเอกอัครราชทูตในมะนิลาได้ตอบโต้กลับเช่นเดียวกับคราวแรก ด้วยการออกมาอ้างกรรมสิทธิเหนือซากเรือที่พวกลูกเรือในเรือ เอ็ม/วาย ซารังกานี กำลังทำการสำรวจอยู่ นอกจากนั้นแดนมังกรยังเรียกร้องอีกคำรบหนึ่งให้เรือยามฝั่งฟิลิปปินส์ถอนตัวออกไปจากบริเวณสันดอน

ก่อนหน้านั้นวันหนึ่ง รัฐมนตรีการสื่อสาร ริกกี้ คารันดัง (Ricky Carandang) ได้บอกกับพวกนักข่าวในวันที่ 18 เมษายนว่า รัฐบาลฟิลิปปินส์จะไม่สั่งให้เรือบีอาร์พี เอดซา ถอยออกมาจากสันดอนแห่งนั้น พร้อมกับย้ำว่าจีนต่างหากที่ควรจะต้องเป็นฝ่ายถอยออกไป มีนักวิเคราะห์บางรายให้ความเห็นว่า การประจันหน้ากันคราวนี้อาจจะถึงขั้นนำไปสู่ช่วงเวลาแห่งการตัดสินความเป็นความตายในเชิงยุทธศาสตร์ก็เป็นได้ สิ่งที่จะต้องเฝ้าติดตามกันอย่างใกล้ชิดก็คือ รัฐบาลฟิลิปปินส์ ซึ่งพยายามผสมผสานทั้งทักษะความชำนาญทางการทูตและความเคลื่อนไหวทางการทหาร จะสามารถยืนหยัดอย่างมั่นคงเพื่อคัดค้านการที่จีนบุกรุกล่วงล้ำเข้ามาในดินแดนของตนได้หรือไม่?

ถ้าหากความตึงเครียดระเบิดออกมากลายเป็นยุทธนาวี เรือรบที่ฟิลิปปินส์สามารถส่งเข้าสู่สมรภูมิได้ ก็คงมีแต่เรือฟริเกต บีอาร์พี เกรโกริโอ เดล ปิลาร์ ซึ่งเดิมเป็นเรือคัตเตอร์ (Cutter คำเรียกขานที่กองกำลังรักษาชายฝั่งสหรัฐฯชอบใช้ โดยหมายถึงเรือฟริเกตนั่นเอง –ผู้แปล) เก่าปลดประจำการของกองกำลังรักษาชายฝั่งสหรัฐฯ ที่เคยออกปฏิบัติการตั้งแต่เมื่อครั้งสงครามเวียดนาม นอกจากนั้นอาจจะมีเรือตรวจการณ์มือสองที่ฟิลิปปินส์ได้รับมาจากอังกฤษและเกาหลีใต้อีกจำนวนหยิบมือหนึ่ง ตลอดจนเรือรบเก่าโบราณกว่านั้นลำอื่นๆ ซึ่งบางลำต่อขึ้นมาตั้งแต่ยุคสงครามโลกครั้งที่สอง กองกำลังทางนาวีเช่นนี้ย่อมไม่มีทางเลยที่จะต้านทานต่อสู้กับกองทัพเรือซึ่งมีการเสริมเขี้ยวเล็บใหม่ๆ มากมายของยักษ์โกไลแอตอย่างจีน

ในเวลาเดียวกัน ทางส่วนของกำลังทางอากาศ กองทัพอากาศฟิลิปปินส์เวลานี้ในทางเป็นจริงไม่ได้มีเครื่องบินขับไล่ไอพ่นสมัยใหม่ใดๆ ที่จะทำให้ตนเองครองความเป็นเจ้าเวหาได้ ดังนั้น จึงยิ่งไม่ต้องพูดถึงการเผชิญหน้าสู้รบกับเครื่องบินขับไล่ของแดนมังกร ที่สามารถบินมาจากฐานทัพต่างๆ บนเกาะไหหลำที่อยู่ใกล้ๆ ได้อย่างไม่ยากเย็นอะไรเลย

จอร์จ อมูราโอ เป็นอดีตนักหนังสือพิมพ์ในมะนิลา จนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้จึงได้ไปทำงานให้แก่ เซาท์อิสต์ เอเชียน เพรส อะไลอันซ์ (Southeast Asian Press Alliance) เวลานี้เขาทำงานอยู่ที่วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล
(อ่านต่อตอน 2 ซึ่งเป็นตอนจบ)
กำลังโหลดความคิดเห็น