xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ อาเบะเริ่มเยือนพม่า หอบเงินช่วยร่วม $1 พันล้าน บวกข้อเสนอขายโครงข่ายไฟฟ้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายกรัฐมนตรี ชินโสะ อาเบะ ของญี่ปุ่น เริ่มการเยือนพม่าเป็นเวลา 3 วันตั้งแต่วันศุกร์ (24พ.ค.)นี้ นอกจากเป็นผู้นำรัฐบาลญี่ปุ่นคนแรกซึ่งมาเยือนพม่าหลังจากห่างหายไป36 ปีแล้ว มีรายงานว่าเขาเตรียมจะมาประกาศให้ความช่วยเหลือเป็นมูลค่าเกือบๆ 1,000 ล้านดอลลาร์ พร้อมกับข้อเสนอ “ช่วยพัฒนา” โครงสร้างพื้นฐานให้พม่า โดยเฉพาะเรื่องโครงข่ายไฟฟ้าทั่วประเทศ -AFP PHOTO / Yoshikazu TSUNO
.

เอเอฟพี - นายกรัฐมนตรีชินโสะ อาเบะ ของญี่ปุ่น เดินทางไปยังพม่าในวันศุกร์ (24 พ.ค.) นี้ พร้อมกับความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนามูลค่าเกือบๆ 1,000 ล้านดอลลาร์ ตลอดจนข้อเสนอสร้างเครือข่ายไฟฟ้าทั่วดินแดนพม่า ด้วยความหวังที่จะเข้ายึดฉวยโอกาสงามๆ ท่ามกลางกระแสการพัฒนาอย่างรวดเร็วเร่งด่วนของประเทศนี้

อาเบะ เดินตามรอยเท้าของผู้นำโลกคนอื่นๆ หลายคน ซึ่งได้แห่แหนไปยังรัฐที่เคยถูกสังคมรังเกียจแห่งนี้ นับตั้งแต่ที่พม่าได้รับการต้อนรับให้กลับเข้าสู่ประชาคมนานาชาติอีกคำรบหนึ่ง ภายหลังมีการจัดตั้งรัฐบาลแต่เพียงในนามของประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ขึ้นมา

ในการเยือนพม่าครั้งแรกของผู้นำญี่ปุ่นนับจากปี 1977 เป็นต้นมาครั้งนี้ อาเบะ จะรับบทบาทสำคัญในฐานะหัวหน้าเซลส์แมนของบริษัทญี่ปุ่น จำกัด โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการเพิ่มมูลค่าการส่งออกโครงสร้างพื้นฐานเป็น 3 เท่าตัว เพื่อช่วยฟื้นเศรษฐกิจของแดนอาทิตย์อุทัยที่หยุดนิ่งมานาน

ก่อนหน้าการเยือนครั้งนี้ มีการดำเนินการทางการทูตอย่างพิถีพิถัน โดยเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศแดนอาทิตย์อุทัยผู้หนึ่งเผยว่า ญี่ปุ่นต้องการให้ความช่วยเหลือในจังหวะที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในพม่า

“การเยือนครั้งนี้จะแสดงให้เห็นว่า ทั้งภาครัฐ และเอกชนของญี่ปุ่นจะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่สำหรับความพยายามของพม่าในการส่งเสริมประชาธิปไตย ปรับปรุงหลักนิติธรรม สร้างระบบตลาด และการปรองดองแห่งชาติ”

อาเบะ จะใช้เวลาในพม่า 3 วัน โดยหนังสือพิมพ์นิกเกอิ ฉบับวันพฤหัสฯ (23) รายงานว่า เขาจะประกาศความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนามูลค่า 100,000 ล้านเยน (980 ล้านดอลลาร์) ให้แก่พม่า

คณะผู้ติดตามของอาเบะ จะประกอบด้วย ผู้แทนธุรกิจ 40 คน ซึ่งรวมถึงพวกประธานฝ่ายบริหารจากบริษัทชั้นนำหลายแห่ง เช่น บริษัทการค้ายักษ์ใหญ่ทั้ง มิตซูบิชิ, มิตซุย, มารูเบนิ และซูมิโตโม และบริษัทโครงสร้างพื้นฐานอย่างไทเซอิ และเจจีซี ตามรายงานของนิกเกอิ ระหว่างการเยือนของอาเบะ ญี่ปุ่นจะเปิดเผยแผนการพื้นฐานเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานไฟฟ้าในพม่าภายในปี 2030 โดยที่จะมีข้อเสนอในการใช้เทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมซึ่งบริษัทญี่ปุ่น เป็นต้นว่า มิตซูบิชิ เฮฟวี อินดัสทรีส์, ฮิตาชิ และโตชิบา มีความเชี่ยวชาญอย่างมาก

สัปดาห์ที่แล้วนี้เอง อาเบะ แถลงว่า เขาต้องการให้ญี่ปุ่นทำยอดขายจากโครงสร้างพื้นฐานให้ได้ 30 ล้านล้านเยน ภายในปี 2020 และให้สัญญาว่าเขาจะเดินทางไปทั่วโลกเพื่อเสนอขาย

พม่านับเป็นเป้าหมายที่ชัดเจนสำหรับอาเบะ เนื่องจากประเทศแห่งนี้กำลังต้องการการลงทุนเพื่อกระตุ้นการเติบโต ตลอดจนทดแทนโครงสร้างพื้นฐานที่ชำรุดทรุดโทรม ขณะที่ญี่ปุ่นซึ่งต้องพึ่งพิงการส่งออกอย่างมาก ก็กำลังตามล่าหาโอกาสในประเทศที่อุดมด้วยทรัพยากรธรรมอย่างพม่า เพื่อชดเชยการเติบโตชะลอตัวในบ้านตนเอง

เจ้าหน้าที่คนเดิมของกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นชี้ด้วยว่า “ช่วง 2-3 ปีข้างหน้าไม่ได้สำคัญต่อประเทศอาเซียนเท่านั้น แต่ยังสำคัญสำหรับความสัมพันธ์ทวิภาคีของเรา (ระหว่างญี่ปุ่นกับพม่า) อีกด้วย” เจ้าหน้าที่แจกแจงว่า พม่านั้นจะรับบทประธานอาเซียนในปีหน้า ซึ่งทำให้ต้องทำภารกิจหลายอย่างในการปฏิรูปการเมืองให้ลุล่วง

“ข้อความสำคัญสำหรับพม่าคือ คณะรัฐบาลของอาเบะ คิดว่า ประเทศอาเซียนมีความสำคัญอย่างมากต่อญี่ปุ่น และพม่าเป็นประเทศเดียวที่รัฐมนตรีต่างประเทศ หรือนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นยังไม่เคยไปเยือน”

นอกจากการประชุมสุดยอดกับประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ในวันอาทิตย์ (26) แล้ว อาเบะ ยังมีกำหนดที่จะพบกับอองซานซูจี สัญลักษณ์แห่งประชาธิปไตย และผู้นำฝ่ายค้านที่เดินทางเยือนญี่ปุ่นในเดือนที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ญี่ปุ่นรักษาความสัมพันธ์กับพม่ามาโดยตลอดช่วงที่ประเทศนี้ปกครองด้วยระบอบเผด็จการทหารซึ่งสิ้นสุดลงในปี 2011 จุดยืนเช่นนี้แตกต่างจากพวกประเทศตะวันตก เนื่องจากแดนอาทิตย์อุทัยมองว่า การใช้ไม้แข็งจะยิ่งผลักดันให้พม่าเข้าหาจีนมากขึ้น

สำหรับทางด้านพม่านั้น เจ้าหน้าที่ในสำนักประธานาธิบดีพม่าที่ไม่ประสงค์ออกนามผู้หนึ่ง บอกว่า พม่าต้องการได้รับความช่วยเหลือที่เป็นรูปธรรมจากญี่ปุ่นอย่างเร่งด่วน โดยที่ญี่ปุ่นสามารถให้ความช่วยเหลือแก่พม่าได้มากมาย ทั้งในด้านเทคโนโลยี การธนาคาร ตลาดเงิน การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การค้า การลงทุน เกษตรกรรม โรงงาน การปลดหนี้ การให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติม และโครงสร้างพื้นฐาน

อันที่จริง ญี่ปุ่นกับพม่า ยุคเต็ง เส่ง ได้เดินหน้าเรื่องความร่วมมือกันไปได้ระยะหนึ่งแล้ว

เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว สองชาติตกลงจะเริ่มโครงการนิคมอุตสาหกรรมขนาดยักษ์ใกล้ๆ นครย่างกุ้งในปีนี้

ต่อมา ในเดือนมกราคม ทาโร อาโสะ รัฐมนตรีคลังคนใหม่ของแดนอาทิตย์อุทัยประกาศว่า ญี่ปุ่นจะทำตามสัญญาที่ได้ให้ไว้ตั้งแต่รัฐบาลชุดก่อน ในการยกหนี้สินให้แก่พม่าเป็นจำนวน 300,000 ล้านเยน (3,400 ล้านดอลลาร์) จากหนี้สินทั้งหมดที่พม่าติดค้างอยู่ 500,000 ล้านเยน ยิ่งกว่านั้นยังจะขยายวงเงินกู้ใหม่ให้ด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น