xs
xsm
sm
md
lg

ตามไปดู... “โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อภัยชนม์ วัชรสินธุ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ซีพีเอฟ ในฐานะกรรมการและรองเลขาธิการมูลนิธิพัฒนาชีวิตชนบทฯ
การสร้างโปรตีนจากไข่ไก่ ผ่านโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน ที่มูลนิธิพัฒนาชีวิตชนบท สนับสนุนโดยเครือเจริญโภคภัณฑ์ และบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ได้น้อมรับมาดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมผ่านโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน นับตั้งแต่ปี 2532 เป็นต้นมา วันนี้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมแล้วใน 420 โรงเรียนทั่วประเทศไทย ช่วยให้เด็กนักเรียนกว่า 84,000 คนมีภาวะโภชนาการที่ดีขึ้น จากการบริโภคไข่ไก่ที่ได้จากฝีมือการเลี้ยงของพวกเขาเอง

ตลอดระยะเวลาเวลากว่า 23 ปี กับการผลักดันให้เด็กไทยพ้นจากภาวะทุพโภชนาการ มูลนิธิพัฒนาชีวิตชนบทฯ และซีพีเอฟ ได้รับความร่วมมือจากหลากหลายหน่วยงานที่มีส่วนร่วมพัฒนาคุณภาพชีวิตของเยาวชนไทย อนาคตของชาติที่เปรียบเสมือนต้นกล้าที่ควรได้รับการพัฒนาเพื่อการเจริญเติบโตในทุกด้าน โดยเฉพาะด้านโภชนาการเพื่อให้พวกเขาเหล่านั้นมีพลานามัยที่ดี มีร่างกายที่แข็งแรง อันจะส่งผลต่อพัฒนาการทางสมองที่ดีตามไปด้วย

หนึ่งในองค์กรที่เป็นพันธมิตรร่วมสร้างกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อเยาวชนไทยมาโดยตลอด คือ หอการค้าญี่ปุ่น - กรุงเทพฯ หรือ JCC ที่ร่วมดำเนินโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนเพื่อการศึกษาแห่งศตวรรษที่ 21 หอการค้าญี่ปุ่น - กรุงเทพฯ มาตั้งแต่ปีพ.ศ.2543 ระยะเวลาร่วม 13 ปีที่มาแล้วที่ JCC มีส่วนร่วมพัฒนาเด็กไทยใน 85 โรงเรียน
โรงเรือนที่มีการเลี้ยงไก่ที่มีคุณภาพ
นายอภัยชนม์ วัชรสินธุ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ซีพีเอฟ ในฐานะกรรมการและรองเลขาธิการมูลนิธิพัฒนาชีวิตชนบทฯ เล่าว่า การร่วมสนับสนุนโครงการนี้ของ JCC มีจุดเริ่มต้นมาจากการมีเจตนารมณ์ที่จะร่วมเฉลิมฉลองในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 72 พรรษา จึงได้ประสานความร่วมมือกับ มูลนิธิพัฒนาชีวิตชนบท ซีพีเอฟ และกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อคัดเลือกโรงเรียนสำหรับดำเนินโครงการเลี้ยงไก่ไข่ ในโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ด้วยเงินงบประมาณจาก JCC ตั้งแต่ปี 2543 มีกรอบระยะเวลา 10 ปี

“ในปี 2548 ได้ขยายผลการดำเนินการร่วมกับสำนักงานโครงการสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อดำเนินการเพิ่มเติมในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) โดยตั้งเป้าหมายขยายโครงการปีละ 5-8 โรงเรียน และสนับสนุนงบประมาณดำเนินการโรงเรียนละ 100,000-200,000 บาท ถึงวันนี้มีเด็กนักเรียนได้รับประโยชน์กว่า 24,000 คน ขณะเดียวกันโรงเรียนในโครงการก็มีเงินกองทุนจากการดำเนินโครงการกว่า 8 ล้านบาท ที่สามารถนำมาบริหารจัดการโครงการได้อย่างต่อเนื่อง” นายอภัยชนม์ กล่าว
แปลงผัก สำหรับอาหารกลางวันของเด็ก
ล่าสุดซีพีเอฟและมูลนิธิพัฒนาชีวิตชนบท พร้อมคณะจาก JCC ร่วมกันขึ้นเหนือมุ่งหน้าสู่จังหวัดเชียงรายเพื่อมอบทุนสนับสนุนโครงการเลี้ยงไก่ไข่ฯ ปีที่ 13 ให้กับ 8 โรงเรียน ที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการพร้อมจัดฝึกอบรมปฐมนิเทศให้กับบุคลากรในโครงการฯ เพื่อให้มีทักษะพื้นฐานในการเลี้ยงไก่ไข่ภายใต้มาตรฐานที่ถูกต้องเช่นเดียวกับบริษัท ที่จะกลายเป็นความรู้ที่นำไปต่อยอดสู่การเลี้ยงไก่ไข่ในโรงเรียนที่ถูกวิธีก ส่งผลต่อผลผลิตไข่ไก่ที่ได้คุณภาพ เมื่อมีความรู้ มีทักษะก็จะเกิดเป็นการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน พร้อมเปิดโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน ที่โรงเรียนบ้านดงมะดะ อำเภอแม่ลาว จังหวัดเชียงราย

“ครูถือว่าเป็นปัจจัยหลักของความสำเร็จ เพราะเมื่อโรงเรียนใดเข้าร่วมโครงการเลี้ยงไก่ไข่ฯ จะต้องส่งครูเข้าอบรมอย่างน้อย 3-5 คน ได้แก่ ผู้อำนวยการฯ ครูผู้ควบคุมการเลี้ยงไก่ไข่ ครูผู้ดูแลอาหารกลางวันนักเรียน ครูผู้ดูแลสหกรณ์ และครูที่เชื่อมโยงผลผลิตสู่ชุมชน เพื่อต้องการให้โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการได้สร้างประโยชน์สูงสุดให้แก่นักเรียนและชุมชน ซึ่งโรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่ส่งเสริมเยาวชนไทยให้มีสุขภาพที่ดีจากโปรตีนไข่ไก่ เปิดโลกการเรียนรู้จากห้องเรียนอาชีพ สู่การสร้างอาชีพอย่างยั่งยืนในอนาคต ปัจจุบันโครงการได้ถูกจัดให้เป็นหนึ่งในรายวิชาการงานอาชีพและเทคโนโลยี ที่นักเรียนชั้นประถม 4-6 ต้องเรียน” นายอภัยชนม์ กล่าว
มร.คัทสุยะ นิโนชิตะ ประธานคณะกรรมการฝ่ายความช่วยเหลือสังคม หอการค้าญี่ปุ่น – กรุงเทพฯ
มร.คัทสุยะ นิโนชิตะ ประธานคณะกรรมการฝ่ายความช่วยเหลือสังคม หอการค้าญี่ปุ่น - กรุงเทพฯ กล่าวถึงการเข้ามามีส่วนในการสนับสนุนโครงการฯว่า เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมเพื่อสังคมของ JCC ซึ่งมีสมาชิกเป็นบริษัทญี่ปุ่นและบริษัทร่วมทุนร่วม 1,400 บริษัท โดยแต่ละปี JCC จะจัดสรรเงินเกือบ 10 ล้านบาท หรือประมาณ 25% ของค่าบำรุงจากสมาชิก เพื่อนำมาใช้ในกิจกรรมสาธารณกุศลต่างๆ สำหรับโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันนี้ ถือเป็นกิจกรรมที่จะช่วยให้นักเรียนในชนบทได้รับประโยชน์โดยตรงและยั่งยืน

"ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า โครงการนี้จะช่วยให้เด็กนักเรียนทุกคนมีสุขภาพที่ดีด้วยการบริโภคไข่ไก่ที่เป็นโปรตีนคุณภาพ และเด็กๆ ยังได้มีโอกาสเห็นและเข้าใจกระบวนการการเลี้ยงไก่จากการปฏิบัติจริง เพราะในแต่ละวันที่ต้องเข้ามาเลี้ยงไก่ไข่ จะต้องมีการวางแผนการเลี้ยงและแบ่งหน้าที่กันอย่างชัดเจน จากนั้นก็จะหมุนเวียนกันทำหน้าที่ต่างๆ จึงเกิดเป็นการเรียนรู้อย่างบูรณาการ” มร.คัทสุยะ กล่าวทิ้งท้าย

วันนี้ความสำเร็จของโครงการเลี้ยงไก่ไข่ ในโรงเรียนร่วม 420 แห่งทั่วประเทศ เป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ถึงความตั้งใจจริงของผู้ใหญ่ใจดี ที่หวังเพียงให้ไข่ไก่ฟองเล็กๆ ที่นักเรียนผลิตได้จากมือของพวกเขาเอง กลายเป็นแหล่งโปรตีนเพื่ออาหารกลางวันที่สำคัญ และเมื่อการจัดการเข้มแข็งขึ้นจะกลายเป็นแหล่งอาหารที่ยั่งยืนให้กับชุมชนต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น