เอเอฟพี - รัฐมนตรีต่างประเทศสหภาพยุโรปเห็นชอบวานนี้ (22) ที่จะยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรต่อพม่าทั้งด้านการค้า เศรษฐกิจ และบุคคล พร้อมชื่นชมยินดีกับบทใหม่ต่อประเทศที่ครั้งหนึ่งไม่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ
“ในการตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และในความคาดหวังที่พวกเขาจะดำเนินต่อไป สภา (รัฐมนตรี) ได้ตัดสินใจที่จะยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทั้งหมด ยกเว้นเพียงการค้าอาวุธ” คำแถลงฉบับหนึ่งระบุและว่า สหภาพยุโรปประสงค์ที่จะเปิดบทใหม่ในความสัมพันธ์แก่พม่า และสร้างความเป็นหุ้นส่วนที่ยั่งยืน
สหภาพยุโรปเริ่มผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรต่อพม่าตั้งแต่เมื่อปีก่อน หลังทหารถ่ายโอนอำนาจให้แก่พลเรือน และดำเนินการปฏิรูปเศรษฐกิจประเทศ แต่เตือนว่าพม่ายังมีความท้าทายอีกหลายอย่างที่ต้องจัดการ โดยเฉพาะการยุติการสู้รบในรัฐกะฉิ่น และปรับปรุงชะตากรรมของชาวโรฮิงญา
ฮิวแมนไรท์วอชต์ ที่มีสำนักงานในนิวยอร์กระบุว่า พม่าได้ดำเนินการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวมุสลิมโรฮิงญา โดยอ้างถึงหลักฐานหลุมฝังศพจำนวนมาก และบังคับให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบหลายหมื่นคนต้องย้ายที่อยู่
ฟิล โรเบิร์ตสัน หัวหน้าฮิวแมนไรท์วอชต์ ประจำภูมิภาคเอเชีย กล่าวว่า การยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรเกิดขึ้นก่อนเวลาที่ควร และเป็นสิ่งที่น่าเศร้า พร้อมเตือนว่าความเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นการสูญเสียอิทธิพลที่มีต่อพม่า
คำแถลงระบุว่า สหภาพยุโรปจะดูความเป็นไปได้ในข้อตกลงการลงทุนทวิภาคี รวมทั้งความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาที่มากขึ้นเพื่อช่วยเหลือเศรษฐกิจของพม่า และเพื่อช่วยพม่าจัดการกับความรุนแรงระหว่างชุมชน สหภาพยุโรปยังได้ศึกษาความเป็นไปได้ของการให้ความช่วยเหลือปฏิรูประบบตำรวจ ร่วมกับรัฐสภาพม่า
ในเดือน เม.ย.2555 รัฐมนตรีต่างประเทศสหภาพยุโรปได้เห็นชอบที่จะระงับมาตรการคว่ำบาตรเป็นเวลา 1 ปี ต่อบุคคล 500 รายชื่อ และบริษัทมากกว่า 800 แห่ง เพื่อส่งเสริมกระบวนการปฏิรูปที่ในเดือนเดียวกันนั้น นางอองซานซูจีได้รับการเลือกตั้งเข้าสู่สภา
ท่ามกลางมาตรการคว่ำบาตร ประชาชนหลายร้อยคนถูกห้ามเดินทาง และอายัดทรัพย์ ขณะที่ด้านเศรษฐกิจนั้น สหภาพยุโรปได้ห้ามลงทุน และห้ามนำเข้าไม้ซุง โลหะ และอัญมณีจากพม่า
ระหว่างการเยือนกรุงบรัสเซลล์ เมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีเต็งเส่ง ได้เรียกร้องให้สหภาพยุโรปยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรต่อพม่าโดยกล่าวว่า พม่าเป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดในโลก ซึ่งเต็งเส่งได้รับคำมั่นเกี่ยวกับความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจจากสหภาพยุโรป ควบคู่ไปกับการเรียกร้องให้พม่าคุ้มครองชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศ
นับตั้งแต่เต็งเส่งขึ้นเป็นประธานาธิบดีในเดือน มี.ค. 2554 นักโทษการเมืองหลายร้อยคนได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระ และมีการจัดการเลือกตั้ง ขณะที่ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาจากสหภาพยุโรป เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวที่ประมาณ 150 ล้านยูโร หรือประมาณ 195 ล้านดอลลาร์ ในช่วงปี 2555-2556.